ทั่วไป

ทีดีอาร์ไอเขียนสมุดพก ‘รัฐบาลประยุทธ์1’ ไม่ตกแต่ก็ไม่ให้ผ่าน

The Momentum
อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 18.19 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 18.19 น. • สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล

In focus

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 1 ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ของคณะรัฐบาล ‘มั่งคั่งและยั่งยืน’ โดยละไม่กล่าวถึงในมิติของความมั่นคง
  • ทีดีอาร์ไอมองว่า โครงการเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เดินหน้า สามารถดึงดูดภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุน และรับแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติมาอุดรอยรั่ว แต่ปัญหาคือการขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
  • รัฐบาลประยุทธ์ 1 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ และยังมีข้อครหาเพิ่มขึ้นมากมายจากกรณีนาฬิกาเพื่อนของรองนายกรัฐมนตรี การนำญาติเข้านั่งในตำแหน่งคณะทำงานของรัฐบาล ตลอดจนความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทุนใหญ่ ซึ่งอาจเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ได้ในอนาคต
  • พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ให้อำนาจภาครัฐอย่างมโหฬารในการสอดส่องประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ยังสวนทางกับแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลออกปากว่าสนับสนุน

 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) แถลงข่าวหัวข้อ ‘ประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 1: ติดตามความคืบหน้า แก้ปัญหาประเทศ’ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย TDRI ระบุว่าจะประเมินภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ ‘มั่งคั่งและยั่งยืน’ โดยละไม่ประเมินถึงมิติของความ มั่นคง เนื่องจากไม่ถนัด

ผู้เข้าร่วมงานแถลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร, ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์, ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ, ดร.เสาวรัจ รัตนคําฟู นักวิชาการอาวุโส และนายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

น้ำมีปลา นามีข้าว ตะวันออกมีอีอีซี

ในด้านของความมั่งคั่ง ทีดีอาร์ไอแบ่งออกเป็นหกด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและประมง การปฏิรูปการศึกษา การปฎิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล และการคมนาคม 

ในด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทีดีอาร์ไอมองว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งใกล้จะเซ็นสัญญา ตลอดจนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว สามารถดึงดูดภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุนทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2558-2561 พื้นที่ EEC มีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติรวม 1.014 ล้านล้านบาท และ 1.110 ล้านล้านบาทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หากแต่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานอยู่แล้ว เช่น ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (20%) ยานยนต์และชิ้นส่วน (9%) มีการกำหนดมาตรการ ‘สมาร์ตวีซ่า’ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงานคุณภาพ และริเริ่มความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศกับประเทศไทย อันเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาคุณภาพแรงงาน

แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังเป็นข้อกังวลสำหรับ EEC คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการขาดบุคลากรและเทคโนโลยีคุณภาพสูง ทีดีอาร์ไอจึงเสนอให้ยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในแง่งานวิจัยและการพัฒนาบุคลากร จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเพื่อออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่สำคัญ ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส และลงพื้นที่ปรึกษาหารือกับคนในชุมชนให้มากขึ้น

นโยบาลดิจิทัล ไร้ยูนิคอร์น – open data ไม่เกิด

ด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลที่ผ่านมาออก พ.ร.บ. การบริการและบริหารงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งทำให้บูรณาการข้อมูลภาครัฐที่เคยแยกส่วนเข้าไว้ด้วยกัน 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ลดขั้นตอนภาระของประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐ เช่น ยกเลิกแบบฟอร์ม ตม. 6 เมื่อคนไทยเดินทางเข้าประเทศ และการผลักดันให้เกิดการใช้ระบบพร้อมเพย์อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐที่ขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนชนบทได้สำเร็จ การส่งเสริมสตาร์ตอัปก็ยังไม่ถูกจุดนัก ยังไม่มี ‘ยูนิคอร์น’ ทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าสักตัว การพัฒนาแอปพลิเคชันของภาครัฐก็มีเพียงแต่ระบบ หากใช้จริงก็ยังมีความติดขัดมากมาย และการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน ‘ข้อมูลแบบเปิด (open data)’ ก็ยังแทบไม่มีให้เห็น

ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 ของรัฐบาล คสช. ยังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะการยืดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) อันสะท้อนนัยของการแทรกแซงองค์กรอิสระ การอุ้มผู้ประกอบการ 4G รายใหญ่ 3 ราย ซึ่งทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และ พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ที่ให้อำนาจรัฐอย่างมโหฬารและอาจส่งผลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

นโยบายเกษตรและประมง – ทุ่มเงินมหาศาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

ด้านการเกษตร ทีดีอาร์ไอมองว่า รัฐประสบผลสำเร็จในแง่ที่สามารถระบายข้าวจากโครงการจำนำข้าวทุกเม็ดกว่า 17.76 ล้านตันได้หมดในระยะเวลาไม่ถึง 4 ปี ซึ่งช่วยลดภาระการขาดทุนและลดแรงกดดันจากราคาข้าวไทยที่เคยตกต่ำ รัฐเข้าไปอุดหนุนภาคเกษตรโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้สุทธิของเกษตรกร แต่ในทางเดียวกัน นโยบายดังกล่าวก็ใช้ต้นทุนสูงกว่างบประมาณทั้งปีของกระทรวงเกษตรฯ แนวทางนี้จึงอาจส่งผลเสียในระยะยาว ทั้งในแง่แรงจูงใจของเกษตรกรและงบประมาณที่บานปลาย

ในทางกลับกัน หลายนโยบายยังดำเนินการผิดพลาด เช่น นโยบายข้าวครบวงจรที่ทำความเข้าใจปัญหาและสำคัญตนผิด รัฐบาลมองว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดจากอุปทานข้าวมีมากเกินอุปสงค์ รัฐจึงเชื้อชวนให้ชาวนาหันมาปลูกพืชชนิดอื่น แต่ในความเป็นจริง ปริมาณการผลิตข้าวของไทยขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติในปีนั้นๆ ไม่ใช่มาตรการของรัฐ รวมถึงความเชื่อผิดพลาดว่า การลดอุปทานข้าวในประเทศจะช่วยผลักราคาข้าวให้สูงขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ผลผลิตข้าวของไทยเป็น 5 เปอร์เซนต์ของตลาดโลกเท่านั้น

โครงการนาแปลงใหญ่ก็ยังไม่สำเร็จนัก เกษตรกรเพียงรวมกลุ่มเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต นอกจากนี้ ยังมีปัญหาราคายางที่แก้ไม่ตก และรัฐบาลยังใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเฉพาะหน้า ซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว

ทั้งนี้ TDRI เสนอให้รัฐเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนและทรัพยากรแก่ภาคเอกชน ผลักดันเกษตรกรหันมาพึ่งเทคโนโลยีมากควบคู่ไปกับตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และควรสนับสนุนการวิจัยที่อิงกับความต้องการตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้า ปรับโครงสร้างภาคเกษตรในระยะยาวให้เกิดการลงทุนร่วมกันระหว่างเจ้าของที่ดินและเกษตรกรในรูปแบบพันธะสัญญา และขจัดอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ 

ในด้านของประมงสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี แก้ปัญหาการกระทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าทางทะเลของไทยยังส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง แต่ลึกๆ ลงไปแล้ว ยังคงมีปัญหามากมายที่คาราคาซังอยู่

ปฏิรูปการศึกษา ยังคิดแบบบนลงล่าง 

ในด้านปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ช่วยเหลือเด็กยากจนราว 4 แสนคน การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 โดยใช้กลไกของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งทำให้เกิดข้อเสนอและแรงผลักดันใหม่ๆ จากทั้งภาคประชาสังคมและภาควิชาการ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต่างๆ ยังคงมีลักษณะการคิดแบบบนลงล่าง (top-down) นโยบายกับการปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน การใช้มาตรา 44 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการศึกษากว่า 19 ฉบับกลับยิ่งผูกปัญหาให้พัวพันยุ่งเหยิง 

อีกทั้ง การย้ายสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนให้ไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลับไม่มีการออกระเบียบมารองรับเสียก่อน ทำให้การกำกับดูแลและจัดสรรเงินอุดหนุนล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก และรัฐยังคงไม่มีเงินสนับสนุนภาคอาชีวศึกษาในแง่เทคโนโลยีได้เท่าที่ควร 

ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไม่สำเร็จ

ในด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล TDRI มองว่า รัฐวิสาหกิจบางแห่งควรยุบยกเลิกไป เพื่อเปิดทางให้เอกชนรับช่วงต่อ และเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่กำลังขาดทุน ให้สามารถดำเนินการต่อได้ 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุด คสช. ได้แก่ การแก้ไขปัญหาธงแดง ICAO การจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรืองแห่งประเทศไทยขึ้นมากำกับดูแลการขนส่งทางอากาศ การโอนอำนาจออกใบอนุญาตเดินรถเมล์มายังกรมการขนส่งทางบก และการตั้งกรมการขนส่งทางราง อันเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการคมนาคมของไทย

ทั้งนี้ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในเชิงโครงสร้างยังเป็นปัญหา เพราะร่าง พ.ร.บ. การพัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกำหนดให้จัดตั้ง ‘บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (Super-holding Company)’ ถูกตีตกไป เนื่องจากภาครัฐเกรงจะเสียอำนาจ และกลัวฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์

TDRI เสนอว่า รัฐบาลใหม่ควรเร่งพัฒนาบุคลากรและออกกฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ ปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ ลบจุดอ่อนในข้อเสนอ ‘บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ’ และหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) จากภาคเอกชน

มอบสิทธิทำกิน มุ่งหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม

ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี อีกทั้ง รัฐบาลยังออกแผนแม่บทการจัดการน้ำในระยะยาว และเริ่มมีการลงทุนในโครงการแล้ว 

รัฐบาลยังมอบสิทธิที่ทำกินในพื้นที่ป่าให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน และจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้แบบแปลงรวมแทนการแจกเอกสารสิทธิ์เป็นรายคน รวมถึงการยกเลิกข้อบัญญัติเกี่ยวกับไม้หวงห้ามอีก 17 ชนิด

TDRI ส่งเสริมให้รัฐบาลใหม่ต่อยอดสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วดำเนินมา เช่น ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ วางมาตรการเพื่อความยั่งยืนทางธรรมชาติ อาทิ ยกเลิกการใช้โฟม ยกระดับน้ำมันให้เป็น Euro 5 

หนึ่งเดียวที่ทำได้ – จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

ในด้านแรงงาน รัฐบาลประยุทธ์จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผ่านระบบ MOU ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้สำเร็จ และการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ฉบับที่ 188 ของ ILO (C188) ข้อตกลงดังกล่าวช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และส่งผลแง่บวกต่อการส่งออกและการจ้างงานในสาขาประมง

TDRI เสนอให้รัฐบาลใหม่หันมามองแรงงานนอกระบบและให้ความคุ้มครองคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีมากกกว่า 21.4 ล้านคนมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านอัตราค่าจ้าง สวัสดิการและชั่วโมงทำงาน

ความโปร่งใส เรื่องนี้พูดยาก

“เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงโปรดไว้ใจและศรัทธา” เป็นบางส่วนจากเนื้อเพลงของรัฐบาลประยุทธ์ ที่สะท้อนการมุ่งต่อต้านคอรัปชัน อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงตั้งข้อครหาถึงความโปร่งใสในรัฐบาลคสช.อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีนาฬิกายืมเพื่อน การก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ การนำญาติเข้าไปนั่งในตำแหน่งคณะทำงานของรัฐบาล การย้ายตำแหน่งอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิหลังที่ 2 โดยไม่บอกเหตุผลชัดเจน ตลอดจน การประมูลพื้นที่ปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง

แต่ทีดีอาร์ไอก็มองว่า รัฐบาลคสช. พยายามดำเนินการเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ภาครัฐต้องแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ให้ประชาชนทราบ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การปรับปรุงการออกใบอนุญาตของหน่วยราชการ และโครงการกิโยตินกฎหมายที่เสนอให้ยกเลิกการอนุญาตจากทางราชการกว่า 480 เรื่อง 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความพยายามนำโครงสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสากลมาใช้ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างรัฐ (CoST) ซึ่งเป็นโครงการที่คอยตรวจสอบการลงทุนของภาครัฐในระดับซูเปอร์เมกะโปรเจคต์ และโครงการรัฐบาลโปร่งใส (Open Goverment Partnership) และโครงการความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)

บทสรุปสมุดพกรัฐบาลประยุทธ์1

นักวิชาการ TDRI มองว่า ตลอด 5 ปีรัฐบาลประยุทธ์ 1 มีนโยบายที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จและควรส่งเสริมต่อยอดหลักๆ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การลดขั้นตอนในการบริการของภาครัฐ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงใช้อำนาจอย่างรวมศูนย์ผ่านระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ ขาดการวางรากฐานให้เกิดการกระจายอำนาจ การพึ่งพิงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การออกนโยบายหรือกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนดังกล่าว การทุจริตคอร์รัปชันที่ฉาวโฉ่และตั้งใจไม่เปิดเผยต่อประชาชน รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงไซเบอร์ที่ให้อำนาจรัฐล้นฟ้า และสวนทางกับแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลสนับสนุน

พวกเขาทิ้งท้ายว่า ความท้าทาย 2 ข้อที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับรัฐบาลชุดใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาคือ การตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎรและอำนาจที่ไม่เด็ดขาดเหมือนคราวที่มีมาตรา 44

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • Vanida
    มิน่าต้องอยู่ต่อซ้ำชั้นจนกว่าจะผ่าน 555 ขรำ
    20 ก.ค. 2562 เวลา 00.12 น.
  • P'กานต์
    พวกมึงจะกั๊ก ฯ ทำไม...ผ่านคือผ่าน ตกคือตก ...รัฐวิสาหกิจบางแห่ง ควรปฎิรูปจริง ฯ แล้วระบบราชการที่ล้าหลังล่ะ สาส...
    19 ก.ค. 2562 เวลา 23.45 น.
  • ทรงวุฒิ จักรสาร
    ผมไม่ให้ผ่านครับ
    19 ก.ค. 2562 เวลา 23.38 น.
  • Sunnysunny
    "สื่อเทียม" ทำงานตามเงินที่จ้างอีกแล้วรึ
    19 ก.ค. 2562 เวลา 22.53 น.
  • T.cho
    ช่วยบอกด้วยดิเคยประเมินรัฐบาลไหนผ่านมามั่ง
    19 ก.ค. 2562 เวลา 21.31 น.
ดูทั้งหมด