ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ฟังชัดๆจากแบงก์ชาติ “ทำไมค่าบาทแข็ง ผู้ประกอบการต้องปรับตัว”

Money2Know
เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 12.13 น. • money2know - เงินทองต้องรู้

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีกว่า 4% พร้อม ๆ กับเสียงบ่นจากบรรดาผู้ส่งออกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่ยอมทำอะไรเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ แม้ว่าจะยอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ล่าสุด ธปท. ออกมามาชี้แจง "7 ข้อเท็จจริงเรื่องค่าเงินบาท และการปรับตัวภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. เงินบาทแข็งค่ามีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ 

เงินบาทที่แข็งค่ามีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ บางทีเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์อาจไม่สบายใจว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท รายได้จากการส่งออกหายไปแสนล้านบาท ข้อเท็จจริงอีกด้านคือ ถ้าเงินบาทแข็งค่า รายจ่ายจากการต้องนำเข้าสินค้า อาทิ น้ำมัน เครื่องจักร วัตถุดิบจากต่างประเทศ ก็ลดลงเป็นแสนล้านบาทเช่นกัน ดังนั้น เรื่องค่าเงินบาทเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่ต้องดูทั้งด้านที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

2. ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับ USDจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เป็นสำคัญ เช่น การเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ FED

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 62 แข็งค่าขึ้นประมาณ 5%เมื่อเทียบกับ USD จากปัจจัยด้านต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ FED ที่เดิมตลาดคาดว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า แต่สงครามการค้าและผลกระทบที่ชัดขึ้นโดยเฉพาะต่อการลงทุน ทำให้ตลาดเปลี่ยนมุมมองว่า FED อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ และมีผลทำให้เงิน USD อ่อนค่าลงจากที่เคยคิดไว้ว่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในประเทศ ส่วนแรกคือ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว 1.2 หมื่นล้าน USDซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาแล้วต้องแลกเป็นเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และทั้งปี 2562 คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.9 หมื่นล้าน USD ส่วนที่ 2 มีเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยสูงขึ้น แม้ส่วนนี้ปริมาณไม่ได้มาก ถ้าเทียบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ในบางช่วงที่มีมากก็ทำให้ค่าเงินมีมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เงินสุทธิที่ไหลเข้ามาตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย 1.8-1.9 พันล้าน USD เช่น เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น มีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง หลายกองทุนเมื่อก่อนมาลงทุนในไทยไม่ได้ วันนี้สามารถกลับมาลงทุนได้ ก็จะมีเงินส่วนนี้เข้ามาส่วนหนึ่ง อันที่สองคือ ดัชนี MSCI ซึ่งนักลงทุนจะดูว่าดัชนีนี้แนะนำให้ไปลงทุนแต่ละประเทศเท่าใด โดยปรับน้ำหนักของไทยขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม วันนั้นวันเดียวตลาดหลักทรัพย์ฯ มียอดซื้อขายถึง 2 แสนล้านบาท ในตลาดพันธบัตรไทยเช่นกัน JP Morgan ก็เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวของไทย เวลาที่นักลงทุนกระจายการลงทุนไปประเทศต่าง ๆ จะอ้างอิงดัชนีเหล่านี้ ซึ่งด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงเสถียรภาพและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย แต่ทำให้มีเงินที่ไหลเข้ามาพักในระยะสั้นอยู่บ้าง

3. แบงก์ชาติเข้าไปดูแลบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็ว ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการ แต่ก็ระวังไม่ให้ถูกจัดเป็น currency manipulator

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่ผ่านมา ธปท. ติดตามพัฒนาการของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด มีมาตรการหลายอย่างเพื่อดูแลไม่ให้เงินระยะสั้นกระทบอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องมายังผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจจริง ในบางช่วงที่เงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางได้เข้าไปดูแล สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ต้องระมัดระวังมาก เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังจับตาประเทศที่เป็น currency manipulator หรือประเทศที่แทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยจะดูว่าแบงก์ชาติแต่ละประเทศไปแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ช่วงที่ผ่านมาไทยได้เจรจากับทางการสหรัฐฯ โดยเน้นย้ำว่าไม่มีนโยบายเข้าไปบริหารจัดการค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ถ้าทำแบบนั้นเงินบาทคงไม่แข็งค่าขึ้นเหมือนที่เป็นอยู่

4. ในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนยากจะคาดเดา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

เรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากเป็นเรื่องของธนาคารกลางแล้ว อยากชวนให้ช่วยกันคิดและขอคำแนะนำจากผู้ประกอบการด้วยว่า ทำอย่างไรเรื่องนี้จะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการทุกท่านด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สามารถทนทานต่อความผันผวนของ FX ได้ดีขึ้น ถ้าเปรียบกับหลายประเทศ เงินบาทผันผวนค่อนข้างต่ำ เช่น เมื่อเทียบกับเงินวอนของเกาหลีใต้ เงินวอนผันผวนขึ้นลงแรงกว่าเงินบาทมาก ทำไมผู้ประกอบการของเกาหลีใต้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีกว่าไทย

5. FX options เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยล็อกเรท เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ปัจจุบันภาครัฐมีโครงการ option ช่วยชาติ โดยสนับสนุนค่าธรรมเนียม

ที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมกับพันธมิตรช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ปีที่แล้วมีการออกผลิตภัณฑ์เรียกว่า FX options หรือโครงการ options ช่วยชาติ อธิบายง่าย ๆ คือโครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการซื้อประกันล็อกเรทไว้ล่วงหน้า ถ้าเรารู้ว่าขายสินค้าจะได้เงินในอีก 3 เดือน แต่ไม่รู้ว่าอีก 3 เดือนอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเท่าไร วันนี้จึงล็อกเรทไว้ก่อน ถ้าอีก 3 เดือน เรทดีกว่าเรทที่ล็อกไว้ก็ไม่ต้องใช้ แต่ถ้าเรทในตลาดแย่กว่าก็ใช้สิทธิ์ที่ล็อกเรทไว้ ตอนเริ่มมี 8 ธนาคารมาร่วม และที่สำคัญคือ รัฐบาลเห็นประโยชน์และจัดสรรงบประมาณให้ผู้ประกอบการลองใช้ซื้อประกันคนละ 5 หมื่นบาท ซึ่งช่วยล็อกเรทได้ประมาณ 1.5 แสน USD หรือ 4.75 ล้านบาท เพียงแต่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม ตอนหลังมีการทำเป็น e-learning ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ยังมีอยู่ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามได้จากธนาคารที่ร่วมโครงการ

6. ปัจจุบันสินค้าที่ส่งออก 80% ยัง quote เป็น USD ขณะที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีเพียง 10% ในบริบทที่เงิน USD มีแนวโน้มผันผวน การ quote ราคาสินค้าส่งออกในสกุลเงินของคู่ค้า (local currency) หรือในรูปเงินบาทแทน USD จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและลดต้นทุนได้

คำถามคือ ปัจจุบันทิศทาง USDผันผวนสูงมาก จากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และการเมืองภายในของสหรัฐฯ ทำไมเราไม่ใช้สกุลเงินของประเทศที่เราค้าขายกันโดยตรง เช่น ส่งไปยุโรปทำไมไม่ใช้ยูโร ส่งไปญี่ปุ่นทำไมไม่ใช้เยน เงินบาทกับเงินเยน เป็นเงินปลอดภัยเหมือนกัน เยนแข็งบาทก็แข็ง จึงมีแนวโน้มไปทางเดียวกัน และสะดวกสำหรับคู่ค้าด้วย เพราะถ้า quote เป็น USD ต้องแลกเยนเป็น USD เสีย spread ต่อหนึ่ง และเมื่อได้ USD มาแลกเป็นบาทก็เสีย spread อีกต่อหนึ่ง แต่ถ้าทำบาทกับเยนโดยตรงจะสะดวกและถูกกว่า
ปัจจุบันมีการทำ direct quotationมากขึ้น บาทกับหยวนเมื่อก่อนทำได้เฉพาะมณฑลยูนนาน ปีที่แล้วเจรจากับธนาคารกลางจีน ให้มีการ quote บาทกับหยวนโดยตรงทั่วจีนแล้ว การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นจะลดต้นทุนในการต้อง convert หลายครั้ง ปัจจุบันเห็นผู้ส่งออก quote เป็นเงินบาทเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นประมาณ 15% ของทั้งหมด บางตลาด quote เป็นบาทสูงมากในบางผลิตภัณฑ์ เช่น การส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลีย quote เป็นเงินบาทถึง 30%

7. มองไปในอนาคต ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีแนวโน้มลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการควรปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าธรรมเนียมการปิดความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการทำธุรกิจในโลกสมัยใหม่

มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงและความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ลดลง เพราะปัจจัยสำคัญที่กำหนดค่าเงินบาทมาจากต่างประเทศ เช่น จากอเมริกา หรือจาก Brexit ในยุโรป ดังนั้น ค่าเงินจะขึ้นหรือลงไม่มีใครคาดเดาได้ ไม่อยากให้ผู้ประกอบการคาดเดาหรือเก็งกำไร ดังที่ผู้ประกอบการบางท่านบอกว่าขอติดปลายนวมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะทำธุรกิจมาด้วยความยากลำบากจึงควรปิดความเสี่ยง โดยรวมค่าทำประกันความเสี่ยง FX เข้ามาเป็นต้นทุนเหมือนต้นทุนปกติ เหมือนการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ต้องซื้อประกัน freight insurance เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นส่วนหนึ่งของการทำประกันตามปกติ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 23
  • BOWN AD
    อันนี้เห็นด้วยค่ะ นำเข้าถูกขึ้น แต่ๆ มันจะมีบางประเทศที่รู้มาก รู้ราคาในประเทศไทย ละดันขึ้นราคาสินค้าภายในประเทศเค้า ละรู้เงินบาทตรุอีก เซงงงง
    16 ก.ค. 2562 เวลา 11.41 น.
  • Tom
    ประเทศเราเป็นประเทศส่งออก สัดส่วนต่อgdp กว่า70% ยังไม่รวมรายได้จากท่องเที่ยวอีก ถ้าเงินบาทแข็งมาเกินไป ธุรกิจส่งออก ที่ทำรายได้ส่วนใหญ่กับเทศจะได้รับผลกระทบเต็ม
    16 ก.ค. 2562 เวลา 11.28 น.
  • I CAN 🍁ลดเบาหวาน 🍃ความดันเป็นปกติ ✅ตาพร่ามัวมองชัดขึ้น ✅ มือเท้าชาดีขึ้น ✅ทานอาหารได้ปกติ ✅ไม่เหนื่อยง่าย ✅ปัสสาวะน้อยลง ------------------------------- 💬 สนใจทัก/สอบถามได้จ้า 📱063-916-8968 Line : 063-916-8968
    16 ก.ค. 2562 เวลา 11.25 น.
  • Pat Pat
    พวกที่อ้างคำว่าภาษีส่วนใหญ่เสียทางอ้อมทั้งนั้น ภาษีส่วนใหญ่ได้มาจาก ทางตรงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แค่ไม่ถึง 5 ล้านคน แต่เลี้ยงคนทั้งประเทศ และพวกนี้ ก็เสียทางอ้อมมากกว่าด้วย ไปดูรายงาน ครม ได้เลย สรรเสริญเขาเคยเอาเข้าประชุม จำได้ ถ้าใครบอกทางอ้อมได้มากกว่า แสดงว่า ทุกคนไม่ควรทำงานในระบบ ไม่ควรมีใครจ่ายทางตรงให้โง่ ควรอยู่นอกระบบภาษีทางตรงทุกคน เอาไม๊ล่ะ
    16 ก.ค. 2562 เวลา 11.09 น.
  • 6charoen9
    ส่งออกต้องใช้ค่าเงินบาทอ่อนๆ แล้วสิ่งที่เราส่งออกก็เป็นสินค้าเกษตร กล้วยแพง ข้าวแพง ฯลฯ เงินบาทแข็งใครเขาจะซื้อ ผลสุดท้ายเกษตรกรก็ไม่มีรายได้ รายได้หด ชาวไร่ชาวนาไม่มีเงินซื้อกระปิ น้ำปลา สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะได้จากสิ่งของพวกนี้ก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สรุปการดูสมดุลเงินบาทอย่ามาอ้างวิชาการมากมาย เอาแค่ง่ายๆ มันเป็นงูกินหาง ถ้ามีสมองคิดไม่ออกว่าสมดุลควรมีเท่าไหร่ ออกไปเถอะ ลาออกไปเถอะ ไปเรียนเพิ่มเศรษฐศาสตร์ และการตลาดเพิ่มไป เรียนแต่การเงินไม่ได้ช่วยด้านรอยหยักให้เพิ่มขึ้นเลย
    16 ก.ค. 2562 เวลา 11.08 น.
ดูทั้งหมด