ไลฟ์สไตล์

มะละแหม่งไม่มีใครรู้จัก "มะเมียะ" ตำนานรักนี้จริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงนิยายอิงปวศ.?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 18 ธ.ค. 2564 เวลา 15.37 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2564 เวลา 15.37 น.
เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ “เบื้องหลังเรื่องรักของมะเมียะ” โดยมีสมฤทธิ์ ลือชัย เป็นวิทยากร และอดิศักดิ์ ศรีสม ดำเนินการเสวนา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.30-16.30 ณ ที่ห้องโถงมติชนอคาเดมี

งานเสวนาพูดคุยกันถึงเรื่อง“มะเมียะ” ตำนานความรักที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องเล่ากันมาในคุ้มหลวงเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้กลายเป็นที่โด่งดังเมื่อคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ในหนังสือเพ็ชรล้านนา และหนังสือชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ จากนั้นก็กลายเป็นที่โด่งดัง นำมาผลิตเป็นทั้งเพลง ละครภาพยนตร์ ละครเวที จนกลายเป็นที่รู้จักกันโดยทั่ว ถึงกับมีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ตำนานรักมะเมียะเมื่อ พ.ศ. 2546 อีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องราวของมะเมียะเป็นที่ทราบกันดีว่า เธอเป็นสาวพม่าที่เมืองมะละแหม่งได้พบรักกับเจ้าศุขเกษม เจ้านายจากเมืองเชียงใหม่ที่มาเล่าเรียนที่นี่ ทั้งสองตกหลุมรักกันแล้วเจ้าศุขเกษมให้มะเมียะปลอมตัวเป็นชายพาไปอยู่ที่เชียงใหม่ แต่เมื่อความแตกก็ถูกกีดกันและพลัดพราก เป็นความรักที่ไม่สมหวัง เรื่องราวเหมือนจะดูเป็นนวนิยายเพื่อความบันเทิง แต่ทว่าตัวละครในเรื่องนี้มีตัวตนจริง คือเจ้าศุขเกษม และเนื้อเรื่องยังยึดโยงกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ จนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกต

และมีหลายจุดที่น่าสงสัย เพราะมีความ “ย้อนแย้ง” หลายประการ เช่น มะเมียะตัดผม ปลอมตัวเป็นชายมาเชียงใหม่ เหตุใดจึงไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นสตรี และเมื่อตอนที่เธอสยายผมเช็ดพระบาทเจ้าศุขเกษม ผมเธอยาวมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้หรือ? และหากมองในมุมของการเมืองด้วยแล้ว เจ้าเชียงใหม่ต้องกีดกันความรักครั้งนี้เพราะสยามจริงหรือไม่? และคำถามอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายเกี่ยวกับตำนานรักเรื่องนี้

การสืบเสาะหาความจริงเริ่มจากนักวิชาการและรายการโทรทัศน์ของไทยเข้าไปสืบหาหลักฐานจากฝั่งพม่า โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่คุณสมฤทธิ์และคุณอดิศักดิ์ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเองที่เมืองมะละแหม่งเพื่อสืบค้นความจริงของเรื่องนี้ แต่ก่อนที่จะเล่าถึงการไปเสาะหาตัวมะเมียะที่มะละแหม่งนั้น คุณสมฤทธิ์ได้อธิบายบริบทในช่วงเวลานั้นก่อนว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เชียงใหม่กับมะละแหม่งนั้นมีความใกล้ชิดกันมายาวนาน ในดินแดนล้านนามีความสัมพันธ์กับพม่ามาก่อนสยาม แม้แต่ในภายหลังที่ล้านนาเป็นประเทศราชของสยามแล้ว ล้านนาก็มีอิสระในการปกครองตนเองอยู่บ้าง มีการติดต่อกับพม่าอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากการนิยมใช้เงินรูปีเช่นเดียวกับพม่าและอินเดีย (ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ)

ขณะที่มะละแหม่งเป็นเมืองท่าตั้งอยู่ปากแม่น้ำอิรวะดี เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของอังกฤษมาก่อนที่อังกฤษจะยึดพม่าได้ทั้งหมด นั่นจึงทำให้เมืองนี้มีความเจริญอยู่มาก มีการเรียนการสอนในโรงเรียนคาทอลิก เป็นโรงเรียนประจำแบบกินนอน มีการใช้ภาษาและสอนภาษาอังกฤษ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดเจ้าแก้วนวรัฐ พระบิดาของเจ้าศุขเกษมถึงส่งมาเรียนที่มะละแหม่ง

จากนั้นคุณสมฤทธิ์จึงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ลงไปสืบเสาะหามะเมียะที่เมืองมะละแหม่ง ซึ่งไม่ว่าจะสอบถามใครก็ไม่มีใครรู้จักสตรีนามนี้เลย บางคนที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอย่างน้อยต้องอยู่ในห้วงเวลาใกล้เคียงกับปีที่มะเมียะเสียชีวิต คือ พ.ศ. 2505 แต่ก็ไม่มีใครรู้จักเลย เช่น คุณยายที่อาวุโสมากท่านหนึ่งที่มวนบุหรี่ขายในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ท่านทำอาชีพเช่นเดียวกับมะเมียะ แต่กลับไม่รู้จักมะเมียะ คุณสมฤทธิ์ถึงกับกล่าวว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“วงการเดียวกันนะครับ ขายบุหรี่ด้วยกันไม่รู้จักมะเมียะ… มันต้องเป็น Talk of The Town ใช่ไหม แม่ค้าบุหรี่ในบ้านเราแต่งกับเจ้าชาย หูย แล้วเรื่องอย่างนี้นะ ขอบอกเลยนะ ชาวบ้านชอบมาก นักวิชาการอย่างผมก็ชอบ แต่นี่บอกไม่รู้จักเลย”

บุคคลสำคัญอีกสองท่านคือ บุตรสาวสองคนของ“อูโพด่อง” เศรษฐีค้าไม้ชาวพม่า สหายคนสนิทของเจ้าแก้วนวรัฐที่มีหน้าที่ดูแลเจ้าศุขเกษมขณะมาเรียนที่มะละแหม่ง บุตรสาวทั้งสองคนของอูโพด่องกลับไม่รู้จักมะเมียะ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องความรักของมะเมียะกับเจ้าน้อยศุขเกษมเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร เหตุใดในเมืองมะละแหม่งจึงไม่มีใครรู้จักเธอเลย

คุณอดิศักดิ์ได้นำวิดีโอสัมภาษณ์เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ และคุณกาบแก้ว ณ เชียงใหม่ (น้องสะใภ้เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่) ซึ่งทั้งสองท่านได้ยืนยันถึงเรื่องราวของมะเมียะว่าเกิดขึ้นจริง แต่ทั้งสองคนก็ฟังเรื่องนี้มาอีกทอดหนึ่ง คุณสมฤทธิ์จึงระบุว่า แหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิไม่มีเหลืออยู่เลย จะสืบจากคุณปราณีว่านำเรื่องนี้มาจากแหล่งข้อมูลไหนแต่ก็ไม่มีระบุ ขณะที่คนในเมืองเชียงใหม่ที่คาดว่าอยู่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ก็ไม่มีใครทราบ มีแต่หลักฐานชั้นทุติยภูมิ ตติยภูมิ ชั้นสองและชั้นสามทั้งนั้น

แม้จะมีข้อมูลระบุว่า เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่เคยได้พบมะเมียะตัวเป็น ๆ ก็ตาม แต่คุณสมฤทธิ์ก็ตั้งคำถามว่า เจ้าสมบูรณ์รู้ได้อย่างไรว่าแม่ชีที่พบคือมะเมียะ? ทั้งสองเคยเจอกันมาก่อนหรือไม่? สื่อสารกันอย่างไร? มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย

คุณสัมฤทธิ์ระบุว่า การไม่เจอหลักฐานในมะละแหม่งเลยทำให้เรื่องมะเมียะมีความน่าเชื่อถือน้อย ทางฝั่งไทยเองหากประมวลด้วยเหตุและผลแล้ว เรื่องความรักนี้ถือเป็นเรื่องราวใหญ่โต เหตุใดจึงไม่มีบันทึกไว้เลย โดยเฉพาะชาวต่างประเทศในเชียงใหม่ที่ชอบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ อยู่แล้ว ทำไมจึงไม่มีบันทึกเรื่องนี้ และหากความรักนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างสยามกับอังกฤษ แต่เหตุใดข้าราชการสยามจึงไม่มีบันทึกหรือมีหนังสือราชการใด ๆ บันทึกไว้ หากเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองจริง

“สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าความรักมะเมียะศุขเกษมนั้น มันก็คือนิยายอิงประวัติศาสตร์” คุณสมฤทธิ์กล่าว และสรุปว่าตนไม่เชื่อว่ามะเมียะมีตัวตนอยู่จริง อย่างไรก็ตาม คุณสมฤทธิ์ระบุว่าไม่ควรเชื่อที่พูดวันนี้ เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของวิทยาการ ความรู้เป็นเรื่องของความรู้ ความเชื่อเป็นเรื่องของความเชื่อ

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ ถ้าเราหยิบยกมันขึ้นมาแล้วก็มาเสนอมุมมอง มันจะสนุก อย่าเชื่อผมตรงนี้วันนี้ ถ้าจะเชื่อก็เชิญตามสบาย แต่ว่าถ้าจะให้ดีแล้ว ควรจะเอาคน… ที่เชื่อว่ามีตัวตนจริงขึ้นมาพูด เขาจะได้มาหักล้างผม ประวัติศาสตร์จะสนุกตรงนี้ครับ ถ้าคุณไปฟังแล้วก็เชื่อ ไม่ต้องทำอะไรต่อ ประวัติศาสตร์จะไม่สนุก มันจะสนุกเมื่อมีการหักล้างกัน” คุณสมฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

ย้อนชมคลิปเสวนาช่วงที่ 1 :

https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/2933600013380771/

ย้อนชมคลิปเสวนาช่วงที่ 2 :

https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/1117149665157471/

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 13
  • Ton_Natiwat595
    ปล่อยให้เป็นเรื่องความรัก ที่เป็นอมตะ เถอะ อย่าสนใจจะจริงหรือเท็จมองควาสวยงามของความรัก ให้อยู่ปริศนา ต่อไป
    23 ส.ค. 2562 เวลา 01.13 น.
  • P~Ö~M
    ลายเซ็นเจ้าน้อย สวยมาก เป็น อักษรของสยามด้วยไม่ใช่ของล้านนานั่นแปลว่านิยายมะเมี้ยะนั้นเป็นเรื่องแต่งเพราะว่าสมัย ร.5มีการนำกล้องถ่ายรูปมาใช้ในสยามแล้ว มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆแล้ว เรื่องราวของมะเมี้ยะเกิดมาไม่นานคือสมัยร4-ร5 สมัยนั้นทั้งฝรั่งจีนแขกเข้ามาไทยเยอะมากแต่กลับไม่พบบันทึกใดๆ แม้แต่บันทึกของล้านนา(ปั้บสา)ก็ไม่มีบันทึกไว้ คนไทยรู้เรื่องมะเมี๊ยะผ่านบทเพลงของคุณ จรัล มโนเพ็ชร จึงคิดว่ามันก็คงจะจริงตามนั้น สยามได้รวมเอาล้านนาส่วนหนึ่งของสยามสมัย ร.5 ก่อนนั้นก็ปกครองกันเองแบบสมบูรณาญาฯ
    23 ส.ค. 2562 เวลา 01.18 น.
  • GNUN
    เจ้าน้อยหล่อจัง
    22 ส.ค. 2562 เวลา 22.40 น.
  • chun
    ตัวจริงท่านคงจะหล่อน่าดู ส่วนมะเมียะคงจะเป็นผญ.ผิวน้ำผึ้งสวยคม
    22 ส.ค. 2562 เวลา 13.03 น.
  • ยิ้ม🤪
    องค์หญิงยีหวาง พินดาริกา แห่งภูฏาน" เป็นหนึ่งในสมาชิกแห่งราชวงศ์วังชุก ทรงศึกษาในไทย ที่หัวหิน ระหว่างศึกษาอาจมีสหายชายหญิง ถามว่าคยไทยคนไหนรู้บ้าง ???? รู้จักพระสหายของท่านไหม??? การไม่มีใครรู้เห็น มันไม่ใช่ว่าไม่มี ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้นมันไม่มีคำว่า เป็นข่าว. เหมือนสมัยนี้
    23 ส.ค. 2562 เวลา 05.37 น.
ดูทั้งหมด