ทั่วไป

เตรียมรับแรงกระแทกโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลายปี

MATICHON ONLINE
อัพเดต 19 พ.ย. เวลา 09.17 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. เวลา 01.11 น.

เตรียมรับแรงกระแทกโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลายปี

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) รายงานเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เท่าที่มีผลรวบรวมจากทั่วโลกว่า อัตราเพิ่มขึ้นของการติดโรคใน 28 วันที่ผ่านมา สูงขึ้นถึงร้อยละ 20 (www.data.who.int) แสดงให้เห็นถึงการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากเจาะเฉพาะประเทศไทย จะพบตัวเลขสะท้อนภาพความเป็นจริงน่าตกใจซึ่งได้จากการเปิดเผยของ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ว่า นับแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 16 กันยายน ปีนี้ คนไทยติดเชื้อแล้วมากกว่าเจ็ดแสนราย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 ราย เสียชีวิต 205 ราย เป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โควิด-19 ยังน่ากลัวไหม

สำหรับผู้มีสุขภาพร่างกายปกติ การติดโควิด-19 อาจเป็นเรื่องที่ดู “จิ๊บๆ” ไปแล้ว แต่ตรงข้ามกับคนบางกลุ่มโดยสิ้นเชิง นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ร้อยละ 80-90 เป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เรียกว่ากลุ่ม 608 คือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน) รวมทั้งสตรีตั้งครรภ์

สาเหตุที่ทำให้กลุ่มเปราะบางเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วมเพราะว่า 1. เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น 2. เชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่ “เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจเท่านั้น แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ ชี้แจง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ย้ำให้เห็นชัดว่าเป็นที่รับรู้ว่าอันตรายของโควิด-19 กับเรื่องหัวใจนั้น โควิด-19 สามารถทำให้ผู้มีร่างกายปกติ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงได้ “ภาวะดังกล่าวนี้ หากเกิดในผู้ป่วยโรคหัวใจ อาการจะยิ่งเลวร้ายขึ้นและอาจส่งผลให้อาการทรุดหนักจนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้”

รับมือช่วงปลายปี ฤดูระบาดสำคัญของโควิด

เพราะตัวเลขไม่เคยหลอกเรา เมื่อศึกษาจากสถิติแล้ว พบว่าในประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการเดินทาง ผู้คนหนาแน่น ทั้งช่วงสงกรานต์และช่วงปลายปี ซึ่งตามลักษณะของการระบาด ก็พอจะคาดคะเนได้ว่า ในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้จนถึงต้นปีหน้า การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องกลับมาทบทวนความเข้มข้นของมาตรการ DMHT – Distance รักษาระยะห่าง M – Mask Wearing H – Hand Washing และ T – Testing ตรวจ ATK เมื่อมีอาการโรคทางเดินหายใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น ก็เป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรง ลดอัตราการตายได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ “โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 60-70% ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้”

วัคซีนโควิด ทางเลือกที่ปลอดภัยจริงหรือ

หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างเร่งระดมหาวิธีป้องกันและลดอัตราการตายจากโรคจนมีวัคซีนหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ยังเกิดข้อกังขาและกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนอย่างวัคซีนชนิด mRNA ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่จนไม่น่าไว้วางใจ ในความเป็นจริงแล้ว โลกเราคุ้นเคยกับวัคซีนชนิด mRNA มาเป็นเวลานาน หลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่

วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยการสังเคราะห์รหัสพันธุกรรมสำหรับการสร้างโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรคโควิด-19 เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย mRNA จึงไม่ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนป่วยเป็นโรคโควิด-19 แต่ร่างกายจะรู้จักส่วนสำคัญที่สุดของไวรัส และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านไวรัสนี้ได้ ซึ่งกลไกพื้นฐานในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็ไม่ได้แตกต่างไปจากวัคซีนชนิดอื่น ๆ วัคซีน mRNA ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนประเภทอื่นๆ ซึ่งในประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน โดยไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วกี่เข็ม

ต่อกรณีข่าวหรือความคิดเห็นที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดต่ออวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นตรงกันว่า วัคซีนโควิดมีความปลอดภัยและมีอันตรายน้อยกว่าการป่วยด้วยโรคโควิด

สำหรับเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ ชี้แจงว่าการติดเชื้อโควิด กระตุ้นให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้และบ่อยกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

“จากการเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทย มีรายงานว่าพบการเกิดกล้ามเนื้อหัวอักเสบได้ประมาณ 2 ในล้าน ซึ่งพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในวัยรุ่นชายอายุ 18-29 ปี โดยเฉพาะหลังเข็มที่สอง แต่หลังเข็มกระตุ้น แทบจะไม่พบการรายงาน โดยถ้าเทียบกับอุบัติการณ์ที่เราพบในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พบว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นหลังเข็มกระตุ้น ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงจึงไม่น่ากังวลในจุดนี้ เมื่ิอเทียบกับประโยชน์” พล.ต.ต.นพ. เกษม กล่าว

ทั้งนี้ในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารอยู่มากมาย ทั้งข้อมูลจริง และข่าวปลอมที่อาจทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด การจะเชื่อในข้อมูลใด ๆ ควรต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ทั้งหน่วยงานรัฐ เช่นกระทรวงสาธารณสุข หรือสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

พวกเราอาจเคยมีประสบการณ์ติดโควิด-19 กันแล้ว บางคนอาจรู้สึกว่า “มันก็ไม่เท่าไหร่” นับว่าเป็นโชคดีที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่มีอีกหลายคนในประเทศ หรือแม้กระทั่งคนในบ้านของเราเองไม่ได้โชคดีอย่างนั้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ที่เมื่อติดเชื้อขึ้นมา จะกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะเชื้อโรคส่งผลกระทบร้ายแรงอันตรายต่อโรคที่เป็นอยู่ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนอาจถึงแก่ชีวิต ดังนั้น มาตรการป้องกันต่างๆ รวมทั้งการฉีดวัคซีนโควิด น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมดังคำที่ว่าการป้องกันมีราคาถูกกว่าการรักษา เพื่อทำให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างเข้มแข็งและปลอดภัย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เตรียมรับแรงกระแทกโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลายปี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th

ดูข่าวต้นฉบับ