ถ้ายังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างคงที่เหมือนในปัจจุบัน ความร้อนเฉลี่ยโลกจะสูงเกินเป้า 1.5 องศาเซลเซียสในอีกแค่ 5 ปี 2 เดือน
“1.5 องศาเซลเซียส” คืออุณหภูมิโลกที่เราจะต้องพยายามควบคุม ไม่ให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงกว่าตัวเลขนี้ ถ้านับจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามที่ได้ตกลงและลงนามกันไว้ใน “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) เพราะถ้าอุณหภูมิโลกของเราสูงเกินนี้ เรา มนุษย์ และทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจต้องเจอกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อนที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิต น้ำท่วมและไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย ภัยแล้งที่มีผลต่อ ด้านการเกษตร ความหลากหลายของระบบนิเวศถูกรบกวนและอีกมากมาย เพื่อที่จะกำหนดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา ทั่วโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43% ภายในปี 2030 และไปให้ถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2070
ทว่า จากรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ที่อัพเดทข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของปี 2021 และวิเคราะห์ออกมาในรายงาน Sixth Assessment Report เผยว่า ถ้ายังคงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คงที่เฉกเช่นตอนนี้ เราอาจจะถึงและเกินเป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในอีกไม่ถึง 6 ปี และเป้าหมายไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสไม่เกิน 22 ปี
นาฬิกาสภาพภูมิอากาศ Carbon Clock จาก Mercator Research Institute Global Commons and Climate Change ได้รวบรวมข้อมูลที่ IPCC วิเคราะห์ออกมา และทำออกมาเป็นนาฬิกาวรับถอยหลังว่าเราจะเกินเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสและ 2 องศาเซลเซียสเมื่อไหร่ ซึ่งถ้านับจากวันที่ 2 พฤษภาคม 2024 เมื่อเทียบกับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม โลกเราจะร้อนขึ้นเกินเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 5 ปี 2 เดือน 19 วัน หรือประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม 2029 และเมื่อเทียบกับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม โลกเราจะร้อนขึ้นเกินเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสในอีก 22 ปี 11 เดือน 28 วัน หรือประมาณช่วงเดือน เมษายน 2046
และเมื่อถึงเวลาเหล่านั้นตามที่นาฬิกาคาดไว้ เราจะไม่สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่านี้อีกเลย หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาจทำให้โลกเผชิญจุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate tipping points) ที่ไม่สามารถหวนคืนได้ น้ำแข็ง-ชั้นดินเยือกแข็งละลาย ปะการังตายหมู่ พายุรุนแรงขึ้น สภาพอากาศสุดขั้วและแปรปรวนขึ้น และระบบนิเวศที่สมบูรณ์อาจหายไป
งานวิจัยใหม่ที่ได้รับทุนจาก NASA เผยว่า ถ้าอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อนับจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ธารน้ำแข็งทั่วโลก 50% อาจหายไป และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3.5 นิ้วต่อปี ภายในปี 2100
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อมูลเมื่อนับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับของปี 2021 ถ้าปี 2024 นี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นหรือน้อยลง ตัวเลขปีอาจเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ตัวเลข 1.5 จึงสำคัญ ยังพอให้ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตชีวิตฟื้นตัวได้จากความเสียหายบ้าง แต่ ‘บางภูมิภาคและระบบนิเวศที่เปราะบาง’ มีความเสี่ยงสูงที่จะล่มสลาย หากโลกสามารถรักษาอุณหภูมิให้ต่ำกว่านี้ได้ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรง
#แล้วเราเข้าใกล้ 1.5°C แค่ไหน?
ในรายงานเมื่อปี 2022 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่าโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1.15°C ซึ่งถือว่าตัวเลขนี้เย็นกว่าที่คาดไว้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าปรากฎการณ์สภาพอากาศแบบวัฏจักรลานีญานั้น มีส่วนช่วยให้โลกเย็นลงชั่วคราว
แต่ในรายงานล่าสุดเมื่อต้นปี 2024 ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าปี 2023 ที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเตะระดับ 1.45°C แล้ว ซึ่งยังคงต้องรอการตรวจวัดในระยะยาวอีกครั้งถึงจะบอกได้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขถาวรหรือไม่ ซึ่งทาง WMO ประเมินไว้ว่าอาจจะแกว่งอยู่ที่ 1.1-1.8°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
ที่มา
ทำไมต้อง 1.5 องศาเซลเซียส - https://www.facebook.com/environman.th/posts/720958143579816
That’s how fast the Carbon Clock is ticking https://www.mcc-berlin.net/en/research/co2-budget.html