เปิด "ฐานเงินเดือน" ปี2565 อาชีพ โปรแกรมเมอร์ การเงิน นักบัญชี มาแรงในปีนี้ ผู้บริหารระดับสูงขยับฐานเงินเดือนจาก 5แสน เป็น 7แสน
สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดแรงงานทุกองค์กร ต่างต้องเร่งขยับ และปรับธุรกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น จนทำให้ตลาดแรงงานขาดแคลนคนเก่ง รวมถึงเรื่องการเงินที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้คุ้มค่า เพื่อแสวงหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง กล่าวกันว่า ประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออัตราค่าจ้าง หรือ "ฐานเงินเดือน" ปี2565 ที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อดึงดูดคนเก่งที่มีทักษะดิจิทัล หรือ จะปรับลดลงเพื่อบริหารจัดการเงินทุนให้คุ้มค่า
กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร จึงเปิดตัว Salary Guide 2022 ที่เผยข้อมูลอัตรา "เงินเดือน" หรือ "ฐานเงินเดือน" ข้อมูลปี 2564 ในสายอาชีพต่าง ๆ จากบริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของอเด็คโก้กว่า 3,000 บริษัท โดยพบว่าภาพรวมอัตราเงินเดือนเริ่มต้นมีการขยับลดลงจากปีก่อน แต่ในหลายตำแหน่งงานกลับมีเพดานเงินเดือนที่สูงขึ้น
การเงิน-ไอทีดิจิทัล เงินเดือนพุ่ง
ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า Adecco Salary Guide คือคู่มือ "ฐานเงินเดือน" ที่บริษัทจัดทำขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2014 โดยรวบรวมเงินเดือน และอัตราเงินเดือนจากบริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของอเด็คโก้กว่า 3,000 บริษัท ที่ครอบคลุมทั้งสายงานขายและการตลาด สายงานไอทีและดิจิทัล สายงานวิศวกรรมและเทคนิค สายงานอุตสาหกรรม สายงานที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น และตำแหน่งงานสำนักงานทั่วไป
โดยแบ่งเป็นตำแหน่งระดับต้น ตำแหน่งระดับกลาง จนถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรในการวางแผนโครงสร้างเงินเดือน และค่าตอบแทนที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไปในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสมัครงาน
สำหรับภาพรวมการจ้างงาน และอัตรา "เงินเดือน" ปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะตลาดแรงงานมีผู้ว่างงานจำนวนมากจากการเลิกจ้าง ทำให้หลายองค์กรต้องรัดเข็มขัด ชะลอการรับพนักงานใหม่ และชะลอการปรับโครงสร้างเงินเดือน ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลให้เด็กจบใหม่หางานยากขึ้น เนื่องจากในอัตราเงินเดือนเดียวกัน องค์กรยังสามารถจ้างผู้ที่มีประสบการณ์ได้
สำหรับตำแหน่งงานที่เปิดรับเด็กจบใหม่ในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ราว 24% ขณะที่พนักงานระดับต้นต้องเจอกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และฐานเงินเดือนเริ่มต้นปรับลดลงในบางตำแหน่ง เนื่องจากภาวะแรงงานที่มีทักษะพื้นฐานใกล้เคียงกัน จนทำให้ผู้สมัครงานล้นตลาด ขณะเดียวกัน ก็ทำให้องค์กรมีตัวเลือกมากขึ้น จึงส่งผลให้ผู้สมัครต้องพัฒนาทักษะอยู่เสมอแม้จะอยู่ในช่วงว่างงาน
ในทางกลับกัน แรงงานที่มีทักษะที่ตลาดต้องการและประสบการณ์สูง เช่น ทักษะดิจิทัล และแรงงานที่มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมดิจิทัลหายากขึ้น ส่งผลให้องค์กรต้องเพิ่มอัตราเงินเดือนเพื่อจูงใจผู้สมัคร ทำให้ค่าสูงสุดของอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เช่น ตำแหน่งบริหารจัดการทีมขายออนไลน์ (e-Commerce manager) จากเดิมสูงสุดอยู่ที่ 120,000 บาท ตอนนี้ขยับเพดานมาเป็น 300,000 บาท
ส่วนตำแหน่งฝ่ายควบคุมการเงิน (finance controller) ขยับเพดานจาก 250,000 บาท เป็น 350,000 บาท ตำแหน่งสถาปนิกโซลูชั่นอาวุโส (senior solution architect) ขยับเพดานจาก 160,000 บาท เป็น 250,000 บาท รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงก็ขยับเพดานเงินเดือนจาก 500,000 บาท เป็น 700,000 บาท
เพิ่มทักษะตัวช่วยให้ได้งาน
ผู้สมัครงานที่ได้รับเงินเดือนสูงในแต่ละสายงานมักมีทักษะแบบ T-shape คือรู้ลึกในสาขาเฉพาะทาง และรู้รอบในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมี soft skill ที่จะสามารถทำงานแบบข้ามสายงานร่วมกับทีมอื่น ๆ ได้ ดังนั้น ทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมีเพิ่มเติมคือทักษะดิจิทัล
เนื่องจากองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่ปรับตัวเข้าสู่การทำงานในระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว รวมถึงทักษะการใช้ และวิเคราะห์ฐานข้อมูล (data analytics) ที่สามารถช่วยต่อยอด และยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแทบทุกสายงาน นอกจากนี้ การมีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตไม่ว่าจะเป็นฟินเทค, อีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์, เทคโนโลยี, สุขภาพและความสุขสมบูรณ์, เทคโนโลยีอีวี, แพลตฟอร์มที่ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ ก็จะช่วยเพิ่มแต้มต่อในการสมัครงานให้กับผู้สมัครมากขึ้น”
ส่วนในฝั่งของผู้บริหาร และผู้บริหารระดับสูงหากเคยมีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยี และกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้เปลี่ยนผ่านองค์กร (digital transformation) รวมทั้งการสร้างธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะเป็นที่น่าสนใจสำหรับหลายองค์กร เพราะปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ต้องการขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และแสวงหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัล
จากที่อเด็คโก้ให้บริการด้านการสรรหาบุคลากรกับลูกค้าองค์กร ทำให้เห็นแนวโน้มพนักงานที่ต้องการของตลาดในช่วงนี้จะเป็นกลุ่มที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ และผู้ที่มีทักษะเฉพาะทาง ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นมากเมื่อเปลี่ยนงานใหม่
หลังจากผ่านมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาพักหนึ่ง หลายองค์กรต่างชะลอการลงทุน และดำเนินกิจการในบางส่วน แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย หลายองค์กรอยากเร่งฟื้นฟูธุรกิจหลังจากที่ขาดทุนมานาน จึงต้องเร่งหาคนเก่งเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น เทคโนโลยี สุขภาพ และอีคอมเมิร์ซ โดยจะเห็นแนวโน้มของหลายองค์กรหันมาใช้บริการจากเอเยนซี่จัดหาแรงงานมากขึ้น
ขณะที่ภาคบริการ และธุรกิจค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เริ่มกลับมาสรรหาพนักงานอีกครั้งจากมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล แต่มีความท้าทายในการสรรหาแรงงานอุตสาหกรรมนี้อยู่บ้าง เนื่องจากมีแรงงานจำนวนไม่น้อยกลับต่างจังหวัดไปช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ และลังเลที่จะกลับมาทำงานในกรุงเทพฯเหมือนเดิม หรือบางคนเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น จึงทำให้องค์กรพบอุปสรรค และความท้าทายในการสรรหา โดยเฉพาะพนักงานที่มีฝีมือ มีประสบการณ์ และมีความชำนาญที่จะกลับมาฟื้นฟูธุรกิจให้ไปต่อได้
บัญชี-โปรแกรมเมอร์ มาแรง ปี2565
สายงานไอที และดิจิทัล (IT & digital) เป็นสายงานมาแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Adecco Salary Guide 2022 พบว่าปีที่ผ่านมา มีจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับในสายงานไอที และดิจิทัลเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 38% และเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2562
โดยอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงได้แก่ โปรแกรมเมอร์, นักวิเคราะห์ข้อมูล, ผู้จัดการโครงการ, งานด้านอีคอมเมิร์ซ, การตลาดดิจิทัล รวมทั้งคนทำระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (customer relationship management : CRM) และจากการศึกษาข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงของกลุ่มเป้าหมายลูกค้าแต่ละประเภท (customer insight) พบว่ามีสายงานอื่นที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นเดียวกันได้แก่ สายการเงินและบัญชีที่กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการเติบโตของธุรกิจฟินเทค สินทรัพย์ดิจิทัล และการควบรวมกิจการต่าง ๆ ที่ทำให้มีความต้องการจ้างงานในสายนี้มากขึ้นกว่าปี 2563
สายงานขาย แม้มีการเติบโตจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย แต่ในภาพรวมจำนวนการจ้างงานยังสูงติดลำดับต้น ๆ และเติบโตได้ดีในหมวดการค้าระหว่างผู้ค้ากับหน่วยธุรกิจ (business to business : B2B) เนื่องจากองค์กรต้องการขยายช่องทางการขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ ขณะที่สายงานโลจิสติกส์ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน จากอานิสงส์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และสายงานวิศวกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงในสายงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาขั้นตอนในสายการผลิต
นับว่าการเพิ่มขึ้นของอัตรา"เงินเดือน" มีแนวโน้มชัดเจนว่าคนที่มีทักษะไอทีจะได้เปรียบอย่างมาก ดังนั้น คนทำงานต้องเร่งพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น