ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เพชรบุรีเสนอ ลิงแสม พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง เหลือแค่พระราชบัญญัติป้องกัน

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 28 ก.ค. 2566 เวลา 13.34 น. • เผยแพร่ 28 ก.ค. 2566 เวลา 08.04 น.
ภาพจาก มติชน

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ประชุมกรรมการจังหวัด มีมติตรงกัน ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถอด “ลิงแสม” ออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะถูกลิงแสมก่อเหตุลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ทำร้ายร่างกายในเชิงประจักษ์

วันนี้ 28 กรกฏาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันบริเวณเขาวัง (อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี) ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองเพชรบุรี มีลิงแสมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีพฤติกรรมการหากินและการดำรงชีวิตที่สร้างความเดือดร้อนรบกวนประชาชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาลิงแสมต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ได้อาศัยอยู่ในป่าแล้วแต่มาอยู่ในชุมชน สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ทำให้ทรัพย์สินถูกลักขโมย วิ่งราวทรัพย์ แย่งของต่อหน้าทั้งเด็กและผู้หญิง แสดงการข่มขู่เกรี้ยวกราดรุนแรง ประชาชนและนักท่องเที่ยวสุ่มเสี่ยงที่จะถูกลิงทำร้าย

ทั้งนี้ การประชุมกรรมการจังหวัดต่างมีมติตรงกัน ขอให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุณาถอดลิงแสมออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการต่าง ๆ กับลิงนี้ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประกอบกับจังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวหลายท่านพอมาเจอเหตุการณ์ เจอปัญหาลิงทำร้าย ลิงแย่งของ ก็คงไม่อยากจะมาอีก

นายณัฏฐชัยกล่าวว่า ในแต่ละอำเภอของ จ.เพชรบุรี จะมีประชากรลิงไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 ตัว โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองเพชรบุรี ซึ่งมีจำนวนลิงในพื้นที่ เขาวัง เขาหลวง และพื้นที่อื่น ๆ โดยมีมากกว่า 3,000 ตัว และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการสำรวจข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2566 พบว่ามีจำนวนลิงแสมทั้งหมดประมาณ 9,500 ตัว แต่การสำรวจ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66 พบว่ามีลิงแสมมากกว่า 12,000 ตัว และปัจจุบันคาดว่ามีมากกว่า 20,000 ตัว ทำให้ส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ของประชาชนและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ทำหมันลิงแล้วแต่แก้ปัญหาไม่ได้

ปัจจุบันลิงแสมมีสถานภาพทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 การดำเนินการควบคุมดูแล หรือการดำเนินการอื่น ๆ ทำได้ยากเพราะติดในเงื่อนไขข้อกฎหมาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี ได้ดำเนินการควบคุมประชากรลิงแสมโดยวิธีการทำหมันมาตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร การปลดลิงแสมออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง จะทำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันไม่ต้องกังวลว่า ลิงแสมจะถูกทำร้าย เพราะแม้ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ก็มี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ดูแลอยู่ ขณะนี้ได้ลงนามในหนังสือเพื่อยื่นเสนอขอปลดลิงออกจาก พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองฯ ต่อกระทรวงทรัพยากรฯ แล้ว

ลิงแสม สัตว์ป่าคุ้มครอง

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุไว้ว่า “สัตว์ป่าคุ้มครอง” คือ สัตว์ป่าตามที่กระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีรายชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายของกฎกระทรวง ประกอบด้วยสัตว์ป่าประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด

โดยสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หมายถึง สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากร ของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

สำหรับ “ลิงแสม” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ ประชาชนที่ประสงค์จะเพาะพันธุ์ต้องยื่นคำขอ และต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การล่าหรือทำอันตรายลิง เป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หากฝ่าฝืนต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยการกระทำที่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เช่น การเฆี่ยนตี การกระทำให้สัตว์เจ็บปวด พิการ หรือตาย การกักขังสัตว์ไว้ในที่คับแคบ การทอดทิ้ง
สัตว์เพื่อให้พ้นภาระ การจงใจทำให้สัตว์ทุกข์ทรมานจากการงดให้อาหาร น้ำ หรือขาดการพักผ่อน การฝึกสัตว์อย่างทรมานเพื่อนำไปแสดง หรือการใช้สัตว์ประกอบกามกิจ เป็นต้น

สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้น ถือเป็น “การกระทำทารุณกรรมสัตว์” ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งหากมีผู้ใดกระทำการทารุณกรรมสัตว์ย่อมมีความผิดและต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ดูข่าวต้นฉบับ