กัปตันลอฟตัส ตัวการผู้ทำให้ไทยยกเลิก “โครงการขุดคอคอดกระ” ในสมัยรัชกาลที่ 5
แผนการขุด “คลองกระ” ที่เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคง สยามยอมยกเกาะสอง ปากแม่น้ำปากจั่น แลกกับการซื้อเวลาจากอังกฤษ แต่ทีมงานเหนือเมฆของฝรั่งเศสมาพร้อมกับชื่อเสียงของวิศวกรเอกผู้ขุดคลองสุเอซ รัฐบาลสยามจึงเริ่มมีทัศนคติที่ดีและไว้วางใจบริษัทฝรั่งเศส โดยรัชกาลที่ 5 มีดำรัสให้ทีมงานฝรั่งเศสเริ่มการสำรวจ “คอคอดกระ” เสียก่อน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ต่าง ๆ พร้อมส่งผู้แทนรัฐบาลสยามไปสำรวจและประเมินร่วมกับทีมงานฝรั่งเศสด้วย
อ่าน “‘คลองกระ’ (คอคอดกระ) เรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคงสมัย ร. 4 ไฉนเปลี่ยนใจสมัย ร.5”(คลิก)
กัปตันลอฟตัส ตัวการยับยั้ง “คลองกระ”
การส่งผู้แทนของรัฐบาลสยามที่เป็นชาวยุโรปไปกับคณะของคนฝรั่งเศส เป็นสิ่งที่ทีมงานฝรั่งเศสกลืนไม่เข้าคายไม่ออก มันเหมือนการส่งสายลับฝ่ายตรงข้ามไปกับคู่กรณีอย่างมีเจตนา และไม่เป็นผลดีต่อแผนการของฝรั่งเศสในระยะยาวเลย
ตัวแทนของฝ่ายไทยผู้นี้มีนามว่า กัปตันลอฟตัส ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและงานวิศวกรรม รับราชการอยู่กับรัฐบาลสยามมานานตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 แต่การเป็นคนอังกฤษย่อมเป็นหอกข้างแคร่สำหรับชาวฝรั่งเศสอย่างช่วยไม่ได้ และทำให้ภารกิจของชาวฝรั่งเศสไม่ใช่ความลับอีกต่อไป
ใครคือกัปตันลอฟตัส?นาวาเอก อัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส (Major Alfred J. Loftus) (ค.ศ. 1834-99) เป็นนายทหารเรือชาวอังกฤษโดยสัญชาติ ท่านได้รับการว่าจ้างให้ทำแผนที่ทางทะเลฉบับแรกให้รัฐบาลสยาม เมื่อ พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1871) ภายใต้บังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ต่อมาท่านก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จประพาสอินเดีย (ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2414-16 มีนาคม 2415 - ผู้เขียน) เมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระชนมพรรษาเพียง 19 พรรษา เป็นผู้ชำนาญการสำรวจทะเลและแม่น้ำของสยาม และเป็นหัวหน้าสำนักงานแผนที่ทางทะเล ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระนิเทศชลธี เจ้ากรมเซอร์เวย์ทางน้ำ สังกัดกรมท่ากลาง เมื่อ พ.ศ. 2429
กัปตันลอฟตัส ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลสยามสำรวจคอคอดกระพร้อมกับคณะวิศวกรฝรั่งเศสที่มีนายเดอลองก์เป็นหัวหน้าทีม ใน พ.ศ. 2423-24 (ค.ศ. 1880-81)
หลังจากลาออกจากราชการไทยท่านก็ยังใช้ชีวิตต่อไปในสยามและได้ก่อตั้งกิจการรถรางเป็นครั้งแรก ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ และเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงมากในกรุงเทพฯ ในช่วงบั้นปลายชีวิตท่านได้เดินทางไปพักผ่อนที่อังกฤษ แต่ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 แต่งตั้งให้เป็นกงสุลสยามประจำเมืองเบอร์มิงแฮมในอังกฤษอีกด้วย
กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ที่รักเมืองไทยมาก เมื่อท่านถึงแก่กรรมคำสั่งสุดท้ายคือขอให้ผู้ประกอบพิธีศพช่วยห่อร่างของท่านด้วยธงชาติไทย (ธงช้าง) ตอนที่นำร่างท่านไปฝังในสุสาน
การที่รัฐบาลสยามวางตัวกัปตันลอฟตัสให้เป็นผู้แทนติดตามไปกับคณะวิศวกรชาวฝรั่งเศส นอกจากจะทำให้ฝ่ายไทยได้ข้อมูลที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่กลุ่มนายทุนแล้ว ยังพิสูจน์ว่าไทยต้องการข้อมูลเบื้องต้นประกอบการพิจารณา ไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับชาติมหาอำนาจอย่างเดียว
การสำรวจเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2425 (ค.ศ. 1882) จนถึงวันที่ 4 เมษายน 2426 (ค.ศ. 1882) (ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันขึ้นปีใหม่ตรงกับ 1 เมษายน แต่ยังเป็น ค.ศ. 1882 – ผู้เขียน) โดยเริ่มสำรวจจากเมืองชุมพรลงไปทางใต้ ได้สำรวจแม่น้ำสวีและแม่น้ำหลังสวนในขั้นแรกจนถึงตำบลที่เรือจะขึ้นไปอีกไม่ได้ แล้วขึ้นช้างเดินป่าต่อไปจนถึงเมืองระนอง จากนั้นลงเรือขึ้นไปทางเหนือตามลำแม่น้ำปากจั่นตลอดถึงเมืองกระบุรี
ปรากฏว่าเส้นทางที่ควรจะเป็นแนวคลองนั้นต้องผ่านไปในหมู่เทือกเขาที่มีความสูงไม่สม่ำเสมอกัน และมีลักษณะคดเคี้ยวมากขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นลูกคลื่นและต้องอ้อมไปมาตัดเป็นเส้นตรงไม่ได้ สรุปได้ว่าเส้นทางของแนวคลองที่จะขุดนั้นต้องลัดเลาะไประหว่างหุบเขาของเทือกเขาเหล่านั้น หากจะตกแต่งแนวคลองให้เป็นเส้นตรงแล้วก็จะพบอุปสรรคยิ่งขึ้น เส้นทางตอนสูงที่สุดสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากถึง 250 เมตร โดยพื้นที่ตามเส้นทางที่จะขุดส่วนมากเป็นหินแข็ง
ส่วนตามแม่น้ำปากจั่นที่คาดว่าเรือใหญ่จะเข้ามาจากมหาสมุทรอินเดียนั้นก็คดเคี้ยวและแคบมาก ทั้งยังเต็มไปด้วยสันดอนทรายและมีหินใต้น้ำอยู่ทั่วไป ในฤดูมรสุมก็มีคลื่นลมแรงและไม่น่าจะปลอดภัยสำหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ สรุปแล้วการขุดคลองในแถบนี้ไม่อาจสำเร็จลงได้โดยง่าย
อนึ่ง คณะนักสำรวจได้กะประมาณการไว้ว่าคลองกระน่าจะมีความยาวประมาณ 111 กิโลเมตร โดยส่วนที่จะต้องขุดคลองใหม่จะมีความยาวเพียง 53 กิโลเมตร ถ้าแผนงานเกิดขึ้นจริง
ผลการสำรวจคอคอดกระที่ตอนแรกน่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทีมงานชาวฝรั่งเศสกลับกลายเป็นการสำรวจร่วมของทีมงานผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศส โดยมี กัปตันลอฟตัส เป็นหัวหอกประเมินบทสรุปเสียเอง ซึ่งดูจะไม่ส่งผลดีต่อความตั้งใจของพวกฝรั่งเศสเอาเลย
นอกจากกัปตันลอฟตัสจะต่อต้านความคิดทางทฤษฎีของวิศวกรฝรั่งเศสว่าคอคอดกระเป็นพื้นที่ทุรกันดารไม่เหมาะต่อการขุดคลองลัดแล้วเขาก็ยังเดินหน้าขัดขวางการรายงานผลลัพธ์ในที่ประชุมองค์กรระหว่างประเทศถึงกรุงลอนดอน เหมือนการขโมยซีนทีมงานฝรั่งเศสซึ่ง ๆ หน้า
โดยในราวกลางปี 2426 (ค.ศ. 1883) กัปตันลอฟตัสได้เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าที่ประชุมอันทรงเกียรติของ ราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Geographical Society of Great Britain) ตัดหน้านายเดอลองก์โดยโต้แย้งว่า คอคอดกระในสยามมีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับพื้นที่เพื่อขุดคลอง เพราะมีเทือกเขาสูงถึง 250 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยากต่อการขุดเจาะและไม่คุ้มทุนที่จะเดินหน้าบุกเบิกพื้นที่ผิดธรรมดาตามวัตถุประสงค์ของฝรั่งเศส
อันว่าราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรนี้ เป็นองค์กรเก่าแก่ของอังกฤษที่ได้รับการเคารพนับถือของนักสำรวจจากทั่วโลกก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2373 (ค.ศ. 1830) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการสำรวจค้นคว้าทางภูมิศาสตร์และวิทยาการ เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงต่อการโน้มน้าวความเชื่อของนักสำรวจโลกที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน
และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บรรดาสมาชิกโดยวิชาชีพนักสำรวจและนักทำแผนที่จะรายงานผลสำรวจของตนให้ทางสมาคมทราบเป็นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ในหมู่ชน รวมถึงการค้นพบครั้งล่าสุด การตั้งทฤษฎีใหม่บางทีก็หมายถึงการสรุปผลสำรวจทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
คนรุ่นเราอาจไม่มีทางล่วงรู้เลยว่า ทฤษฎีของกัปตันลอฟตัสเท็จจริงประการใด แต่หากมองในแง่บวกอาจเป็นความจริงก็ได้ ในกรณีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มันเป็นการยากที่จะแยกสมมุติฐานออกจากข้อเท็จจริงพอ ๆ กับที่จะแยกข้อเท็จจริงออกจากสมมุติฐาน ดังนั้น เราจำเป็นต้องยึดหลักฐานที่คนรุ่นก่อนยืนยันไว้เป็นเกณฑ์
เพราะยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่าในระยะเดียวกันนั้นเอง (ค.ศ. 1880-83) คณะนักสำรวจฝรั่งเศสอีกชุดหนึ่งของ นายเดอ เลสเซป ที่กำลังขุด คลองปานามา (Panama Canal) ได้ประสบปัญหาทางธรณีวิทยาของพื้นดินที่อ่อนยุ่ยในเขตที่ขุดคลองและไข้ระบาดอย่างหนักจนทีมงานฝรั่งเศสจำต้องถอนตัวออกจากปานามาอย่างน่าอับอาย
ในทางปฏิบัติแล้ว “กัปตันลอฟตัส” คือตัวการใหญ่ผู้ยับยั้งแผนงานของพวกฝรั่งเศสอย่างโจ่งแจ้ง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทำให้ “โครงการขุดคอคอดกระ” ถูกยกเลิกไปโดยปริยายและเป็นมือที่สามที่เราไม่รู้จักมาก่อน คำทัดทานของท่านมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือทั้งจากกลุ่มนายทุนและรัฐบาลสยามเอง (ภาพถ่ายกัปตันลอฟตัส คลิก)
รัชกาลที่ 5 ทรงปลอบใจทีมงานฝรั่งเศสอย่างไร?
การยุบโครงการขุดคลองกระโดยกะทันหันทำให้ทีมงานฝรั่งเศสเสียหน้ามิใช่น้อย โครงการขุด คลองปานามา ที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกมาก็เช่นเดียวกัน ได้สร้างความปวดร้าวให้นายเดอ เลสเซป เป็นอย่างมาก ในกรณีของคลองปานามานั้นการเดินหน้าขุดคลองทั้งที่เผชิญอุปสรรคมากมาย เช่น นอกจากข่าวโจมตีพวกฝรั่งเศสว่าติดสินบนสื่อไม่ให้เปิดเผยผลประกอบการต่าง ๆ แล้ว ไข้ป่า (ในปานามาเรียกไข้เหลือง) ยังได้คร่าชีวิตคนงานพื้นเมืองไปกว่า 10,000 คนอีกด้วย
ตามวิสัยชาวสยามผู้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและเห็นอกเห็นใจผู้ประสบเคราะห์กรรมอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชบัญชาให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส หาทางรักษาน้ำใจทีมงานชาวฝรั่งเศสเพื่อผดุงมิตรภาพระหว่างกันเอาไว้
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงเขียนบันทึกว่า เพื่อเป็นการซื้อใจพวกฝรั่งเศส ทางรัฐบาลสยามได้จัดงานเลี้ยงรับรองขึ้นที่สถานทูตประจำกรุงปารีสเพื่อเรียกขวัญและเป็นกำลังใจให้แก่ทีมงานวิศวกรชาวฝรั่งเศส
โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 1884 (พ.ศ. 2427)นายเดอ เลสเซป วิศวกรผู้ออกแบบและขุดคลองสุเอซพร้อมด้วย นายเดอลองก์ วิศวกรและเพื่อนร่วมงานผู้เสนอโครงการขุดคลองกระและชาวคณะทุกคนมีอาทิ กัปตันเบลลิอง (Captain Bellion) นายดรู (Mr. Léon Dru) และ นายเกรอัง (Mr. Grehan) อดีตกงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้รับเชิญมาเป็นเกียรติในงาน
ในการนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้อ่านสุนทรพจน์กล่าวขอบคุณทีมงานสำรวจคอคอดกระของนายเดอลองก์และความสำเร็จของการสำรวจครั้งแรกและข้อมูลที่ได้จากใจจริงของราชสำนักสยาม
ทั้งยังได้อ้างถึงพระพรชัยมงคลและพระราชสดุดีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานมาเป็นพิเศษแก่ นายเดอ เลสเซป ว่าผลงานจากคลองสุเอซของท่านเป็นผลงานอันโดดเด่นที่น่ายกย่องชื่นชม และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างไม่ต้องสงสัย
พระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของพระราชอาณาจักรแห่งเอเชียตระหนักถึงความสำเร็จและคุณูปการของ นายเดอ เลสเซป จึงได้ถือโอกาสนี้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งแห่งกรุงสยามนามว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทย” ชั้นสูงสุด (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยมีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ นายเดอ เลสเซป ได้รับพระราชทานมีนามว่า Knight Commander of the Crown of Siam (Grand Cross of the Most Honourable Order of the Crown of Siam) ให้ นายเดอ เลสเซป เป็นเกียรติยศด้วย
โครงการ “ขุดคอคอดกระ” ในสมัยกาลที่ 5 ยุติลงโดยสันติวิธีใน พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) และไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกอีกเลยจนตลอดรัชกาล…
อ่านเพิ่มเติม :
- ทีมผู้ขุด “คลองสุเอซ” จากฝรั่งเศส เกือบมาขุดคลองโครงการยักษ์ของไทยสมัยร.5
- “มหาชัย” ชื่อคลอง-ตำบลในสมุทรสาคร เกี่ยวอะไรกับพระเจ้าเสือ-พระเจ้าท้ายสระ?
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก“‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิก โครงการขุดคอคอดกระ ข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรมฉบับสิงหาคม 2559[เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พบแล้ว! ตัวการผู้ทำให้ไทยยกเลิก “โครงการขุดคอคอดกระ” ในสมัยรัชกาลที่ 5
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
KOI สรุปเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีที่คัดค้านจนไม่ได้ขุด
แต่ถ้าขุด ภาคใต้และมาเลจะเป็นเกาะทันที ไม่ใช่แผ่นดินใหญ่แน่นอน
ขวานทอง ก็จะเป็นขวานหักในบัดดล
15 ส.ค. 2566 เวลา 00.59 น.
Noom ร้านเอ็นโมบายส์ ก็ไม่ต่างจากสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน สุดท้ายเงินเข้ากระเป๋านายทุน ประเทศต้องรับภาระความเสี่ยงเรื่องความมั่นคง
15 ส.ค. 2566 เวลา 01.06 น.
Suvit ความมั่งคั่งที่สิงคโปร์มีทุกวันนี้มาจากโครงการที่ถูกยกเลิกนี้ เรื่องมันผ่านไปแล้วช่างมันเถอะ ถึงขุดตอนนั้นประโยชน์ก็คงมาไม่ถึงประเทศเท่าไรถูกนักการเมืองพ่อค้าสูบเกือบไม่เหลือ
15 ส.ค. 2566 เวลา 01.34 น.
มันต้อง “ชัดเจน” โลกเปลี่ยนไปแล้ว
15 ส.ค. 2566 เวลา 03.26 น.
Noom Narong ปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้า เห็นว่าควรขุด ถ้าไม่มีสิงคโปร์มาจ่ายค่าคัดค้านหรือจ้างผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่าไม่ให้ขุดอ้างปัญหาร้อยแปด แต่จริงแล้วรับเงินจากสิงคโปร์ว่าอย่าขุด จำได้ว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ก็มีโครงการว่าจะขุดแล้วก็โดนค้านและมีการเปิดเผยภายหลังว่ารับเงินจากสิงคโปร์ ขุดเถอะครับ
15 ส.ค. 2566 เวลา 07.40 น.
ดูทั้งหมด