บุกเนื้อทราย หรือ บุกไข่ (*Amorphophallus Muelleri) นับเป็นสายพันธุ์บุกที่มีคุณสมบัติดีของประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่ขายดี เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป เพราะบุกมีสารสำคัญ คือ กลูโคแมนแนน (Glucomannan) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ระดับไขมันในเส้นเลือด บำบัดอาการท้องผูก ใช้เป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก โดยไม่มีผลข้างเคียงต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย *
“บุก” สินค้าดาวรุ่ง ตลาดเติบโตสูง
ด้วยคุณสมบัติเด่นด้านพืชสมุนไพรของ “บุก” จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่เรียกได้ว่า เป็นสินค้าดาวรุ่งพุ่งแรง ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกนิยมใช้ผงบุกกลูโคแมนแนนเป็นสารให้ความข้นหนืด และทำให้เกิดเจลในผลิตภัณฑ์แยมและเจลลี่ รวมทั้งใช้เป็นสารให้ความข้นหนืด และความคงตัวในผลิตภัณฑ์ประเภทอิมัลชั่น ใช้เพื่อทดแทนไขมันและเพิ่มเส้นใยอาหารในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์
เนื่องจาก บุก เป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของประเทศจีนและญี่ปุ่น รู้จักกันในชื่อ คอนนิยากุ (Konniyaku) โดยประเทศญี่ปุ่นและจีนตอนใต้มีการปลูกต้นบุกเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งปรับปรุงสายพันธุ์บุก รวมทั้งพัฒนาวิธีการผลิตผงบุก ผลิตภัณฑ์จากผงบุก รวมทั้งการใช้ประโยชน์และชนิดของแป้งบุกอย่างจริงจัง มานานกว่า 40 ปี
เมืองไทยโชคดีกว่า เพราะมีพันธุกรรมบุกสายพันธุ์ดีตามธรรมชาติอยู่แล้ว ปัจจุบันในประเทศไทย พบว่า มีบุกอยู่ 3 พันธุ์ ที่มีสารกลูโคแมนแนนในปริมาณที่สูงกว่าบุกที่เจริญเติบโตในประเทศญี่ปุ่นและจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ต้องการทางการค้า คือ
- A.oncophyllus Prain ex Hook f.
- A.kerrii N.E.
- A.corrugatus N.E.
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) ระบุว่า ปัจจุบัน จีนและญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตและบริโภคบุกรายใหญ่ของโลก ปริมาณการใช้ผงบุกในตลาดโลก อยู่ที่ 30,000-40,000 ตัน ต่อปี โดยจีนเป็นผู้ส่งออกผงบุกรายใหญ่
ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการใช้สารเพิ่มความข้นหนืด สารก่อเจลและสารให้ความคงตัวในตลาดทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ผลักดันให้ตลาดบุกขยายตัวและเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 2022 ขณะที่ประเทศไทยมีการผลิตหัวบุกสดได้ปีละ 5,000 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการหัวบุกสดในประเทศสูงกว่า 12,000 ตัน ต่อปี เพื่อผลิตผงบุก ส่งผลให้ต้องนำเข้าหัวบุกสดจากจีน
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ส่งออกหัวบุกสดไปยังประเทศจีน เพื่อแปรรูปเป็นผงบุกและส่งกลับมาขายให้กับอุตสาหกรรมอาหารไทยอีกครั้งในราคาแพง เนื่องจากการลงทุนเทคโนโลยีในการผลิตผงบุกในประเทศไทยมีจำกัดและขาดมาตรฐานและความรู้ในการใช้ผงบุกในการแปรรูปอาหาร จึงทำให้อุตสาหกรรมการแปรรูปบุกของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำ
บุก นอกจากใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมด้านเคมีภัณฑ์ โดยนำผงบุกมาผลิตเป็นสารเคลือบผลไม้ เพื่อชะลอการสูญเสียน้ำหนัก ยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ได้ ขณะเดียวกันยังนำผงบุกมาใช้ผลิตแผ่นฟิลม์บริโภคได้ มีความใส ยืดหยุ่น และแข็งแรง เมื่อนำมาใช้ร่วมกับสารสกัดจากสมุนไพรไทยประเภท กระชาย ขิง ข่า พบว่าสามารถยืดอายุการเก็บรักษาและยับยั้งการเจริญของเชื้อราบางชนิดในมะม่วงน้ำดอกไม้ได้
ด้านเภสัชกรรม มีการใช้ผงบุกเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตยา โดยทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องตัวยาให้ไปถึงอวัยวะเป้าหมายได้ เนื่องจากบุกมีคุณสมบัติเป็นเจลที่ทนความร้อนและสภาวะต่างๆ ได้ดีนั่นเอง ส่วนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มีการใช้บุกในการตรึงและห่อหุ้มเซลล์จุลินทรีย์ เอนไซม์ และสารชีวโมเลกุล ที่ไม่ทนความร้อน เนื่องจากสมบัติการทนความร้อนของเจลบุก นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์บุกในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ใช้ผงบุกในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมกระดาษ ใช้บุกช่วยปรับปรุงดิน การขุดเจาะน้ำมัน และการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายของบุก ทำให้บุกกลายเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย มีโอกาสเติบโตทางการตลาดได้อีกมหาศาลในอนาคต
แหล่งข่าวในวงการค้าบุก เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยางพาราครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย แสดงความสนใจที่จะหันมาลงทุนปลูกบุกแซมในสวนยางพาราต้นเล็ก อายุไม่เกิน 5 ปี ในพื้นที่ภาคเหนือ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับบริษัท ภายหลังจากประสบปัญหาราคายางตกต่ำมานานหลายปี เนื่องจากเล็งเห็นว่า บุก เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ที่มีโอกาสเติบโตทางการตลาดสูง ขณะเดียวกัน บุกเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลตอบแทนสูง สามารถปลูกแซมในสวนยางพารา สวนป่าเศรษฐกิจ ไร่กาแฟ หรือสวนผลไม้ที่มีแสงแดดส่องถึงพื้นดิน ประมาณ 40-60% ต้นบุกก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น หากใครยังมีที่ดินว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ขอแนะนำให้ลงทุนปลูกต้นบุกเพื่อเป็นช่องทางเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
*“บุก” พืชเศรษฐกิจปลูกง่าย ขายดี *
คุณศิริพร พณิชย์สานนท์ หรือ คุณพร เกษตรกรผู้ปลูกบุกและรับซื้อผลบุกจากเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งขายโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์บุก เล่าให้ฟังว่า บุก เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่เติบโตได้ดี ในโซนพื้นที่ที่มีความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรีได้เปรียบด้านสภาพภูมิศาสตร์ และมีความชื้นที่เหมาะสม ทำให้ต้นบุกเติบโตได้ดี ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นทำเลทองของการปลูกต้นบุกคุณภาพดี เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในแถบเทือกเขาตะนาวศรี เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ฯลฯ
เกษตรกรนิยมปลูกต้นบุกไข่ หรือบุกเนื้อทราย เชิงการค้ากันอย่างแพร่หลาย เนื้อบุกไข่มีหลายสี เช่น เหลือง ขาวอมเหลือง ชมพู ขาวอมชมพู ต้นบุกเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย แถมให้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่ากับการลงทุน โดยทั่วไปเกษตรกรจะปลูกต้นบุกในช่วงเดือนเมษายน พอปลูกเสร็จเข้าสู่ช่วงฤดูฝนพอดี ก็ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ปล่อยให้ต้นบุกเจริญเติบโตตามธรรมชาติ แค่ดูแลถากวัชพืชไม่ให้รบกวนแปลงปลูกต้นบุกก็เพียงพอแล้ว
การปลูกบุกไข่ ใช้เงินลงทุนไม่มาก แค่ลงทุนเรื่องต้นพันธุ์บุกในครั้งแรก ฤดูการเพาะปลูกปีถัดไป เกษตรกรสามารถเก็บพันธุ์จากดอก และไข่บนใบมาใช้ปลูกขยายพันธุ์ในการเพาะปลูกรุ่นต่อไปได้เลย เนื่องจากกระแสความนิยมบริโภคบุกขยายตัวมากขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับจีนประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีผลผลิตบุกภายในประเทศลดลง จึงนำเข้าบุกจากไทยเพิ่มมากขึ้น
กระแสความต้องการบุกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไทยสามารถจำหน่ายหัวบุกสดได้ในราคาสูงขึ้นกิโลกรัมละ 25-30 บาท ในปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 9-10 บาท สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทั่วประเทศหันมาลงทุนปลูกขยายพื้นที่ปลูกต้นบุกไข่กันอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ราคาขายหัวพันธุ์บุกปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม
โดยทั่วไป พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกต้นบุกได้ 1,700 ต้น โดยปลูกในระยะห่าง 30×30 เซนติเมตร จะใช้เงินลงทุนประมาณไร่ละพันกว่าบาท หากปลูกต้นบุกโดยใช้หัวพันธุ์ น้ำหนัก 500 กรัม ในช่วงเดือนเมษายน จะสามารถเก็บหัวบุกสดออกขายได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีเดียวกัน โดยหัวบุกสดที่ขุดได้จะมีปริมาณน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว จากที่ใช้ปลูกไปในครั้งแรก สำหรับเกษตรกรที่ปลูกต้นบุกโดยใช้ไข่บนใบมาปลูกขยายพันธุ์ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาปลูกนานกว่าประมาณ 3 ปี จึงสามารถเก็บหัวบุกสดออกขายได้ เพราะใช้พันธุ์บุกที่มีขนาดเล็กในการปลูกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่าอาชีพการปลูกต้นบุกสร้างผลกำไรที่สูงคุ้มค่ากับการลงทุน ผู้สนใจที่สนใจเรื่องการปลูกต้นบุกเชิงการค้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณศิริพร พณิชย์สานนท์ อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 28/3 หมู่ที่ 1 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เบอร์โทร 062-562-9423, 096-864-3645
Banchong chaichan พอปลูกกันเยอะเดี๋ยวก็ล้นตลาด ดูการตลาดให้แน่นอนก่อนลงทุน ลดความเสี่ยง
03 ก.ย 2562 เวลา 17.05 น.
ดูทั้งหมด