ดิฉันทำงานเพื่อรังสรรค์ วิจัย และสอน ศิลปะตราประทับจีนมาหลายสิบปีแล้ว รักและมีประสบการณ์มากต่อศิลปะนี้ที่ได้ผสมผสานความเก่าแก่เข้ากับความทันสมัยอย่างกลมกลืน ปีหลัง ๆ นี้ ศิลปะตราประทับจีนมีการเผยแพร่ในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ดิฉันในฐานะผู้ที่ประกอบอาชีพและมีประสบการณ์ในด้านนี้ จะเล่าถึงประวัติความเป็นมาและสภาพปัจจุบันของศิลปะตราประทับจีนให้ทุกท่านรู้จักกันบ้าง
ศิลปะตราประทับเป็นศิลปะจีนดั้งเดิม ใช้หินเป็นสื่อ ใช้ศิลปะลายมือพู่กันเป็นพื้นฐาน พัฒนามาจากศิลปะการทำตราประทับในสมัยโบราณของจีน ตราประทับเป็นสิ่งของที่ใช้เป็นหลักฐานในการรับมอบอำนาจรัฐ หรือ ใช้เป็นสิ่งพิสูจน์ตัวตนในสมัยโบราณ การทำตราประทับนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี ช่วงแรก ตราประทับทำขึ้นจากโลหะ
ตลอดช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา ศิลปะตราประทับในฐานะวัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงามอยู่เคียงคู่และมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนมาโดยตลอด ศิลปะตราประทับจีนนอกจากจะมีเอกลักษณ์ทางศิลปะแล้ว ยังมีบทบาททางวัฒนธรรมและสังคมอีกด้วย นับเป็นวิธีสำคัญของคนจีนในการเสริมสร้างสุขภาพกายและจิตใจ การสร้างเสริมวัฒนธรรมคุณภาพ การแลกเปลี่ยนทางสังคม และการสื่อสารระหว่างบุคคล นอกจากนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการรับรองคุณวุฒิของบัณฑิต ขณะเดียวกัน ยังเป็นอุดมการณ์ทางอารยธรรมของชาวจีนอีกด้วย
ตราประทับจีนมีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์อินซาง โดยตราประทับที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในจีน คือ สิ่งที่เรียกว่า “ซางฮี” ที่ใช้การแกะสลักลงบนกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์อินซาง ซึ่งคล้าย ๆ กับตราประทับ ต่อมา จนถึงสมัยราชวงศ์ซีโจว ตราประทับ “ฮี” เริ่มใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
ตราประทับถูกใช้งานในเชิงศิลปะตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ตราประทับยุคก่อนราชวงศ์ถังส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชื่อตำแหน่งหรือชื่อคน ส่วนน้อยที่มีเนื้อหาเป็นคำมงคล หลังราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน ตราประทับเริ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับชื่อห้องหนังสือ ชื่อร้าน คำชื่นชมภาพวาดและลายมือพู่กัน รวมถึงกวีนิพนธ์และสำนวน เป็นต้น ต่อมาจึงมีการใช้ตราประทับในวงกว้างมากขึ้น โดยไม่จำกัดวิธีการประยุกต์ใช้ หากยังมีคุณค่าทางศิลปะเพิ่มขึ้นด้วย บรรดาบัณฑิตและศิลปินในสมัยนั้นเริ่มใช้หินเป็นวัสดุทำตราประทับแทนโลหะ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้ศิลปะตราประทับของจีนได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น บรรดาช่างแกะตราประทับสร้างนวัตกรรมและสืบทอดฝีมือจากรุ่นอาวุโสมาอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดเป็นการทำตราประทับสำนักต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสำนักหวั่น (มณฑลอันฮุย) และสำนักเจ้อ (มณฑลเจ้อเจียง) ในสมัยราชวงศ์หมิงและรางวงศ์ชิง ตลอดจนสำนักและสไตล์ต่าง ๆ ในทุกวันนี้ ในประวัติศาสตร์ จีนมีปรมาจารย์ด้านศิลปะตราประทับหลายท่าน ซึ่งรวมถึง นายติง จิ้ง (พ.ศ. 2238 – พ.ศ.2308) นายเติ้ง สือหรู (พ.ศ. 2286 – พ.ศ. 2348) นายอู๋ ชางซั่ว (พ.ศ. 2387 – พ.ศ. 2470) นายฉี ไป๋สือ (พ.ศ. 2406 – พ.ศ. 2500 ) และนายหลิว เจียง (พ.ศ. 2469 – ปัจจุบัน) เป็นต้น ปรมาจารย์เหล่านี้ได้ผสมผสานความเก่าแก่เข้ากับความทันสมัยในการสืบสานและพัฒนาศิลปะตราประทับจีนมาจนถึงปัจจุบัน หินที่ใช้ในการทำตราประทับนั้นเป็นหินประเภทไพโรฟิลไลต์ (pyrophyllite) เป็นหลัก ซึ่งรวมถึง “หินโซ่วซาน” และ “หินชิงเถียน” เป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำตราประทับประกอบด้วย มีดแกะสลัก หมึกพิมพ์ พู่กัน และ “กระดาษซวน” ขั้นตอนหลัก ๆ ของการทำตราประทับ ได้แก่ การออกแบบร่างเนื้อหา การเขียนแบบบนหิน การแกะสลัก การลองประทับ การสลักชื่อ ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือ การใช้กระดาษแผ่นบางทาบกับแผ่นหินแกะสลัก ทั้งนี้ ศิลปะการคัดลายมือบนหิน การจัดวางตัวอักษรอย่างแยบยล และฝีมือการแกะสลักที่คล่องแคล่วละเอียดประณีต ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญของศิลปะตราประทับจีนทั้งสิ้น
ลักษณะพิเศษของศิลปะตราประทับจีน คือ 1) ใช้ตัวอักษรสมัยโบราณเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่มีความจริงกับความเสมือนจริงดำรงอยู่ และมี “หยินกับหยาง” อยู่ด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นสุนทรียภาพแห่งความเป็นนามธรรมและวิจิตรพิสดาร แต่ทุกวันนี้ ตราประทับก็มีการใช้ตัวอักษรแบบย่อบ้าง 2) ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมหลายอย่างอยู่ในตราประทับดวงเดียว โดยศิลปินจะต้องเชี่ยวชาญด้านกวีนิพนธ์ การคัดลายมือด้วยพู่กัน ภาพวาด และศาสตร์การจัดองค์ประกอบ จึงจะสามารถบูรณาการศิลปะเหล่านี้ให้อยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กจิ๋วบนตราประทับได้ นอกจากนี้ ยังต้องสะท้อนให้เห็นถึงความคิด อารมณ์ความรู้สึก และความรู้ของเจ้าของตราประทับอย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งยังต้องแสดงถึงความโดดเด่นของการจัดวางรูปแบบและความละเอียดประณีตของเทคนิคการแกะสลักของศิลปินทำตราประทับอีกด้วย กล่าวได้ว่า “ถือเป็นการแสดงออกถึงสรรพสิ่งบนโลกในพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดตารางเซนติเมตร” และ 3) ตราประทับเป็นผลงานจากการผสมผสานมนุษยศาสตร์กับธรรมชาติเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมความสวยงาม 3 ด้านให้เป็นอันหนึ่งเดียว ได้แก่ ความสวยงามจากหินธรรมชาติ ความสวยงามของประติมากรรมด้านบนของตราประทับ และความสวยงามของการสลักตัวอักษร คนจีนมองว่า กระบวนการทำตราประทับถือเป็นการสร้าง “ความเป็นเอกภาพระหว่างหลักธรรมกับมนุษย์”
ผลงานตราประทับมีคุณค่าทางสุนทรียภาพและคุณค่าต่อการเก็บสะสม ตลอดจนมีบทบาทที่ใช้รับรองหรือยืนยันตัวบุคคล ชื่นชมผลงานภาพวาดและลายมือการเขียนพู่กัน เช่น ตราประทับชื่อคนและตราประทับเพื่อการเก็บสะสม นอกจากนี้ สำหรับผลงานภาพวาดและผลงานลายมือการเขียนพู่กัน ตราประทับยังมีคุณค่าทางสุนทรียภาพและมีบทบาทแทนการลงชื่อได้ ปัจจุบัน ศิลปะตราประทับในจีนได้รับความนิยมจากทั้งคนทั่วไป ผู้สืบสานวัฒนธรรมคุณภาพ และผู้มีฝีมือชั้นเยี่ยม จีนมีสถาบันวิชาการเกี่ยวกับศิลปะตราประทับจำนวนกว่า 600 แห่ง ในจำนวนนี้ สถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ วิทยาลัยศิลปะตราประทับ สังกัดสถาบันวิจัยศิลปะแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นสถาบันระดับชาติเพื่อการวิจัยและรังสรรค์ผลงานตราประทับแห่งแรกของจีน สำนักตราประทับซีหลิง ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 115 ปีก่อน และสถาบันวิจัยศิลปะแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพียงแห่งเดียวที่เปิดสอนเอกวิชาศิลปะตราประทับในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกโดยเฉพาะ อันมีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะตราประทับจีนจำนวนมาก
กระแสการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยทำให้ศิลปะตราประทับจีนในปัจจุบันมีโฉมหน้าใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ในด้านการชื่นชมศิลปะเท่านั้น หากยังมีการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายอีกด้วย เช่น ใช้ลวดลายตราประทับประดับกาน้ำชา เครื่องกระเบื้องเซรามิค พัด บัตรโทรศัพท์ ใบชา แสตมป์ ประติมากรรม หมากรุก สิ่งก่อสร้าง ไปจนถึงเครื่องหมายการค้า ตลอดจนยังมีการจัดแสดงในนิทรรศการต่าง ๆ อีกด้วย
เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติประกาศขึ้นทะเบียน “ศิลปะตราประทับจีน” ใน “รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ที่ยื่นขอโดยวิทยาลัยศิลปะตราประทับ สังกัดสถาบันวิจัยศิลปะแห่งประเทศจีนและสำนักตราประทับซีหลิง ดิฉันได้มีเกียรติเป็นผู้รับผิดชอบของโครงการยื่นขอดังกล่าว ความสำเร็จที่ศิลปะตราประทับจีนได้ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาตินั้น ได้สร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ และบรรยากาศระหว่างประเทศที่ดีต่อการสืบสาน อนุรักษ์ และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน และมีส่วนเกื้อกูลต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลกอีกด้วย
ในปีหลัง ๆ นี้ ศิลปะตราประทับจีนได้ก้าวออกจากห้องหนังสือของบรรดาศิลปิน และหอศิลป์ต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อไปสู่ระดับสากล รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญต่อศิลปะตราประทับมากยิ่งขึ้น โดยให้ศิลปะตราประทับมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมทางการทูตของจีน ตั้งแต่พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เวลาเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ผู้นำจีนนิยมเลือกตราประทับเป็นของขวัญที่มอบให้แก่ผู้นำต่างประเทศ ตราประทับจีนในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ งานกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งประจำปี พ.ศ. 2551 ได้ใช้ตราประทับจีนเป็นตราสัญลักษณ์ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้ตราประทับจีนโด่งดังทั่วโลก และได้ผลักดันให้ศิลปะตราประทับจีนก้าวขึ้นสู่ระดับสูง
พร้อมกับกระแสนิยมวัฒนธรรมจีนเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ มีการจัดนิทรรศการและการบรรยายเกี่ยวกับตราประทับจีนที่ต่างประเทศมากขึ้น พ.ศ. 2555 สำนักงานสารนิเทศและสิ่งพิมพ์แห่งประเทศจีนร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะแห่งประเทศจีน ได้จัดนิทรรศการเรื่อง “โลกแห่งตราประทับจีน ผลงานศิลปะลายมือพู่กันและตราประทับของนางลั่ว เผิงเผิง” ที่ราชวิทยาลัยศิลปะลอนดอน สหราชอาณาจักร งานนี้ได้เปิดฉากของการเฉลิมฉลอง 40 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-อังกฤษ นิทรรศการครั้งนี้ได้จัดแสดงผลงานตราประทับของดิฉันที่เกี่ยวข้องกับคำเตือนใจจาก “ร้อยสำนักปรัชญา” หนังสือคลาสสิคด้านศาสตร์จีน โดยเฉพาะคำคมของเซอร์ไอแซก นิวตันและวิลเลียม เชคสเปียร์ ที่ดิฉันเขียนเป็นงานลายมือพู่กันและทำเป็นตราประทับ ได้รับการชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้ชมชาวอังกฤษ พ.ศ. 2558 สำนักงานภาษาต่างประเทศของจีนและสถาบันวิจัยศิลปะแห่งประเทศจีนได้จัดนิทรรศการเรื่อง “โลกแห่งตราประทับจีน ผลงานศิลปะลายมือพู่กันและตราประทับของนางลั่ว เผิงเผิง” ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ดิฉันได้คัดเลือกกวีนิพนธ์ของนายมัตสึโอะ บาโช (Matsuo Basho) และนายอาเบะ โน นากามาโระ (Abe no Nakamaro) นักวรรณคดีสมัยโบราณของญี่ปุ่น รังสรรค์เป็นผลงานลายมือพู่กันและตราประทับ ซึ่งได้รับความชื่นชอบจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นด้วย
พ.ศ. 2557 กระทรวงวัฒนธรรมของจีนได้จัดโครงการ “ห้องบรรยายวัฒนธรรมประชาชาติจีน” ดิฉันได้มีเกียรติเป็นผู้บรรยายของโครงการนี้ และเดินทางไปจัดการบรรยายเรื่อง “มองอุดมคติของคนจีนจากศิลปะตราประทับ” ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในออสเตรีย เช็ก และโปแลนด์ตามลำดับ และได้ประสบความสำเร็จมาก การตระเวนบรรยายช่วยให้ชาวยุโรปได้เรียนรู้ประเทศจีนและวัฒนธรรมจีนอีกครั้ง โดยเฉพาะการบรรยายที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศเช็ก ซึ่งเป็นที่ประทับใจของบรรดานักจีนศึกษาในเช็ค และยากที่จะลืมเลือนได้จนถึงทุกวันนี้ วันนั้น ดิฉันติดตามศิลปินเช็กหลายคนเดินไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเช็ก เพื่อจัดการบรรยาย ตอนที่เดินผ่านแม่น้ำวัลตาวา (Vltava) ดิฉันอดไม่ได้ที่จะร้องเพลง “ปิตุภูมิของฉัน” ที่แต่งขึ้นโดยนายสเมทานา มา วลาสต์ (Smetana Ma vlast) นักแต่งเพลงชาวเช็กผู้มีชื่อเสียง พอเพื่อน ๆ ชาวเช็กได้ยินเพลงนี้ ต่างรู้สึกตื้นตันใจ พากันร้องตามกัน เราร้องเพลงกันตลอดทางไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ การบรรยายของดิฉันในวันนั้นได้ประสบความสำเร็จมาก
สิ่งที่น่าสนใจคือ ศิลปะตราประทับจีนมีการเปิดตัวในกิจกรรมทางการทูตที่สำคัญด้วย ดิฉันได้มีโอกาสไปจัดแสดงผลงานตราประทับในกิจกรรมดังกล่าวมาหลายครั้ง ศิลปะตราประทับในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน ช่วยให้ชาวต่างชาติได้เพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีน อีกทั้งได้สร้างภาพลักษณ์แห่งชาติและวัฒนธรรมคุณภาพของจีนด้วย
ตั้งแต่ต้นพ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดทั่วโลก จีนได้จัดส่งเวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือฝรั่งเศส โดยได้ติดสัญลักษณ์ที่เป็นตราประทับขนาดใหญ่ให้อยู่บนบรรจุภัณฑ์ ตัวอักษรบนตราประทับมีความหมายว่า “เพื่อนแท้แม้ห่างกันไกล ก็สามารถร่วมแรงร่วมใจกันได้ ไมตรีจิตมิตรภาพต่อกันจะแข็งแรงกว่าหินทองคำ นี่เป็นคำคมของนายเฉียว โจว นักวิชาการ และนักคัมภีร์ศึกษาจากก๊กสู่ สมัยสามก๊ก ด้านข้างของตราประทับดวงนี้ได้สลักรูปภาพนกพิราบและนกหงส์ สัญลักษณ์แห่งสันติภาพและความงดงาม ประกอบด้วยธงชาติจีนและธงชาติฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีการสลักรูปภาพของหอฟ้าเทียนถานในกรุงปักกิ่งและหอไอเฟลในกรุงปารีสด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่า มิตรภาพระหว่างจีน-ฝรั่งเศสแข็งแกร่งกว่าหินทองคำ และมิอาจทำลายได้ ดิฉันเป็นผู้ออกแบบตราประทับดวงนี้โดยได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลจีน พอข่าวเกี่ยวกับตราประทับดวงนี้มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ปรากฏว่า วันนั้นวันเดียว ก็มีคนคลิกเข้าชมมากกว่า 200 ล้านครั้ง ตราประทับดวงนี้ได้รับความนิยมชมชอบจากทั้งประชาชนจีนและประชาชนฝรั่งเศส
พ.ศ. 2562 ดิฉันได้จัดนิทรรศการเรื่อง “ศิลปะลายมือพู่กันและตราประทับเกี่ยวกับ 24 ฤดูกาล” เพื่อเฉลิมฉลอง 10 ปีที่ศิลปะตราประทับจีนขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ณ ศาลากลางของโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ (Westminster) ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น ดิฉันได้จัดการบรรยายและการประชุมสัมมนาเรื่อง “ความเหมือนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมระหว่างจีน-อังกฤษ” ที่หอวิจิตรศิลป์แห่งชาติอังกฤษ และมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดตามลำดับ ซึ่งได้รับการต้อนรับและความชมชอบจากชาวอังกฤษอย่างกว้างขวาง ผู้คนทั้งหลายต่างก็รู้สึกว่าชื่นชอบและมีปฏิสัมพันธ์กัน
อารยธรรมมีความหลากหลาย จึงต้องการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนนำมาซึ่งการเรียนรู้ของกันและกัน การเรียนรู้ของกันและกันขับเคลื่อนการพัฒนา ศิลปะตราประทับของจีนเป็นสะพานที่ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมต่าง ๆ ช่วยเผยแพร่อารยธรรมและวัฒนธรรมของประชาชาติจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์ความงดงามแห่งอารยธรรมมนุษย์ “ชื่นชมความงดงามของผู้อื่น เพื่อความงดงามร่วมกัน”
(นางลั่ว เผิงเผิง อธิการบดีวิทยาลัยศิลปะตราประทับ สังกัดสถาบันวิจัยศิลปะแห่งประเทศจีน ผลงานของเธอมีการเก็บสะสมไว้ในหอวิจิตศิลป์แห่งประเทศจีน ราชวิทยาลัยศิลปะของอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเช็ก เป็นต้น)
เขียนโดย ลั่ว เผิงเผิง
แปลโดยอาจารย์ฟาน จูน