เมื่อบริษัทเติบโตถึงจุดหนึ่ง บริษัทมักจะเผชิญกับจุดตันทางการเงินที่ทำให้การขยายกิจการและการดำเนินงานประสบปัญหาในการระดมทุน การหาทุนเพิ่มเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาของบริษัท วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “การออกหุ้นกู้” ซึ่งการเลือกซื้อหุ้นกู้จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจวิธีการเลือกหุ้นกู้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและลดความเสี่ยง
วิธีเลือกหุ้นกู้
- เลือกจากอันดับเครดิต (Credit Rating)
อันดับเครดิตเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้ บริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงจากสถาบันจัดอันดับ เช่น Moody's, Standard & Poor's หรือ Fitch ที่มีความน่าเชื่อถือและมีโอกาสที่จะชำระหนี้คืนตามกำหนดมากกว่า การเลือกซื้อหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตสูงจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยอันดับที่จัดว่าลงทุนได้คือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป
2. เลือกจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่ออกในระยะเวลาครบกำหนด (maturity date) เดียวกัน เพื่อเลือกหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่ต้องระวังว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย โดยปกติ ถ้าอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ในท้องตลาดมีค่าสูงขึ้น จะทำให้หุ้นกู้มีราคาหรือมูลค่าลดลง
การลงทุนหุ้นกู้ก็มี ‘ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)’ เช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ เช่น หากคุณลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี เงินของคุณจะถูกล็อกอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย 3% ตลอดระยะเวลา 4 ปี หากในช่วงเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น คุณจะเสียโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่านั่นเอง
3. เลือกจากระยะเวลาครบกำหนด (Maturity Date)
การเลือกหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดตรงกับแผนการลงทุนของคุณเป็นสิ่งสำคัญ หุ้นกู้ระยะสั้นมักมีความเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้นผลตอบแทนก็น้อยกว่าหุ้นกู้ระยะยาวเช่นกัน หุ้นกู้ระยะยาวอาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าแต่มีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณามากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง
4. สภาพคล่อง (Liquidity)
การที่หุ้นกู้มีสภาพคล่องสูง ในกรณีที่ต้องการเงินสดจะทำให้สามารถขายหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการถือครองหุ้นกู้ได้ แต่อย่างไรก็ตามควรอ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไข (Covenants) ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีข้อกำหนดที่ทำให้คุณเสียเปรียบจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน หากบริษัทที่คุณลงทุนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ บริษัทอาจปฏิเสธที่จะชำระหนี้ต่อไป หรือบริษัทอาจถูกฟ้องล้มละลาย
นักลงทุนอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ในสัญญาการลงทุน ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น บริษัทอาจถูกฟ้องล้มละลาย อาจทำให้นักลงทุนสูญเสียเงินต้นทั้งหมดที่ลงทุนไป กระบวนการล้มละลายมักจะเป็นกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อน และนักลงทุนอาจต้องรอเวลานานก่อนที่จะได้รับเงินคืนบางส่วนหรือไม่ได้รับเงินคืนเลย
5. ประวัติและความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้
การศึกษาประวัติของบริษัทที่ออกหุ้นกู้เป็นสิ่งสำคัญ ดูว่าบริษัทมีประวัติการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตรงตามกำหนดหรือไม่ หากบริษัทมีประวัติที่ดี จะช่วยให้คุณมั่นใจในความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
สุดท้าย การเลือกซื้อหุ้นกู้เป็นกระบวนการที่ต้องการความรอบคอบและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด การทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจและได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 5 วิธี เลือกหุ้นกู้ที่มืออาชีพใช้
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- หุ้นกู้ชุดใหม่ EA เสี่ยงยกเลิกขาย ThaiBMA ชี้อาจต้องยื่นไฟลิ่งใหม่ หลังโดนหั่นเรตติ้ง “Junk Bond”
- EA เปิดหนี้ครบดีล 1.64 หมื่นล้าน กู้เงินแบงก์-หาพาร์ตเนอร์จ่ายหนี้ กูรูเตือน ไม่ใช่โอกาสลงทุน
- EA ไม่ใช่ STARK สมโภชน์ ขอโทษ เรื่องส่วนตัวกระทบบริษัท ตลท.บี้เคลียร์ประเด็นปัญหาหนี้
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath