ภูมิภาค

เรียนรู้ "วาดฝัน" ของเด็กไร่ส้มวิทยา

MATICHON ONLINE
อัพเดต 09 ธ.ค. 2565 เวลา 10.47 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2565 เวลา 08.59 น.

เรียนรู้ ‘วาดฝัน’ ของเด็กไร่ส้มวิทยา

เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ ดังขึ้นตั้งแต่ฟ้าเริ่มสาง บางกลุ่มกำลังเตะฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน บางส่วนวิ่งไล่จับกัน บางส่วนกำลังนั่งรอบกองไฟเพื่อคลายหนาว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บรรยากาศรอบๆ โอบล้อมไปด้วยสายหมอก ด้านหนึ่งเป็นสวนส้มขนาดใหญ่ที่มีถนนกั้นกลาง อีกด้านหนึ่งเป็นทุ่งนาแม้ไม่ถึงกับเป็นทุ่งรวงทองแต่ก็พอชูช่อเมล็ดข้าวไว้ให้ได้เก็บเกี่ยว

ที่นี่คือศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับเด็กตกหล่นจากการศึกษาไทย โดยมีนักเรียนอยู่ราวกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวไทใหญ่ที่ติดตามพ่อแม่อพยพข้ามแดนมาจากฝั่งรัฐฉาน ประเทศพม่า เพื่อขายแรงงานอยู่ตามสวนส้ม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“สนุกดีครับ” ทองชอบ นั่งอยู่ข้างกองไฟให้คำตอบสั้นๆ เมื่อถามถึงกิจกรรมค่ายอาสาวาดฝันครั้งที่ 2 ที่มาจัดกิจกรรมต่างๆ เพิ่มพูนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการวาดการ์ตูนมังงะ การทำอาหาร การเพนต์จานรองแก้ว

“ทองชอบ” อายุ 15 ปี เขาอพยพตามพ่อแม่มาอยู่ในสวนส้มเมื่อหลายปีก่อน เขาเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 ซึ่งตอนนั้นเขาอายุเกือบ 10 ขวบแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ตอนอยู่ฝั่งนู้นผมเรียนอยู่ชั้น ป.2 แต่การเรียนการสอนไม่เหมือนที่นี่ ที่นั้นเขาเข้มงวดมาก หากไม่ทำตามก็ถูกตี”

ทองชอบ พูดและอ่านภาษาไทยได้ชัดเจนเพราะเรียนในระบบการศึกษาไทยมาแล้ว 5 ปี จนทำให้เขาดูกลมกลืนเหมือนกับเด็กไทยทุกประการ เพียงแต่ปัจจุบันเขาเป็นเด็กกลุ่มตัว G (นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย แต่มีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา)

พ่อแม่ของทองชอบมีลูก 4 คน เขาจึงมีภาระที่ต้องช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งหากเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไป เขาอาจไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ลงตัวและท้ายสุดก็ต้องออกจากระบบการศึกษา แต่ในสถานศึกษาแห่งนี้ เขายังคงช่วยเหลือครอบครัวไปพร้อมๆ กับการเรียน

“แม่มีรายได้วันละ 190 บาท พ่อ 230 บาท แต่ต้องเลี้ยงลูกหลายคน ถ้าผมไปโรงเรียน ครอบครัวคงไม่พอใช้จ่าย แต่มาเรียนที่ไร่ส้มวิทยา ผมสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ แถมเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายอะไร” ทองชอบ รู้สึกสบายใจที่ได้เรียนที่นี่ และสนุกทุกครั้งที่มีค่าย

“ผมฝันอยากเป็นนักวาดรูปครับ” เขาตอบแบบเขินๆ เมื่อถามถึงอนาคต

กว่าที่ ทองชอบ จะมาถึงในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลยมาก่อน และเข้าเรียนในระบบการศึกษาที่แตกต่าง

“ศูนย์การเรียนที่นี่ไม่ได้สนใจว่าเด็กมาจากไหน”

วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เข้าใจดีถึงสภาวะการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ชายแดน ดังนั้นเขาจึงพยายามเข้าไปเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่มีข้อจำกัด

“พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติบอกไว้ชัดเจนว่าต้องจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศ เด็กๆ กลุ่มนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้านติดตามครอบครัวเข้ามาทำงานอยู่ในไร่ส้ม เราควรหาช่องทางให้พวกเขาได้เรียนเพราะพวกเขาคืออนาคต” วีระบอกถึงความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้

เขาต้องใช้พลังอย่างมากกว่าที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาจะเป็นรูปเป็นร่าง เพราะที่นี่ไม่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล แต่โชคดีที่ชุมชนเข้าใจ ขณะที่ผู้ใหญ่ใจดีจำนวนไม่น้อยมองเห็นในสิ่งที่เขากำลังเดินหน้าจึงร่วมกันลงทุนและลงแรงช่วยเหลือ วีระจึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อกับชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงภาคส่วนต่างๆ

“ผมมองว่า หากเราจับมือกับชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ ศูนย์การเรียนจะไปได้ดี เพราะทุกฝ่ายช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจว่าทำไมถึงไม่ได้รับการสนับสนุนรายหัวจากกระทรวงศึกษาธิการ” อุปสรรคเป็นประสบการณ์ทำให้ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาเห็นถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากกิจกรรมค่ายอาสาวาดฝัน ที่ทีมวิทยากรยกคณะมาจากกรุงเทพฯเพื่อมาให้ความรู้กับเด็กๆ ไร่ส้มฟรีแล้ว กลุ่มชาวบ้านที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนได้มาร่วมกันเกี่ยวข้าวในผืนนาของศูนย์การเรียนฯ

ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มหนึ่งได้อาสามาช่วยพัฒนาพื้นที่ เช่น ปลูกผัก ตัดหญ้า ขุดลอกคูคลอง กันอย่างสนุกสนาน เมื่อหลายฝ่ายร่วมจิตร่วมใจกัน การก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องยาก

“ที่ชอบมากคือเด็กๆ ที่นี่เขามีความตั้งใจมากกว่าเด็กในเมืองอีก เขามีความพยายาม”

ครูสายป่านของเด็กๆ หรือ อรนลิน อิ่มใจ เล่าถึงการเป็นจิตอาสามาเติมฝันจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนไร่ส้มวิทยา

“อย่างการวาดการ์ตูนมังงะ ถ้าไม่ใช้ความพยายามจริงๆ ก็มักยอมแพ้ไปก่อน แต่เด็กๆ ที่นี่ตั้งใจมาก”

ในวัยเด็กครูสายป่านเรียนที่โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่งใน กทม.จากนั้นจึงเข้าสู่การเรียนโฮมสคูล เมื่อค้นพบความฝันของตัวเองว่าอยากเป็นนักวาดการ์ตูน ทางครอบครัวจึงสนับสนุนเต็มที่โดยเตรียมการให้เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย

หลังจากนั้นสายป่านได้เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย OSAKA SEIKEI ซึ่งเป็นนักศึกษาไทยคนแรกที่เรียนแผนกนี้โดยตรง เมื่อกลับมาเธอได้เปิดอาร์ต เลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ ที่บ้าน พร้อมกับการเขียนการ์ตูนอยู่หลายเล่ม

“ถ้าเราวาดอยู่คนเดียว เราก็รู้อยู่คนเดียว เลยคิดว่าเราไปสอนคนอื่นให้วาดการ์ตูนเป็นด้วยดีกว่า จะได้มีคนวาดการ์ตูนเป็นเยอะๆ” เธอเล่าถึงที่มาของการเดินสายเผยแพร่สอนวาดการ์ตูน

“ประสบการณ์ที่เราไปอยู่ญี่ปุ่นทำให้รู้ดีว่า การเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 เป็นอย่างไร มันเหมือนเป็นคนไม่มีตัวตนอยู่ในสังคมนั้น แค่มีใครมาหยิบยื่นโอกาสให้ เราก็ดีใจสุดแล้ว” ครูอาสาสะท้อนความรู้สึกที่มาสอนเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ในไร่ส้มวิทยา

แสงแดดจ้าเข้ามาแทนที่สายหมอกที่รายรอบศูนย์การเรียนรู้ไร่ส้มวิทยา ขณะที่ชาวบ้านช่วยกันตีข้าวที่เกี่ยวเสร็จให้ออกจากรวง แม้ได้ปริมาณข้าวเปลือกไม่มาก แต่ความร่วมไม้ร่วมมือกลายเป็นความร่วมใจเพื่อตอนแทนสถานศึกษาของลูกหลาน

มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มเมื่อได้เห็นผลงานการฝึกวาดการ์ตูน การทำขยมและอื่นๆ ของเด็กๆ จากกิจกรรมค่ายอาสาวาดฝัน

ในมุมเล็กๆ ในพื้นที่ชายแดนเด็กเปราะบางกลุ่มหนึ่งได้รับโอกาสเรียนรู้และเริ่มต้น “วาดฝัน” ของตัวเองจากผู้ใหญ่ใจดี แต่การสานฝันให้เป็นจริงได้หรือไม่ยังเป็นเรื่องอีกยาวไกล ที่สำคัญคือสังคมไทยจะให้โอกาสพวกเขาหรือไม่

ดูข่าวต้นฉบับ