ทั่วไป

อิทธิพลมืด 'คลุม' เขาแดง / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 07 เม.ย. 2565 เวลา 09.57 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2565 เวลา 00.00 น.

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

btawesak@gmail.com

 

อิทธิพลมืด ‘คลุม’ เขาแดง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

นึกไม่ถึงว่า ยุคดิจิตอลที่ผู้คนต่างก้มหน้าตากับการใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเข้าสู่โลกเสมือนจริง แต่กลุ่มนายทุนใน จ.สงขลายังใช้พฤติกรรมเต่าล้านปี ขนเครื่องจักรกล รถแบ๊กโฮ รถแทร็กเตอร์บุกตัดต้นไม้ แผ้วถางทางทำถนนขุดบ่อลูกรังในพื้นที่โบราณสถานหัวเขาแดง ซึ่งมีคุณค่าสำคัญทางประวัติศาสตร์จังหวัดสงขลา มิหนำซ้ำยังแสดงอิทธิพลมืดข่มขู่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

กรมศิลปากรขึ้นทะเบียน “หัวเขาแดง” ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.สิงหนคร จ.สงขลา พื้นที่กว่า 2,400ไร่ เป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 หลังพิสูจน์แล้วที่นั่นคือหนึ่งในฐานรากประวัติศาสตร์สงขลา เป็นศูนย์กลางการค้าเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับชาวยุโรป อินเดีย เปอร์เซีย มีชื่อปรากฏในเอกสารโบราณว่า “Singora” เพี้ยนมาจาก “สิงหนคร” หรือสิงขร แปลว่าภูเขา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21หรือราว 300 กว่าปี บริเวณหัวเขาแดงเป็นฐานที่มั่นของสุลต่าน ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ ได้รับแรงสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมอังกฤษในยุคนั้นช่วยสร้างป้อม คูเมือง ประตูหอรบแน่นหนา แสดงปฏิกิริยาแข็งข้อไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

ปี พ.ศ.2223 สมเด็จพระนารายณ์ส่งกองทัพไปสู้รบแย่งชิงเมืองสงขลากลับคืนมา แต่บ้านเรือนเสียหายหนัก ต้องย้ายเมืองสงขลาไปตั้งที่แหลมสน ส่วนหัวเขาแดง กลายเป็นที่ตั้งกองทหาร

สมเด็จพระนารายณ์ให้เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ นายช่างใหญ่ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ปรับปรุงป้อมปราการเสริมความแข็งแกร่ง รวม 18 ป้อม เตรียมไว้รับมือกับกองเรือฮอลันดาและโจรสลัด

เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ปรับปรุงเมืองสงขลาแล้วเสร็จได้เขียนผังเมืองเอาไว้เป็นหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ พ.ศ.2234

 

หลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้พม่า เจ้าพระยานครดูแลเมืองสงขลาประกาศตั้งตัวเป็นใหญ่ พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบจนราบคาบแล้วตั้ง “จีนเหยี่ยง แซ่เฮ่า” นายอากรรังนกเป็นเจ้าเมืองพร้อมกับราชทินนาม “หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ” ซึ่งเป็นต้นตระกูล ณ สงขลา

ในครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ยกทัพมาปราบกบฏไทรบุรี และตั้งทัพที่เมืองสงขลา เมื่อปราบกบฏได้แล้ว ได้จัดสร้างพระเจดีย์บนหัวเขาแดง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองก่อด้วยหินฉาบปูนส่วนยอด ชาวบ้านเรียกว่า “เจดีย์องค์ดำ”

ต่อมาเกิดเหตุการณ์กบฏเมืองไทรบุรี ปัตตานี ปีนัง และมลายูอีกครั้ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) น้องชายร่วมมารดาเดียวกันกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ยกทัพมาปราบได้สำเร็จและรับราชการเมืองสงขลา ระหว่างนั้นได้สร้างพระเจดีย์อีกองค์คู่กัน ชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์ขาว

รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายเมืองสงขลาไปตั้งที่ ต.บ่อยาง ฝั่งทะเลสาบตรงข้ามกับเมืองสงขลาแหลมสน

เรื่องราว “สงขลา” อย่างนี้แค่ได้ยินได้ฟังก็ตื่นตาตื่นใจ ถ้าคลี่ขยายรายละเอียดในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์จะเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจยิ่งกว่านี้แน่

ประวัติศาสตร์สร้างเสน่ห์ให้กับ “หัวเขาแดง” และเมืองสงขลาในวันนี้

แต่ได้เกิดเรื่องน่าอัปยศอดสูเมื่อกลุ่มนายทุนที่เกิดมาบนรากฐานประวัติศาสตร์กลับเหยียบย่ำทำลายประวัติศาสตร์ตัวเอง ทั้งยังหยิบยืมมือเจ้าหน้าที่ แอบอ้างอิทธิพลและอำนาจมืดบุกทำลายพื้นที่โบราณสถานขุดเอาดินลูกรังไปขายหาประโยชน์เข้าตัว

ที่น่าอัปยศอดสูยิ่งกว่า ก็คือไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐใน จ.สงขลากล้าขยับเอาผิดทั้งๆ ที่มีผู้เห็นเหตุการณ์ได้ร้องเรียนพฤติการณ์ของกลุ่มนายทุนดังกล่าวมานานแล้ว

“พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เมื่อกลางปี 2564 เดินทางเข้ามารับตำแหน่งและได้รับรู้ถึงพฤติการณ์ของนายทุนทำลายโบราณสถาน “หัวเขาแดง” จึงรวบรวมข้อมูลหลักฐานพร้อมกับนำกำลังเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบ

กลุ่มนายทุนพยายามขัดขวางพร้อมกับการใช้อิทธิพลข่มขู่ แต่ “พงศ์ธันว์” ยืนหยัดปกป้องแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างหนักแน่นมั่นคง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “พงศ์ธันว์” หอบหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายทุนที่ สภ.สิงหนคร จ.สงขลา

เป็นหลักฐานบ่งชี้ให้เห็นว่า โบราณสถาน 2 จุดใหญ่ที่มีการบุกรุกทำลายไปแล้ว

 

จุดแรกอยู่ในเขตโบราณสถานที่มีประกาศขึ้นทะเบียนไว้ กลุ่มผู้บุกรุกตัดต้นไม้เกลี่ยดินทำถนนกว้าง 4 เมตร ยาว 2 กิโลเมตร ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 7 ไร่ มีปริมาตรดินที่สูญเสียไปกว่า 150,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,050,000 บาท

อีกจุดอยู่ในพื้นที่โบราณสถานหัวเขาแดง ตรวจสอบพบบริเวณด้านหลังป้อมปราการหมายเลข 9 มีการขุดทำถนนยาว 200 เมตร และบนยอดเขาแดงพบฐานเจดีย์องค์ดำถูกขุดทำลาย

จุดที่ 2 นี้ประเมินความเสียหาย ราว 5 ไร่ ปริมาตรดินที่สูญเสียไปประมาณ 24,000 ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่า 4,008,000 บาท และเกิดการพังทลายหน้าดินถูกชะล้าง เสียหายอย่างต่อเนื่อง

“พงศ์ธันว์” ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าหลังจากเข้าไปตรวจสอบ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรถูกข่มขู่ ทั้งที่ทำงานตามกฎหมาย

หนึ่งเดือนผ่านไป การสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนผู้บุกรุกเป็นไปอย่างล่าช้าอืดอาดจนผิดสังเกต แม้มีการแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานปราบทุจริต ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ป.ป.ท. เขต 9 หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เขต 9

แต่ทั้งสองหน่วยงานตรวจสอบไม่มีเสียงตอบรับราวกับไม่เคยรู้ไม่เคยล่วงรู้พฤติการณ์นี้มาก่อน

ทั้งๆ ที่สภาพพื้นที่โบราณสถานที่ถูกทำลายสามารถมองเห็น “หัวเขาแดง” ได้จากระยะไกลมีรอยแหว่งเกิดจากรถแทร็กเตอร์ แบ็กโฮ ขุดไถทำถนน

การปล่อยเกียร์ว่างของหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ ทำให้ชาวสงขลาปักใจเชื่อว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้พัวพันกับนักการเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติจึงไม่กล้าขยับตัว

 

ข่าวการบุกรุกโบราณสถาน “หัวเขาแดง” ดังกระหึ่มโหมกระพือ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เจ้าของฉายาบิ๊กโจ๊ก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมลงไปตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลาย พบว่าฝ่ายบุกรุกต้องการปรับพื้นที่เพื่อใช้เลี้ยงสุนัข 200-300 ตัว

ชาวบ้านฟังแล้วอึ้ง พฤติการณ์ของนายทุนที่อุกอาจเหิมเกริมถึงขั้นบุกรุกทำลายโบราณสถานแหล่งประวัติศาสตร์ของชาวสงขลาเอามาทำเป็นโรงเลี้ยงสุนัข

“บิ๊กโจ๊ก” ยอมรับตรงๆ ว่า ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐจะทำไม่ได้แน่นอน จึงเป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน

คำถามที่ตามมา เมื่อรู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง กลุ่มนายทุนเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติ แล้วไงต่อ?

หรือเรื่องจะเขี่ยให้ไปจบที่คนขับรถแทร็กเตอร์ รถแบ็กโฮ เพียงแค่นั้น? •

ดูข่าวต้นฉบับ