ทุกวิกฤติมีโอกาส ทุกโอกาสมีเงิน วิกฤติโควิดทำให้บริษัทยาแห่งหนึ่งมีอำนาจชี้ความเป็นความตายของชาวโลกขึ้นมาทันที
คือบริษัทกิลเลียด ไซเอนเซส (Gilead Sciences) เจ้าของยาเรมเดสซีเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งวงการแพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดได้ผลที่สุดในตอนนี้
เรมเดสซีเวียร์เป็นยาต้านไวรัส พัฒนามาสู้โรคอีโบลา แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด กลับพบว่ามันช่วยรักษาโควิดได้ดี
การรักษาต้องใช้ยาหกหลอด (เรียกว่า Vial) นานห้าวัน วันแรกใช้สองหลอด
ในช่วงแรกบริษัทอเมริกันแห่งนี้มอบยาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไปใช้ฟรี แต่คนในวงการยาก็รอดูว่าบริษัทฯ จะตั้งราคายาสำหรับสู้โควิดในวิกฤติคราวนี้เท่าไร เพราะราคานี้จะสร้างมาตรฐานการตั้งราคายาต้านโควิดอื่น ๆ ในอนาคต
สัปดาห์ก่อน Gilead Sciences แจ้งราคาเรมเดสซีเวียร์ที่ชาวโลกสมควรจ่าย
ประเทศสหรัฐฯ มีสองราคา ราคาสำหรับรัฐบาลคือหลอดละ 390 ดอลลาร์ รวม 2,340 ดอลลาร์ต่อการรักษาห้าวัน สำหรับชาวบ้านและโรงพยาบาลเอกชน ราคาหลอดละ 520 ดอลลาร์ รวมค่ารักษา 3,120 ดอลลาร์ (ประมาณ 96,000 บาท)
ประธาน Gilead Sciences เชื่อว่าราคายุติธรรมดีแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การใช้ยาตัวนี้ทำให้เวลาที่คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลสั้นลง ประหยัดเงินถึง 12,000 ดอลลาร์
และ “ราคานี้ทำให้คนไข้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงยาได้”
นักวิเคราะห์วอลล์ สตรีทไม่น้อยเห็นว่าราคานี้ต่ำเกินไป พวกเขาคาดว่าราคาน่าจะเป็น 5,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งการรักษา (ประมาณ 150,000 บาท)
จึงถือว่าราคาที่ประกาศมานี้ “สมเหตุสมผล”
แต่เสียงตอบรับของชาวโลกเป็นอีกอย่าง
ราคานี้ได้รับเสียงลบอย่างหนัก และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก Gilead Sciences เคยถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงครั้งที่ตั้งราคายา Sovaldi รักษาโรคตับอักเสบซีต่อชุดที่ 84,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 250,000 บาท) ในปี 2014
คนในวงการสาธารณสุขสหรัฐฯ ต่างบอกว่า ผิดหวังกับราคาที่ “เวอร์ไป” มันเป็นการฉวยโอกาส ในเมื่อชาวอเมริกันต้องจ่ายภาษีช่วยวิจัยและพัฒนายาตัวนี้ บริษัทฯ น่าจะ ‘ทำสิ่งที่ถูกต้อง’
สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เบอร์นี แซนเดอร์ส กล่าวว่า “ต้องหยุดความโลภของกิลเลียด” สมาชิกวุฒิสภาอีกคนหนึ่งบอกว่า “เราต้องการนวัตกรรม แต่ก็ควรอยู่ในราคาที่จ่ายได้”
เพราะราคายาระดับ ‘ผีถึงป่าช้า’ นี้ แม้จะลดให้ประเทศด้อยพัฒนา ก็ยังสูงเกินที่ชาวบ้านหลายมุมโลกมีปัญญาจ่าย หากรัฐไม่แบกรับภาระค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง
บริษัทยาที่บังคลาเทศผลิตยาเวอร์ชั่น ‘Generic’ จำหน่ายในราคาหลอดละ 59-71 ดอลลาร์
‘Generic’ คือยาชื่อสามัญหรือยาสามัญ หมายถึงยามีคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยาเหมือนยาต้นแบบ แต่ไม่เสียค่าสิทธิบัตร
บังคลาเทศไม่ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรยาจนถึงปี 2033 ตามข้อยกเว้นพิเศษที่ได้รับจากองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) WTO ซึ่งยอมให้ประเทศยากจนหรือภาษาทางการว่า ‘The least developed countries’ สามารถเข้าถึงยาที่มีสิทธิบัตรในราคาไม่แพง
หากไม่ทำเช่นนี้ก็เกิดการชนกันระหว่างเจ้าของสินค้ากับลูกค้าดังที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทยา Novartis กับรัฐบาลโคลอมเบียในเรื่องยารักษามะเร็ง Gleevec ในปี 2014 โคลอมเบียต้องการกดราคายา Gleevec ให้ต่ำกว่าครึ่ง เพราะราคาต่อปีของยาชนิดนี้สูงราวสองเท่าของรายได้ต่อปีของชาวโคลอมเบียทั่วไป มันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ Gilead Sciences ยอมให้โรงงานยาห้าแห่งในอินเดียและบังคลาเทศผลิตยาเรมเดสซีเวียร์เวอร์ชั่นยาสามัญ เพื่อกระจายให้ ‘ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด’ ส่วนประเทศที่มีฐานะก็จ่ายราคาต้นฉบับ
ประเด็นปัญหาราคายาสูงเกินรายได้ประชากรต้องมองหลายด้าน เราต้องมองมุมของบริษัทยาด้วย
ความจริงก็คือบริษัทยายักษ์ใหญ่ในโลกล้วนต้องลงทุนเงินและบุคลากรจำนวนมหาศาลเพื่อคิดค้นพัฒนายาใหม่
บริษัทยาไม่ใช่องค์กรการกุศล มันมีผู้ถือหุ้นที่รอกำไร ไม่มีผู้ถือหุ้น ก็ไม่มีเงินทุน
ว่าก็ว่าเถอะ หากไม่มีผลกำไรที่ล่อใจ โลกจะมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องหรือ ?
ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวไว้ในช่วงวิกฤติโควิดถึงการผูกขาดยาของบริษัทยาใหญ่ ๆ ว่า “พวกนี้เวลามาเจรจากับผมใน WTO เอาเรื่องยามาเป็นหัวใจตลอดเวลา การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยา (TRIPs) เพราะคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือประเทศที่เจริญแล้ว เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรม แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน”
บางทีนี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องผิดหรือถูก แต่อาจคือเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ในกรณีโควิดมีปัจจัยหนึ่งที่บริษัทยาอาจ ‘ลืม’ นำมาคำนึง นั่นคือผู้คนกำลังล้มตายเป็นใบไม้ร่วง และโลกกำลังล้มละลาย คนตกงานมีจำนวนมหาศาล แทบทุกระบบและปัจเจกในโลกชะงักงันและขาดเงิน การตั้งราคาแบบ ‘รีดเลือดจากปู’ ในสถานการณ์คับขันเช่นนี้อาจไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อประธาน Gilead Sciences บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ต้องตั้งราคายารักษาโควิดโดยไม่เคยมีแนวทางเดิมให้เดินตาม
แต่ความจริงคือมี
โรคโปลิโอคร่าชีวิตมนุษย์มากมายในอดีตไม่ต่างจากโรคระบาด เฉพาะ ค.ศ. 1952 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันตายไปสามพันกว่าคน อีกสองหมื่นกว่าคนพิการตลอดชีวิต โรคนี้เกิดจากไวรัส
นักไวรัสวิทยาชาวอเมริกัน โจนาส ซอล์ค (Jonas Salk 1914–1995) พยายามคิดค้นวัคซีนอย่างหนัก และเป็นหัวหอกโครงการคิดค้นวัคซีน มันเป็นโครงการยักษ์ในยุคนั้น ใช้หมอและบุคลากรทางการแพทย์สองหมื่นคน เจ้าหน้าที่ 64,000 คน อาสาสมัคร 220,000 คน
มันเป็นโครงการใหญ่ประหนึ่งโครงการแมนฮัตตันในทางการแพทย์ (โครงการแมนฮัตตันคือการระดมคนมาสร้างระเบิดปรมาณู)
โครงการประสบผลสำเร็จในวันที่ 12 เมษายน 1955 วันนั้นแทบถือว่าเป็นวันชาติของสหรัฐฯ
แล้วจะตั้งราคาวัคซีนโปลิโอเท่าไร ?
มีคนถาม โจนาส ซอล์ค ว่า “ตกลงใครเป็นเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีน ?”
ซอล์คตอบว่า “ประชาชน”
เขาบอกว่า “มันไม่มีสิทธิบัตรครับ คุณสามารถมีสิทธิบัตรดวงอาทิตย์หรือ ?” (There is no patent. Could you patent the sun?)
เบาหวานเป็นอีกโรคหนึ่งที่รังควานมนุษย์มาหลายพันปี และคงอยู่กับโลกอีกนาน
เซอร์ เฟรเดอริค แกรนท์ แบนติง (Sir Frederick Grant Banting 1891–1941) เป็นแพทย์ชาวแคนาดา มองเห็นปัญหาของโรคนี้และคิดหายารักษา
เวลานั้นในวงการแพทย์มีข้อสมมุติฐานว่าตับอ่อนผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งเรียกว่า อินซูลิน (ชื่อนี้ตั้งโดย เอ็ดเวิร์ด เชฟเฟอร์ Edward Schafer) คุมการเผาผลาญน้ำตาล มันน่าจะเป็นคำตอบ
ทว่าการสกัดอินซูลินจากตับอ่อนล้มเหลวไม่เป็นท่า
จนกระทั่งในปี 1920 แบนติงเกิดไอเดียใหม่ในการสกัดอินซูลินก่อนที่มันจะถูกทำลาย มันเป็นนวัตกรรมที่ซับซ้อน แบนติงร่วมมือกับ ชาร์ลส์ เบสต์ และนักเคมี ทดลอง ทดลอง และทดลอง จนในที่สุดโครงการก็ประสบความสำเร็จ
แบนติงกับเบสต์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ แบนติงเป็นนักวิทยาศาสตร์อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบล คือ 32 ปี
ใครเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ?
โดยหลักการก็ย่อมเป็นแบนติง แต่แบนติงขายสิทธิบัตรอินซูลินให้มหาวิทยาลัยโทรอนโตเป็นเงิน 1 เหรียญ แล้วบอกว่า “อินซูลินไม่ใช่ของผม มันเป็นของโลก” (Insulin does not belong to me, it belongs to the world.) เพื่อให้ยาเข้าถึงคนทั้งโลกอย่างง่ายและถูก ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน
โครงสร้างโลกวันนี้อาจไม่เอื้อให้มีคนอย่าง โจนาส ซอล์ค และ เฟรเดอริค แบนติง อีกแล้ว เมื่อเราโอบรับระบอบกำไรสูงสุด ทุกระบบทุกวงการขับเคลื่อนด้วยเงิน และมีจุดหมายที่เงิน
เมื่อเริ่มเกิดเหตุโควิดระบาด หน้ากากอนามัยจำนวนสองร้อยล้านชิ้นก็สามารถหายไปจากคลังบ้านเราโดยที่ประชาชนมองตาปริบ ๆ
มองไปรอบตัว มีกี่โรงพยาบาลเอกชนที่มีจิตวิญญาณของการรักษาชีวิตมนุษย์จริง ๆ ? ทุกแห่งมีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น
มันเป็นวิถีของทุนนิยมอย่างนี้เอง ‘สิทธิบัตรเหนือดวงอาทิตย์’ เป็นแค่ผลพวงของระบบที่เราสร้างขึ้น
และเมื่อบริษัทยาและโรงพยาบาลเป็นเจ้าของ ‘ดวงอาทิตย์’ ภาพ ‘ผีถึงป่าช้า’ ก็เป็นเพียงเงาคราสบนดวงอาทิตย์แห่งระบบทุนนิยม
เงาดำปรากฏเพียงชั่วคราว แล้วดวงอาทิตย์ก็ส่องสว่างดังเดิม
วินทร์ เลียววาริณ
ในบทความนี้กำลังจะสื่อถึงในเรื่องอะไรกันแน่ครับ.
06 ก.ค. 2563 เวลา 13.08 น.
วัตถุดิบชั้นเลิศ กะทิชั้นเยี่ยม เต็ม10 ค่ะ
10 ก.ค. 2563 เวลา 04.47 น.
ปัทมา ฉันทวรวิจิตร แพงระยับตามฉบับอเมริกา
06 ก.ค. 2563 เวลา 12.57 น.
ทุนนิยม มันเป็นระบบทีคล้ายกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ในการปรับตัว เพื่อให้อยู่รอด แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า ก็มีโอกาสรอดมากกว่า (แม้จะไม่เสมอไป) มันทำให้เกิดการแข่งขัน และมีจุดมุ่งหมาย เพื่ออยากได้มีชีวิตอยู่ต่อ
ถ้าสังเกตุ สัตว์ที่ไม่ได้พัฒนาด้านสติปัญญา มันมองไม่เห็นว่า ระบบแข่งขันเพื่อให้อยู่รอด มันให้ความสขความพอใจเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับกับความทุกข์ ที่ต้องแข่งขัน ต่อสู้ หนีภัย และสัตว์ที่ยังหนุ่ม มีกำลัง ก็จะทนงตนกว่า เหมือนโคถึก แม้ว่าเกือบทุกตัวของวัวควาย ที่สุดแ
13 ก.ค. 2563 เวลา 02.16 น.
ณัฏฐากร อย่าเรียกว่าระบอบดีกว่า แท้จริงจะเรียกอะไรดีล่ะแนวคิด ทัศนคติ นิสัย สันดาน น่าจะถูกต้องมากกว่าที่ชอบเอารัดเอาเปรียบหาผลประโยชน์อย่างไร้มนุษยธรรม
08 ก.ค. 2563 เวลา 01.35 น.
ดูทั้งหมด