การเมือง

'ส่งเสริมการศึกษา’ หรือ ‘ครอบงำ’ เมื่อร่างกฎหมายให้อิสระโดยไร้ทางเลือก

VoiceTV
อัพเดต 11 ม.ค. 2566 เวลา 05.49 น. • เผยแพร่ 10 ม.ค. 2566 เวลา 18.16 น. • กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์

หลังร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ถูกปรับแก้เนื้อหามาแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะถูกกำหนดข้อปฏิบัติ และรายละเอียดการเรียนการสอน ที่ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่จะพัฒนากรอบความคิด และเสริมสร้างพัฒนาเยาวชนไปในทิศทางใด

เมื่อกางข้อมูลที่เป็นข้อถกเถียงที่ผ่านมา คือการจัดระบบการศึกษาที่มุ่งหวังให้พัฒนาและฝึกฝนการเรียนรู้ ทว่ายังมีข้อกังวลเรื่องกำหนดหลักสูตรให้แต่ละช่วงวัยเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงมิติความคิดที่แตกต่างของเด็กแต่ละคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เช่นเดียวกับการแต่งตั้งฝ่ายบริหารจากกระทรวงต่างๆเข้ามาเป็น ‘ซูเปอร์บอร์ด’ ในนาม ‘คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ’ ที่มีอำนาจอยู่เต็มมือ และยังมีผลผูกพันต่อการลงโทษทางกฎหมาย ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมติของซูเปอร์บอร์ดชุดนี้

‘วอยซ์’ ชวน‘ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ หรือ‘ครูทิว’ จากกลุ่มครูขอสอน ผู้กำลังเผชิญความหลากหลายผ่านข้อจำกัด ร่วมสะท้อนทัศนะหากร่างฉบับนี้ผ่านมติของสภาฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ตีกรอบ-ไม่หยื่นหยุ่น-ไร้อิสระ

‘ครูทิว’ แสดงความกังวลว่า หัวใจของการออกกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ คือการจะทำให้เห็นระบบการศึกษาในทุกรูปแบบ ทว่ามาตรา 8 ได้ระบุรูปแบบการสอนตามช่วงวัย ซึ่งครูทิวมองว่าควรจะระบุเนื้อหาไว้กว้างๆ และยืดหยุ่น

“ไม่ควรล็อกสเป็กการสอนที่แฝงชุดคุณค่าบางอย่าง ที่รัฐจะกำหนดว่าให้เชื่อแบบนี้ ซึ่งมองว่าคุณค่าของการศึกษาควรจะเป็นของทุกกลุ่มในสังคม ดังนั้นควรจะถูกพิจารณาอีกครั้งไหม”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ประเด็นข้อกังวลที่ 2 เรื่อง ‘ครูผู้สอน’ ยังมีการอยู่ในระบบรวมศูนย์ โดยไม่เห็นแนวคิดกระจายอำนาจให้โรงเรียนหรือท้องถิ่น

ขณะประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับ ‘ซูเปอร์บอร์ด’ คือการรวบอำนาจและเพิ่มอำนาจในคราวเดียวกัน โดยการให้ซูเปอร์บอร์ดตัดสินใจในเรื่องกำหนดการศึกษา

“แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ที่มาของซูเปอร์บอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกแต่งตั้งโดยตำแหน่ง และอาจถูกผูกขาดจากคนกลุ่มได้กลุ่มหนึ่ง”

คิดปฏิรูปจริงต้องกระจายอำนาจ

‘ครูทิว’ ยังมองว่าหากจะแก้ปัญหาโครงสร้าง ถ้ามีแนวคิดปฏิรูปจริงต้องปรับขนาดส่วนกลางตามภูมิภาคให้เล็กลง และกระจายทรัพยากรให้มากขึ้น

“ควรจะมุ่งไปที่เรื่องการปรับโครงสร้าง รวมไปถึงการให้น้ำหนักในระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษามากขึ้น จึงมองว่าหรือไทยควรจะมีบัญญัติกำกับ เช่น บัญญัติกำกับการศึกษาพื้นฐาน และตัวระบอบการศึกษาแห่งชาติ ควรมีเนื้อหาที่ระบุไว้กว้างๆว่าการศึกษามีกี่แบบ รวมถึงมีเป้าหมายในการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้”

สำหรับข้อเสนอต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ‘ครูทิว’ มองว่าควรจะสร้างกลไกที่ยืดหยุ่น ตั้งเป้าหมายไว้ให้สถานศึกษาแต่ละพื้นที่มีอิสระ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก

“การที่ระบุว่าให้อิสระ ไม่ทราบได้ว่าจะเป็นเพียงตัวอักษรหรือไม่ เพราะสิ่งที่หายไปคือการยกระดับการศึกษาหรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้พูดถึง รวมถึงเรื่องสวัสดิการส่งเสริมการเรียนรู้หรือการคุ้มครองเด็ก

“สุดท้ายตัวโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการก็ถูกทิ้งไว้ ซึ่งควรจะทำส่วนกลางให้เล็กและกระจายพื้นที่ในโรงเรียนให้มากขึ้น”