ไอที ธุรกิจ

มาแน่! รถไฟฟ้าสาย ‘สีเหลือง-ชมพู’ เปิดบริการเต็มรูปแบบ ปี 66 เชื่อมต่อกว่า 163 เส้นทาง

The Bangkok Insight
อัพเดต 03 พ.ย. 2565 เวลา 11.52 น. • เผยแพร่ 03 พ.ย. 2565 เวลา 11.52 น. • The Bangkok Insight

รถไฟฟ้ามาหาถึงชานบ้าน "เหลือง-ชมพู" ให้บริการแน่ ปีหน้าเต็มรูปแบบ พร้อมปรับรถเมล์รองรับรถไฟฟ้า อำนวยความสะดวกประชาชน เชื่อมต่อกว่า 163 เส้นทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู มีความคืบหน้าอย่างมาก จึงได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การขอพระราชทานนามแนวเส้นทาง และการสื่อสารสาธารณะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
รถไฟฟ้า

สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) การก่อสร้างคืบหน้า 96.79% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวนส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) คืบหน้า 92.28% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 34 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน ทั้ง 2 เส้นทางมีแผนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2566

ปัจจุบัน หน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบ และประเมินความพร้อมของงานโยธา และงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการให้แก่ประชาชนต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู

ก่อนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 59 เส้นทาง ได้ปรับเพิ่มเป็น 81 เส้นทาง และสายสีชมพู เดิมมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อ จำนวน 50 เส้นทาง ได้ปรับเพิ่มเป็น 82 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อการเดินทาง
ให้แก่ประชาชน

นายศักดิ์สยาม ยังสั่งการให้คณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ดำเนินการดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. คณะอนุกรรมการด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพ ให้ประสานผู้รับสัมปทานก่อสร้าง เพื่อกำกับ และติดตามการดำเนินการก่อสร้างให้ปลอดภัยสูงสุด จัดการจราจรให้มีผลกระทบต่อการเดินทางประชาชนน้อยที่สุด เช่น การคืนพื้นที่ผิวจราจรจากการก่อสร้าง และให้ทดลองเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ศึกษารูปแบบจากรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

รวมถึง ให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสาย และการเดินทางสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ ให้มีความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ เช่น ทางเดินที่มีหลังคา

รถไฟฟ้า

2. คณะอนุกรรมการด้านราคาค่าโดยสาร และบัตรโดยสาร ให้พิจารณารูปแบบการคิดคำนวณค่าโดยสาร โดยเปรียบเทียบกับวิธีการของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และการใช้บัตรโดยสารร่วม

ประสานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเร่งรัดประชาสัมพันธ์บัตรโดยสารแก่ประชาชน

3. คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ ให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทาง และ ต่อเนื่อง

4. คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการ ขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการ ให้ดำเนินการขอพระราชทานนามสำหรับทั้ง 2 โครงการ และพิจารณาขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ สำหรับประดิษฐานบริเวณอาคาร หรือสถานีของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู

โดยปฏิบัติตามขั้นตอน และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมในการติดตั้งป้ายชื่อสถานี เมื่อได้รับพระราชทานชื่อแนวเส้นทาง

รถไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ดูข่าวต้นฉบับ