ทั่วไป

ชาวไร่อ้อยเฮ! ดีพร้อมชูงานวิจัยสมาร์ทฟาร์มสู่ไร่อ้อย ลดต้นทุนผลิต20% ยกระดับผลผลิตเกษตรอุตสาหกรรม

Manager Online
เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2565 เวลา 10.34 น. • MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกทีมนักวิจัย โชว์ผลงานแก้ปัญหาชาวไร่อ้อย หลังเผชิญปัญหาอ้อยคุณภาพต่ำ ความหวานไม่คงที่ นำแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ช่วย โอ่ลดต้นทุนผลิตกว่า 20% หรือกว่า 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน

วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมออดิทอเรียน อาคารอำนวยการวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวผลงาน “วิจัยสู่การปฏิบัติ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต อัปเกรดเกษตรอุตสาหกรรมไทย” มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสื่อมวลชนร่วมในกิจกรรม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบ โลจิสติกส์อัจฉริยะ รวมถึงนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รวมถึงปัจจุบันพบว่าชาวไร่อ้อยกำลังเผชิญกับปัญหาไม่สามารถควบคุมคุณภาพ รวมถึงปริมาณเก็บเกี่ยวได้ ประกอบกับปัญหาคุณภาพอ้อยต่ำกว่าเกณฑ์และความหวานไม่คงที่ ส่งผลให้ต้นทุนผลิตต่อตันน้ำตาลสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลลดลง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาท พัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็น Smart Farmer รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อใช้กำหนดรูปแบบแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้แก่ผลผลิตการเกษตร โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาทำเกษตรอย่างถูกต้อง ตลอดจนการจัดการแบบเกษตรแม่นยำ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับชาวไร่อ้อยได้

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จึงนำนโยบาย DIPROM CARE มาประยุกต์ใช้ผ่านการพัฒนา และวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับภาคการเกษตร รวมถึงการบูรณาการระหว่างพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยสามารถวิจัยแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ได้สำเร็จ อาทิ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ผลผลิตและแผนที่การระบาดของโรคพืชจากภาพถ่ายทางอากาศ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) จากแผนที่ผลผลิต

ระบบผสมสารและบรรจุลงถังบรรจุอัตโนมัติสำหรับโดรน ระบบฉีดพ่นสาร แบบแปรผันอัตโนมัติติดตั้งบนโดรนชุด Mobile-KIT และ Mobile Application สำหรับระบุพิกัดแปลงและติดตามกิจกรรมในแปลง และระบบ AI สำหรับเสนอแนะแผนการทำงาน บันทึกและแสดงผลการทำงานของเครื่องจักรเกษตร และแนะนำการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำสูงรายแปลงอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในงานบำรุงรักษา เก็บเกี่ยว และเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รวมทั้งมีระบบสามารถรองรับคำสั่งให้เกิดการปรับการปฏิบัติงานในฟาร์มตามแผนงานใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแปลงปลูก การบำรุงรักษาและอารักขาพืช การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง และสามารถปรับรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือพืชแต่ละชนิด ซึ่งช่วยลดการสูญเสียด้านคุณภาพของผลผลิต ลดเวลารอคอยที่ไม่เกิดงานและเพิ่มความสามารถของเครื่องจักรได้

อาทิ กรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำตาลหรือพลังงานชีวมวลได้มากกว่าร้อยละ 20 คิดเป็นประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน ซึ่งสามารถกำหนดตารางเก็บเกี่ยวอ้อยขณะที่อ้อยแต่ละแปลงมีน้ำหนักและความหวานสูงสุด สามารถใช้งานเครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดจำนวนเครื่องจักรและลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง และจัดการให้มีวัตถุดิบอ้อยเข้าโรงงานที่มีคุณภาพ มีปริมาณเต็มศักยภาพผลิตของโรงงานในแต่ละวัน ลดการเสื่อมสภาพของวัตถุดิบ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย รวมทั้งสามารถลดจำนวนวันที่เปิดหีบ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำตาลต่อตันได้

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

ดูข่าวต้นฉบับ