ทั่วไป

อัยการธนกฤต เปิดข้อกม.ผลคำตัดสินศาลรธน.ปมถือหุ้นสื่อ ชี้หากพ้นสภาพส.ส. ไม่เป็นมูลเหตุยุบพรรค

MATICHON ONLINE
อัพเดต 20 พ.ย. 2562 เวลา 05.42 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 13.55 น.
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล (แฟ้มภาพ)

อัยการธนกฤตเปิดข้อกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นสภาพ ส.ส.ปมถือหุ้นสื่อ เผยหากพ้นสภาพส.ส.โทษจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่ที่กกต.ไต่สวนชงศาลฎีกา ตาม พรป.สส. มาตรา 151 แต่ข้อกฎหมายยังไปไม่ถึงยุบพรรค เว้นแต่ทำความผิดเป็นคดีอื่นที่เข้าข่ายยุบพรรค

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในข้อกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกรณีสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงจากการเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อมีข้อความว่ากรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 และมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นั้น ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการเป็นการส่วนตัว โดยมีวัตถุประสงค์ให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายว่ามีข้อกฎหมายใดบ้างที่จะเป็นผลตามมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ โดยไม่มีเจตนาและวัตถุประสงค์สนับสนุนพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่มีเจตนาก้าวล่วงหรือชี้นำคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. สมาชิกสภาพของ ส.ส. ผู้นั้นจะสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ (ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ ส.ส. ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

มีข้อสังเกตว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงดังกล่าว จะเป็นเรื่องสมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเท่านั้น แต่จะยังไม่มีกรณีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือโทษจำคุก เข้ามาเกี่ยวข้องในชั้นศาลรัฐธรรมนูญนี้

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง อาจนำไปสู่การไต่สวนของ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ว่า บุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกสภาพ ของ ส.ส. สิ้นสุดลงดังกล่าวข้างต้น รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งหาก กกต. ไต่สวนแล้วได้ความว่า บุคคลนั้นกระทำการเข้าลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 151 ดังกล่าว กกต.มีอำนาจยื่นฟ้องบุคคลดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และหากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเห็นว่ากระทำความผิดจริง บุคคลนั้นก็จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นมีกำหนด 20 ปี (ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่สูงที่สุด โดยระยะเวลาในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแตกต่างกันไปตามการกระทำความผิด มีทั้ง 5 ปี, 10 ปี และสูงสุด 20 ปี ) ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้ในระหว่างที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4) ประกอบมาตรา 96 (2)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนประเด็นเรื่องการยุบพรรคนั้นตามข้อกฎหมายแล้ว การยุบพรรคจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีกรณีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เกิดขึ้น คือ เป็นกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นเป็นใจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ตาม พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ มาตรา 132 และมาตรา 158 ประกอบมาตรา 75 หรือพรรคการเมืองกระทำการตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 อันเป็นเหตุให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น เช่น กระทำการล้มล้างการปกครองหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

ซึ่งกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงจากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เป็นเรื่องที่มีมูลเหตุมาจากการขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทำให้สมาชิกภาพ ของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลง ไม่ได้มีมูลเหตุมาจากการทุจริตในการเลือกตั้งตาม พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ มาตรา 132 และมาตรา 158 ประกอบมาตรา 75 หรือมาจากเหตุตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ มาตรา 92 ที่จะเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้

ดังนั้น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เนื่องจากการเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ จึงยังไม่น่าจะเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ เว้นเสียแต่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้กระทำการอื่น ๆ หรือได้กระทำความผิดเป็นคดีอื่นที่เข้าลักษณะเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้ตามกฎหมาย และเมื่อมีกรณีที่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้แล้ว สิ่งที่ตามมาควบคู่กันก็คือการสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นไปพร้อมกันด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 14
  • กำธร
    คดีหุ้นสื่อมีคดีเดียวในมุมมองของกกต.คดีที่ร้องตั้งมากมายหาไปให้หมด
    19 พ.ย. 2562 เวลา 16.51 น.
  • kunk909
    เล่นแม่งทุกเม็ด เอาให้ตายไปเลย เพราะกลัวทอนมาก ไอ้รบ.ไร้น้ำยาเอ๊ย
    19 พ.ย. 2562 เวลา 15.32 น.
  • ณัฐภณ(หนุ่มม่อนปู่ยา
    ฝ่ายตรงข้ามแม่งเหยียบให้จมฝั่งรัฐบาลแม่งเงียบกูว่าความสามัคคีไม่มีหรอกในประเทศ
    19 พ.ย. 2562 เวลา 22.55 น.
  • 108
    ใครอยู่ฝ่ายตรงข้ามโดนหมด สมัยทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นเค้าเอาเป็นเอาตายเหมือนสมัยลุงตูบ เอาให้ตายแบบไม่ได้เกิดเลย
    19 พ.ย. 2562 เวลา 15.51 น.
  • Tum-Amnat
    ออกมางี้ สงสัยของพปชร.เข้าข่ายผิดล่ะสิ เลยออกมาชี้นำคน ก่อนตัดสิน
    19 พ.ย. 2562 เวลา 16.43 น.
ดูทั้งหมด