ไลฟ์สไตล์

In Theories 14 : ความตายและกามารมณ์มีโฉมหน้าแบบเดียวกัน

The Momentum
อัพเดต 27 ม.ค. 2563 เวลา 19.04 น. • เผยแพร่ 27 ม.ค. 2563 เวลา 18.58 น. • กิตติพล สรัคคานนท์

In focus

  • ฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญร่วมยุคร่วมสมัยกับฌ็อง-ปอล ซาร์ตส์ (Jean-Paul Sartre) และอ็องเดร เบรอตง (André Breton) ผู้นำขบวนการเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) ทั้งยังเป็นไม้เบื่อไม้เมาของเบรอตรงในระยะหนึ่งด้วย
  • เขาเขียนหนังสือหลากหลายแนวตั้งแต่งานปรัชญา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ บทกวีไปจนถึงนวนิยายโป๊ โดยกามารมณ์ (eroticism) เป็นประเด็นที่บาตายให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต
  • ตามกรอบคิดของบาตาย สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ก็คือการที่เราได้ปรับแปลงกิจกรรมการสืบพันธ์ุให้กลายเป็นเรื่องของ ‘กามารมณ์’ ซึ่งเขาได้จำแนกออกเป็น 1) กามารมณ์ในเชิงกายภาพ  2) กามารมณ์เชิงอารมณ์ และ 3) กามารมณ์ในเชิงศาสนา
  • กามารมณ์ในกรอบอธิบายของบาตายมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรง (violence) และการล่วงละเมิด (violation) ซึ่งสิ่งรุนแรงที่สุดสำหรับชีวิตแล้วก็คือ ‘ความตาย’ แม้แต่ในกามารมณ์เชิงศาสนาถึงที่สุดก็ยังเป็นเรื่องของการสละชีวิต (sacrifice)

1

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คำว่า passion ที่เรามักอ้างถึงกันอยู่บ่อยๆ ในทุกวันนี้มีรากศัพท์มาจากคำละติน passio ซึ่งแปลว่า ความทุกข์ทรมาน คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกๆ ในช่วงศตวรรษที่ 10 เพื่อกล่าวถึงความทุกข์ทรมานของพระคริสต์ที่ถูกตรึงกางเขน กลายมาเป็นคำที่ใช้สื่อถึงความปรารถนาแรงกล้าก็เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 14 คำนี้ยังหมายถึง ‘ความปรารถนาทางเพศ’ ในศตวรรษที่ 16 และกว่าจะกลายมาเป็นคำที่เราคุ้นเคยที่หมายถึงความหลงใหลคลั่งใคล้ก็เมื่อย่างสู่ศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการมี passion นั้นจึงเกี่ยวโยงกับความเจ็บปวดและความทนทุกข์ทรมานอันมีรากฐานจากศาสนาคริสต์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความรักและความเสียสละของพระคริสต์ที่ทำให้มนุษย์ทั้งหลายรอดพ้นจากบาปกำเนิด

นั่นทำให้ความรักในมุมมองของนักคิดตะวันตกจำนวนหนึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กับความทนทุกข์ทรมาน กระทั่งมองเห็นความเจ็บปวดนั้นเป็นเครื่องยืนยันของความรักที่เรามี ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ ฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้เห็นว่า ความรักมิได้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่เกี่ยวพันกับความรุนแรง เพศ และความตาย แต่ก่อนจะกล่าวถึงแนวความคิดพิสดารในเรื่องนี้ของเขา เราอาจจำเป็นต้องรู้จักกับตัวตนพื้นฐานของเขาเสียก่อน

2

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนจะกลายมาเป็นนักเขียน-นักปรัชญาที่ส่งทอดอิทธิพลความคิดต่อโลกปัญญาชนฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บาตายเป็นเพียงเด็กหนุ่มผู้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีบิดาเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ซึ่งเขารักและผูกพันมากกว่าผู้ที่เป็นแม่ จนอยู่มาวันหนึ่ง บิดาของเขาล้มป่วยและกลายเป็นคนเสียสติ บาตายก็ยังช่วยเหลือดูแลจวบจนบิดาสิ้นใจ การดูแลบิดาผู้วิปลาสทำให้เขาได้แลเห็นความโหดร้ายทารุณของชีวิต เขาพยายามแสวงหาครอบครัวที่สมบูรณ์กว่าด้วยการเข้าเชื่อเป็นคาธอลิกและอุทิศตนให้กับคริสต์ศาสนาเป็นเวลานานถึง 9 ปี บาตายได้เขียนไว้ในสมุดบันทึกของเขาว่า “ผมต้องการที่จะรับรู้ถึงชีวิตครอบครัวอันอบอุ่นเป็นอุดมคติ –แน่นอนว่าในแบบชาวคริสต์ – โดยที่ยังคงมีความสนุกสนานทางโลก ทั้งในเรื่องทั่วๆ ไป และแบบจริงใจ”

เขาพบรักกับมารี แด็ลเตย (Marie Delteil) บุตรสาวของหมอที่รักษาแม่และน้องสาวเพื่อนสนิทของบาตายที่เขามองว่าเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของชีวิต เพียงแต่การแต่งงานกับเธอกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะครอบครัวแด็ลเตยเกรงว่า เด็กที่กำเนิดจากบาตายอาจนำไปสู่ความวิปลาสเหมือนเช่นบิดาของบาตาย ความสัมพันธ์ระหว่างแด็ลเตยกับเขาสิ้นสุดลงเพียงไม่นาน บาตายก็ละทิ้งความเชื่อแล้วหันไปเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางที่ École Nationale des Chartes ก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสแผนกเหรียญประดับยศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) ในช่วงปี 1940

บาตายเริ่มสนใจวิชาปรัชญาอย่างเข้มข้นและจริงจังก็ภายหลังจากเขาได้รู้จักกับเลฟ เชสตอฟ (Lev Shestov) นักปรัชญาชาวรัสเซียที่อพยพมาประเทศฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษที่ 1920 บาตายได้เข้าฟัง อเลซองดร์ โกแฌฟ (Alexandre Kojève) บรรยายปรัชญาของเฮเกล (Hegel) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อความคิดเขาอย่างมาก และได้มีโอกาสได้พูดคุยกับอ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) ภายหลังจากได้อ่านงานเรื่อง Le Rire (1900) ที่ว่าด้วยเสียงหัวเราะ แต่บาตายก็รู้สึกผิดหวังทั้งตัวตนและผลงานของแบร์กซงเองที่ไม่ได้มีความคิดลุ่มลึกอย่างเพียงพอในการอธิบายเสียงหัวเราะ ซึ่งสำหรับบาตายแล้วเป็นข้อปัญหาทางปรัชญาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับเขา

ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา บาตายได้เริ่มจัดทำวารสารและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เขากลายเป็นหนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญร่วมยุคร่วมสมัยกับฌ็อง-ปอล ซาร์ตส์ (Jean-Paul Sartre) และอ็องเดร เบรอตง (André Breton) ผู้นำขบวนการเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism)

เขาได้สมรสกับซิลเวีย บาตาย (Sylvia Bataille) ดาราภาพยนตร์ชื่อดังและมีลูกสาวกับเธอหนึ่งคน ซึ่งภายหลังจากแยกทางกับบาตายไปแล้ว ซิลเวียก็พบรักกับฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังและมีบุตรสาวด้วยกันกับลาก็องอีกหนึ่งคน (ลูกสาวต่างบิดาทั้งสองคนของซิลเวียต่างก็กลายเป็นนักจิตวิเคราะห์ด้วยกันทั้งคู่)

แม้คนจำนวนมากจะนับรวมบาตายไว้ในขบวนการเซอร์เรียลิสม์ แต่การที่เขาไม่ลงรอยกับเบรอตงแต่แรกพบ ก็ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งเขาเป็นทั้งไม้เบื่อไม้เมาและเป็นหอกข้างแคร่ของขบวนการที่คอยอ้าแขนรับสมาชิกซึ่งถูกขับออกมา หนึ่งในนั้นเช่น อ็องเดร มาสซง (André Masson) มิแช็ล เลรีส์ (Michel Leiris) หรือเรย์มงด์ เกอโน (Raymond Queneau) ที่สนิทสนมกับเขาเพราะมาทำงานที่หอสมุดแห่งชาติแทบทุกวัน อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1935 บาตายได้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชื่อ Counter-Attack ขึ้นมา ซึ่งกลายเป็นว่าเบรอตงและสมาชิกขบวนการเซอร์เรียลลิสต์ส่วนหนึ่งที่ผิดหวังจากพรรคคอมมิวนิสม์ฝรั่งเศสได้มาเข้าร่วมกับบาตายอีกด้วย

บาตายเป็นบรรณาธิการนิตยสารหัวก้าวหน้าอย่าง Acéphale, Document, Critique และผู้ก่อตั้งสังคมวิทยาวิทยาลัย (Collège de Sociologie) ซึ่งเป็นแหล่งรวมของปัญญาชนทั้งนอกและในฝรั่งเศส วอลเทอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) และแม้แต่อเลซองดร์ โกแฌฟก็เคยมาร่วมบรรยาย แต่กระนั้นบาตายก็ไกลห่างจากความเป็นปัญญาชนธรรมดาตรงที่เขามีความเชื่อในเรื่องลึกลับ และหลงใหลการบูชายัญ เล่ากันว่าตอนที่จัดทำนิตยสาร Acéphale ที่แปลว่า ‘ไร้หัว’ ได้ตกลงกันว่าจะต้องมีการสละชีพเพื่อพิธีกรรม ทุกคนต่างก็ยินยอมเป็นเครื่องสังเวย แต่กลับไม่มีใครกล้าลงมือ

บาตายเขียนหนังสือหลากหลายแนวตั้งแต่งานปรัชญา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ บทกวีไปจนถึงนวนิยายโป๊ (pornographic novel) ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุดก็คือ L’histoire de l’œil (1928) หรือ Story of the eye ซึ่งกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่ถูกอ่านและวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง

หน้ารองปกของ L’histoire de l’œil (1928) หรือ Story of the eye ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใช้นามปากกาว่า Lord Auch

หนึ่งในบทตอนที่ผู้อ่านทุกคนต้องจดจำได้ก็คือ ฉากที่นักสู้วัวกระทิงถูกขวิดจนลูกตาหลุดออกจากเบ้า ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของบาตายเมื่อครั้งได้เดินทางไปพำนักในสเปนช่วงเวลาหนึ่ง ความตายของนักสู้วัวกระทิงตรงหน้า ณ ตอนนั้นถือเป็น ‘เหตุการณ์’ ที่เปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตายนับจากนั้นอย่างมากมาย

ในด้านปรัชญา บาตายได้นำเสนอความคิดสำคัญที่เรียกว่า วัตถุนิยมมูลฐาน (base materialism) ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1920-1930 ซึ่งเป็นความพยายามแตกหักกับแนวคิดแบบวัตถุนิยม (materialism) ในเวลานั้น ซึ่งบาตายวิจารณ์ว่ามันเป็นแนวคิดแบบจิตนิยม (idealism) ซ่อนรูป โดยเขาได้ย้อนกลับไปหาแนวคิดของสปิโนซ่า (Spinoza) ในเรื่อง substance ซึ่งความคิดเรื่องวัตถุนิยมมูลฐานได้กลายเป็นอิทธิพลต่อนักคิดในยุคต่อมาไม่ว่าจะเป็นฌิลส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze) หรือฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่อยู่ระหว่างสภาวะทวิลักษณ์ แนวคิดแบบขั้วตรงข้าม (binary-opposition) จึงไม่น่าแปลกใจที่ความคิดของบาตายจะถูกนำกลับมาอ่านและพินิจพิเคราะห์กันใหม่ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 โดยกลุ่มที่ถูกเรียกว่า หลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism)

ไม่เพียงเท่านั้น บาตายยังได้นำเสนอทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ไว้ในผลงาน La Part maudite หรือ ‘หุ้นส่วนคำสาป’ ที่ได้พัฒนามาจากแนวคิดเรื่อง Potlatch ของมาร์แซ็ล โมส (Marcel Mauss) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส La Part maudite เป็นผลงานไตรภาคอันประกอบด้วย ภาคแรก: การบริโภค ภาคสอง: ประวัติศาสตร์ของกามารมณ์ และภาคสาม: องค์อธิปัตย์ ซึ่งแน่นอนว่า กามารมณ์ (eroticism) ได้กลายเป็นประเด็นที่บาตายให้ความสนใจศึกษาและค้นคว้าไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

3

เชื่อกันว่า การดำรงอยู่ของเราคือการ ‘แบ่งแยก’ ตัวเราออกมาจากสิ่งต่างๆ หรือถึงแม้เราจะมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับชีวิตอื่นๆ แต่ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความตายก็เป็นเพียงสิ่งที่เราประสบเพียงลำพัง

‘ช่องว่าง’ ระหว่างชีวิตนี้เองที่บาตายเรียกว่า ความไม่ต่อเนื่อง (discontinuity) แม้เราจะพยายามสื่อสาร และอธิบายด้วยคำพูด ความเห็นอกเห็นใจ แต่ช่องว่างระหว่างการดำรงอยู่นี้ก็ยังคงมีอยู่ หรือมิได้หายไป เหมือนที่เขาได้กล่าวไว้ใน L’Erotisme (1957) หรือ Erotism: Death and Sensuality ว่า “หากเธอตาย นั่นก็ไม่ใช่ความตายของฉัน เธอและฉันต่างก็เป็นชีวิตที่ไม่ต่อเนื่องกัน”

แต่สิ่งน่าฉงนใจและฟังดูเป็นเรื่องที่ยอกย้อนในตัวเองก็คือการที่เขามองเห็นว่าความตายเป็นความต่อเนื่อง (continuity) ของการดำรงอยู่ และการสืบพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตก็คือยืนยันถึง ‘ความไม่ต่อเนื่อง’

ดังที่เราทราบว่าการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายสามารถแบ่งออกเป็นแบบไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) และแบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) ซึ่งการสืบพันธ์ุแบบแรกเริ่มจากเซลส์ต้นกำเนิดซึ่งค่อยๆ แบ่งตัวออกไป ในขณะที่แบบหลังเป็นการผสมกันระหว่างไข่และสเปิร์ม ซึ่งอธิบายตามกรอบคิดของบาตายก็จะพบว่า กระบวนการดำรงอยู่ของเราและแม้แต่สัตว์เซลส์เดียว ต่างก็เป็นการดำเนินไประหว่าง ‘ความต่อเนื่อง’ และ ‘ไม่ต่อเนื่อง’

เพียงแต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ก็คือการที่เราได้ปรับแปลงกิจกรรมการสืบพันธ์ุให้กลายเป็นเรื่องของ ‘กามารมณ์’

กิจกรรมทางเพศของสัตว์เกิดขึ้นเพราะขาดสมดุลบางอย่าง และสภาวะดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต สัตว์อาจไม่เข้าใจ หรือพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่กิจกรรมทางเพศของมนุษย์นั้นกลับมีปัจจัยที่แตกต่างออกไปด้วยกามารมณ์ ซึ่งคงไม่เกินเลยความจริงไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า การก้าวข้ามความเป็นสัตว์ของมนุษย์เรานั้นเกิดมาจาก ‘กามารมณ์’ ซึ่งเขาได้จำแนกออกเป็น 1) กามารมณ์ในเชิงกายภาพ (physical eroticism) 2) กามารมณ์เชิงอารมณ์ (emotion eroticism) และ 3) กามารมณ์ในเชิงศาสนา (religious eroticism) ซึ่งทั้ง 3 แบบล้วนมีความเกี่ยวโยงผูกพันกับตัวเรา หรือ “เป็นแง่มุมหนึ่งของชีวิตด้านในของมนุษย์”

กามารมณ์ในกรอบอธิบายของบาตายมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรง (violence) และการล่วงละเมิด (violation) ซึ่งสิ่งรุนแรงที่สุดสำหรับชีวิตแล้วก็คือ ‘ความตาย’ และแม้แต่ในกามารมณ์เชิงศาสนาถึงที่สุดก็ยังเป็นเรื่องของการสละชีวิต (sacrifice)

‘ความรัก’ ของบรรดาปัจเจกทั้งหลายที่เป็นส่วนประกอบของกามารมณ์ทางอารมณ์อาจสร้างความสุขใจให้กับเรา กระทั่งมีส่วนยับยั้งและแบ่งแยกตัวเองออกมาจากกามารมณ์ทางกายภาพ (ที่เป็นความรุนแรงในตัวเอง) แต่ถึงกระนั้น ความรักก็สามารถนำมาซึ่งความเจ็บปวดใจ/จะต้องสร้างความเจ็บปวดใจ ซึ่งความทรมานนี้ในอีกด้านคือเครื่องพิสูจน์ในความรักที่เรามี เพราะยิ่งมีรักมาก เราก็ยิ่งเจ็บแค้น ดังนั้นแม้ความรักจะไม่เชื่อมโยงกับความตายโดยตรง แต่การพยายามจะครอบครองสิ่งที่เรารักย่อมเกี่ยวพันกับความรุนแรง นี่เป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไม คนรักกันจึงลงมือทำร้ายกัน หรือถึงขั้นเอาชีวิตคนที่ตนรัก เพียงเพราะกลัวว่าเขาหรือเธอจะตกเป็นของผู้อื่น

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ความรักที่เป็นส่วนประกอบของกามารมณ์เชิงอารมณ์จึงเป็นหนทางไปสู่ความรุนแรง และแม้แต่ความตาย ซึ่งในผลงานชิ้นสุดท้าย Les larmes d’Éros (1961) หรือ Tears of Eros ที่ตีพิมพ์ก่อนบาตายจะเสียชีวิตเพียงไม่นานนั้นได้ลงภาพถ่ายชุดหนึ่งของเหยื่อชาวจีนที่ถูกทรมานด้วยการตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะต่างๆ ต่อหน้าฝูงชน ภาพถ่ายนั้นฉายให้สีหน้าของผู้ถูกลงโทษแหงนหน้าดวงตาล่องลอยจนดูราวกับกำลังเคลิบเคลิ้มเป็นสุข โดยบาตายได้อธิบายภาพถ่ายอันน่าสยดสยองนี้ว่า “ภาพแห่งความทารุณที่ด้านหนึ่งดูปีติสุขและอีกด้านยากเกินจะทน” เขาเห็นว่า ภาพดังกล่าวยืนยันให้เห็นว่า ความตายและกามารมณ์มีโฉมหน้าแบบเดียวกัน

Les larmes d’Éros ถูกทางการสั่งห้ามจำหน่ายและกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของบาตายที่ถูกแบน

อ้างอิง:

  • Georges Bataille, Erotism: Death and Sensuality, translated by Mary Dalwood, (San Francisco: City Lights Books, 1986).
  • Georges Bataille, Tears of Eros, translated by Peter Connor, (San Francisco: City Lights Books, 1989).
  • Stuart Kendall, Georges Bataille, (London: Reaktion Books, 2007).
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Tany
    The reason that the convict looked like he was in euphoric stage because he was given large quantity of opium before the slow slicing started.
    28 ม.ค. 2563 เวลา 04.09 น.
ดูทั้งหมด