ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทีมแพทย์และหน่วยงานสาธารณสุข คือ ‘ฮีโร่’ ที่ช่วยให้สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ในประเทศไทยไม่แย่ลง และผ่านพ้นมาได้ดีในระดับหนึ่ง
แต่อีกบุคคลที่มีความสำคัญมากคือ ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก
บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด (ATGenes) คือผู้อยู่เบื้องหลังรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (biosafety mobile unit) ทำให้การตรวจเชื้อโควิด-19 แบบเชิงรุกในชุมชนซึ่งเรียกว่า Active Case Finding ทำได้จริงและมีส่วนสำคัญมากในการแก้ปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่อย่างจังหวัดสมุทรสาคร
ATGenes เกิดจากไอเดียของ ศ. ดร. นพ. วิปร วิประกษิต ศาสตราจารย์ทางกุมารเวชศาสตร์ และเป็นประธานศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านยีนและเซลล์บำบัด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์วิปรต้องการนำเทคโนโลยีการตรวจพันธุกรรมโดยการวินิจฉัยในระดับยีนส์และ DNA มาให้บริการกับคนไทย ในเงื่อนไขที่สะดวก เข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น
บริษัทนี้ให้บริการการตรวจและวินิจฉัยให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า Prolab BDMS โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ฯลฯ นายแพทย์วิปรคร่ำหวอดในแวดวงวิชาการและการวิจัยมานาน ได้รับทุนงานวิจัยจากองค์กรทางการแพทย์ชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น Medical Research Council (MRC), National Institutes of Health (NIH) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาขององค์กรอนามัยโลก และอีกหลายองค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
สังคมไทยอาจจะเคยชินกับการยกย่องนักช่วยเหลือสังคมที่ทำงานแบบปิดทองหลังพระ
เราก็ชื่นชมเช่นกัน แต่ก็อยากแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักพวกเขามากกว่านี้ด้วย เพื่อให้กำลังใจส่งไปถึงคนทำงานอย่างแท้จริง
ประเทศไทยตรวจโควิด-19 น้อยไป จริงมั้ย?
“เราไม่ได้ตรวจโควิด-19 น้อยนะครับ”
เหมือนจะรู้ว่าเราอยากถามอะไร เมื่อเราเริ่มบทสนทนาด้วยการถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจโควิด-19 ในประเทศไทย
คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ประเทศไทยตรวจน้อยเลยเจอผู้ติดเชื้อน้อย บางคนก็เปรียบเทียบกับประเทศอย่างเกาหลีใต้ที่ระดมคนตรวจแบบปูพรม ในการระบาดเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับแนะปนติว่าทำไมเราถึงไม่ทำแบบนั้นบ้าง
“เดือนมกราคมที่ผ่านมา ช่วงที่โควิด-19 พีกมากๆ หลังการระบาดรอบนี้ เฉพาะในแล็บของเราทั้งเดือนตรวจไปเกือบ 20,000 ตัวอย่าง วันหนึ่งก็ประมาณ 1,000 กว่าตัวอย่าง เกือบทุกวัน ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็จะเหลือวันละ 300-500 ตัวอย่าง ก็ยังถือว่าเยอะนะ”
นายแพทย์วิปรอธิบายเพิ่มว่า ในการระบาดรอบแรก จำนวนการตรวจเต็มที่ต่อวันประมาณ 200 กว่าเทสต์ มากที่สุดอยู่ที่ 1,000 กว่าเทสต์แค่นั้น
“ตอนที่เริ่มมีการระบาดระลอกที่หนึ่ง ก็จะมีกระแสว่า เราไม่มีผู้ติดเชื้อเพราะว่าเราไม่ตรวจ ความจริงคือ ผู้ติดเชื้อมันน้อยจริงๆ” คุณหมอกล่าว
หากเราจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องเท้าความไปถึงหลักการในการตรวจ ซึ่งเริ่มต้นในการระบาดของโควิด-19 รอบที่แล้ว
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั่วไปทุกวันนี้ มาจากการศึกษาค้นคว้ายาวนาน จนเข้าใจหลักการของโรคทั้งหมด ยาที่คุณหมอจ่ายให้เราก็มีงานวิจัยรองรับว่ากินได้อย่างปลอดภัย รักษาโรคได้จริง
แต่กับโควิด-19 หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า มันเป็นโรคอุบัติใหม่ไม่ถึง 2 ปี ความรู้ยังน้อย โดยเฉพาะในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดการระบาดทั่วโลกในระดับที่เรียกว่า Pandemic
การรับมือกับโรคที่ไม่รู้จัก ทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ประเทศไทยจึงกางตำราระบาดวิทยาขึ้นมายึดเป็นกลยุทธในการรับมือ ใช้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเชิงของการตรวจ วิธีที่เราใช้ในช่วงแรก คือการสอบสวนโรค ที่เรียกว่า Contact case tracing
“ถ้าใครจำได้ ตอนที่เริ่มมีเคส คุณแมทธิว ดีน ที่สนามมวยลุมพินี เขาจะใช้วิธีขีดวง ใครติด เขาก็จะไป identify ว่าคือใคร จากนั้นจะเขียนแผนภูมิไทม์ไลน์แต่ละคน คนนี้ติดหนึ่งคนแล้วกระจายอีกกี่คน พอได้แผนภูมินี้ปุ๊บเขาก็จะตามเฉพาะคนที่มีโอกาสสัมผัส แต่คนที่ไม่อยู่ในวงเหล่านี้จะไม่ได้ตามมาตรวจ เพราะฉะนั้น ช่วงแรกเราเลยมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมเราถึงตรวจน้อย เพราะเขาเล่นไปตามตำราระบาดวิทยาเลย
“ถามว่าเขาทำผิดมั้ย ผมคิดว่าก็ไม่ผิดนะ เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั้งโลกเลย แต่ในเวลาต่อมาหน่วยงานสาธารณสุขเริ่มรู้แล้วว่าการติดต่อเกิดง่ายกว่าที่เราคิดเยอะ ช่วงหลังๆ นโยบายหรือแนวการปฏิบัติของทีมกรมควบคุมโรคก็เปลี่ยนไป ดูจากต่างประเทศด้วยว่าปรับยังไง ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเคสที่ร้านแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้า A ถ้าคุณไปห้าง A แต่ไม่ได้ไปร้านนั้น ก็อาจจะไม่ตรวจ แต่ตอนนี้รัฐบอกว่าใครไปห้างสรรพสินค้า A ในช่วงเวลานั้น ตรวจได้หมดเลย”
นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Biotechnology บอกว่าวิธีตรวจที่แตกต่าง มีผลในเชิงจิตวิทยาด้วย
“เคสที่ระยองเป็นจุดเปลี่ยนเลย คือช่วงตั้งแต่มีการระบาดปีที่แล้ว เขายังใช้วิธี approach แบบเดิม แต่พอตรวจเคสทหารอียิปต์ที่ระยอง รัฐเปลี่ยนไปใช้ยุทธการที่เรียกว่า Active case finding เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะ Case Tracing เท่านั้น ที่ต้องซักประวัติก่อนว่าคนนี้ไปเจอกันที่ไหน ใช้เวลาร่วมกันทั้งหมดเท่าไหร่ พอมีข่าวออกไปว่ามีทหารอียิปต์ติดโควิด-19 ออกไปเที่ยวห้างที่ระยอง เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็ไปทำ Active case finding โดยรถพระราชทาน เป็นครั้งแรกที่รถออกสื่อ คือพอรถจอดปุ๊บ เปิดตู้หลังรถ แล้วก็เก็บ มันเป็นจุดเปลี่ยนของกระบวนการทำการตรวจ….”
จุดเปลี่ยนที่ระยอง ทำให้การตรวจในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตรวจเป็น 100,000 เคสได้อย่างรวดเร็ว
ถ้าการตรวจระดับนี้ยังดูไม่น่าพอใจสำหรับคุณ ก็มีปัจจัยหนึ่งที่ควรรู้ คือการตรวจแต่ละครั้งมีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อย
“ค่าตรวจปกติ แรกสุดอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อหนึ่งตัวอย่าง มันก็เป็นงบประมาณที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนที่จ่ายก็คือ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) มันแพงเพราะน้ำยามีน้อย ส่วนใหญ่เรานำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด แล้วก็ต้องไปตบตีกับหลายประเทศเพื่อที่จะได้น้ำยาเข้ามา ซัพพลายเออร์มีน้อยมาก แต่ผ่านไปสักประมาณ 6 เดือน ราคาก็เริ่มลดลง ตอนนี้ reimbursement (ค่าใช้จ่ายที่สามารถทำเรื่องเบิกคืนจากรัฐได้) ของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 2,300 บาท สำหรับการตรวจหนึ่งเคส” คุณหมอเผยข้อมูล
นอกจากนี้ ATGenes ยังคิดพัฒนาวิธีการตรวจที่เรียกว่า Pooled swab ซึ่งยิ่งทำให้ตรวจได้เร็วขึ้น
“สมมติเรานั่งกัน 5 คน ผมจับ swab ทุกคน ทำเสร็จแล้วก็ใส่หลอด ทุกคนก็จะมีหลอดของตัวเองหนึ่งหลอด ทีนี้เวลาที่ผมจะเอาไปตรวจ แทนที่จะไล่ตรวจทีละหลอด ผมจะดูดน้ำยาของทุกคนมาเป็น sampling ผสมในอีกหลอดหนึ่ง แล้วผมก็ตรวจจากหลอดนี้ หากผลเป็นลบก็ถือว่าไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าผลเป็นบวก ผมก็ค่อยมานั่งไล่ตรวจทีละคนว่าตกลงใครติด วิธีนี้เริ่มทำที่เยอรมนี ผมเป็นแล็บแรกๆ เลยที่ทำ ทำให้ค่าตรวจถูกและทำได้เร็ว”
การคิดค้นวิธีการทางการแพทย์ใหม่ๆ ใช่ว่าจะทำได้เลย คุณหมอขยายความว่าก่อนใช้วิธีนี้ต้องมีการทำวิจัยก่อนว่ามันได้ผล มีเอกสารวิชาการรองรับ จึงจะประกาศใช้ได้ โชคดีที่การวิจัยและวินิจฉัยโรคคือความเชี่ยวชาญหลักของ ATGenes ทำให้ขั้นตอนนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากเคสการตรวจในพื้นที่เสี่ยง ATGenes ยังช่วยตรวจให้กับองค์กรที่ต้องการตรวจในจำนวนมาก และอยากได้ผลเร็ว เช่น การตรวจให้ทีมฟุตบอลในไทยลีก หากทีมสร้างความมั่นใจให้สังคมไม่ได้ว่าการไปชมกีฬานั้นปลอดภัย สปอนเซอร์ก็ไม่เชื่อมั่นและไม่อยากลง
เทคโนโลยีของ ATGenes ทำให้ปัญหาโควิด-19 ในบ้านเราคลี่คลายมากขึ้น ทั้งในเชิงสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
เบื้องหลังการคิดค้นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเคลื่อนที่
“ที่มาของรถตรวจ มาจากผมเองและทีมงาน โดยเฉพาะ คุณนที อินต๊ะเสน ที่ช่วยกันคิด” นายแพทย์วิปรพูด
จากที่คุยมาหลายชั่วโมง เราคิดว่าเลือกสัมภาษณ์ถูกคนแล้ว ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเคลื่อนที่มากขึ้น
เท้าความไปช่วงก่อนโควิด ATGenes เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการตรวจ DNA การตรวจลักษณะนี้มีหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจ DNA ของมนุษย์ แต่ถ้าจะตรวจโควิด-19 ให้เจอ ต้องตรวจแบบที่เรียกว่า Molecular Virology คือตรวจหาสารพันธุกรรม DNA หรือ RNA ของไวรัส คุณหมอเล่าว่าเขาตัดสินใจเปลี่ยนที่จอดรถบริษัทให้เป็นแล็บโควิด-19 โดยเฉพาะ ลงทุน 10 กว่าล้านบาท แต่ก็คุ้มเพราะทำให้เขามีความรู้ด้านการตรวจก่อนใคร ATGenes ยังเป็นภาคเอกชนแห่งแรกๆที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ทำแล็บโควิด-19 ได้
ปัญหาที่คุณหมอมองเห็นเกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ คือความลำบากของเจ้าหน้าที่ที่ต้องใส่ชุด PPE ที่ทั้งร้อนและใส่ยากมากในการตรวจ
“Pain point สำคัญของเรื่องนี้คือการเก็บตัวอย่าง ตอนนั้นผมยังไม่ได้มองเรื่องของการเอาเครื่องมือออกไปตรวจหน้างานนะ ตอนนั้นการตรวจมันยากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะอนุญาต รัฐซีเรียสมากเรื่องแล็บที่จะตรวจต้องได้มาตรฐาน ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากสิ่งที่มันทำได้ง่าย และเป็นประโยชน์จริงๆ ก่อน ก็เลยมีไอเดียของการทำรถเก็บตัวอย่าง อยากแก้ pain point เรื่องการเก็บตัวอย่างโดยที่ไม่ต้องใส่ PPE แล้วเจ้าหน้าที่ปลอดภัย
"ในเวลานั้นถ้าจำได้ก็จะมีนวัตกรหลายท่านพยายามจะทำโน่นนี่นั่นขึ้นมา มีตู้เก็บตัวอย่างของ SCG ที่ตอนนี้ก็อยู่ตามหน้าโรงพยาบาลเลย ซึ่งดีนะ มีประโยชน์มาก แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องของการทำ Active case finding เพราะมันต้องเข้าไปที่โรงพยาบาล สมมติที่ระยองถ้าเราตรวจ 4,000-5,000 คน ต่อวัน คนจำนวนนี้เข้าไปออกันอยู่หน้าโรงพยาบาลระยอง เพื่อจะไปเก็บตัวอย่างไม่ได้ มันต้องมีการเก็บตัวอย่างในจุดที่เขาต้องการ”
สุดท้ายการคิดรถเก็บตัวอย่างที่ตอบโจทย์การตรวจ Active case finding คือการสร้างรถที่มีตู้ความดันบวก แพทย์อยู่ในตู้ ภายในมีระบบแรงดันอากาศป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามา คนถูกตรวจอยู่นอกตู้ ถ้าจามระหว่าง Swab ทีมตรวจก็ยังปลอดภัย ตรวจเสร็จมีการพ่นยาฆ่าเชื้อที่จุดตรวจ พร้อมทำงานเก็บตัวอย่างคนต่อไป
เป็นระบบที่ออกแบบโดยเข้าใจ customer experience ของทั้งฝั่งคนตรวจและคนถูกตรวจอย่างแท้จริง
“ตอนนี้เราทำเวอร์ชันสอง 7 คันล่าสุดที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดสร้างเพิ่ม เราเพิ่มระบบ AI เข้าไป ทำ Face Recognition (ระบบระบุตัวตนด้วยใบหน้า) เพราะตอนนี้โจทย์เราเปลี่ยนแล้ว ตอนแรกสุดเราไปลงพื้นที่ระยอง แฮปปี้มาก 4,000 คนตรวจ 2-3 วันเสร็จ รถหนึ่งคันตรวจได้วันละ 1,000 คน ตอนนี้เคสที่สมุทรสาครตอนนี้เหลือน้อยกว่า 100 ราย ต่อวัน เพราะรถไปอยู่ที่นั่น 12 คัน เหมือนรถพุ่มพวง เพราะสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ คนในพื้นที่ก็ไม่ต้องเดินทางออกมา
“เราไปลงพื้นที่แม่สอดปีที่แล้ว มีข่าวว่าตอนนั้นที่เมียนมาเริ่มมีเคสเยอะแล้ว เราเอารถไปจอดในมัสยิดแล้วก็ตรวจเลย แรงงานที่แอบเข้ามาพวกนี้เขาไม่กล้าออกนอกพื้นที่ กลัวโดนจับ คือถ้าไม่มีรถ มันตรวจยากมากถ้าไม่ใช้รถคันนี้” คุณหมอเล่าเบื้องหลังที่คนไม่ค่อยรู้
แนวโน้มโควิด-19 ในประเทศไทยจากผู้รู้จริง
มีหลายปัจจัยที่ทำให้กว่าเราจะได้ใช้ชีวิตคล้ายเดิมก่อนโควิดระบาด น่าจะต้องรออย่างต่ำ 3 ปี
หนึ่ง วัคซีนยังไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร ในช่วงต้น เรามีประชากร 68 ล้านคน การดูแลไม่ใช่เรื่องง่าย มีบริบทต่างจากประเทศอื่น จะไปเทียบกับประเทศที่มีข่าวว่าฉีดได้เยอะ แต่มีประชากรน้อยกว่าเรามาก เช่น อิสราเอล (ประชากร 8 ล้านคน) ก็อาจจะไม่แฟร์กับทีมแพทย์ไทยมากนัก
“แม้ว่าเราจะมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca มาให้เราผลิตเอง แต่โควตาเบื้องต้นที่เราจะได้รับ 26 ล้านโดส บวกกับ Sinovac อีก 2 ล้าน รวม 28 ล้านโดส สำหรับคนแค่ 14 ล้านคน จากคนทั้งประเทศเกือบ 70 ล้าน จำนวนนี้ยังไม่ทำให้เกิด herd immunity (ภูมิคุ้มกันจากคนจำนวนมากที่จะทำให้การระบาดลดลง) รัฐก็ต้องจัดหาเพิ่ม ตราบใดที่ประชากรเรายังฉีดวัคซีนได้ไม่เกิน 60% โอกาสเกิด herd immunity มันก็น้อยมาก เราก็ยังต้องใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป”
สอง ยังมีข่าวเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์เป็นระยะ และเป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้วัคซีนไม่ได้ผล หรือเราต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นกันทุกปี เท่าที่มีรายงาน (อย่างละเอียด) เชื้อกลายพันธุ์ไปแล้ว 1,400 แบบ ข่าวเชื้อกลายพันธุ์ใหญ่ๆ ที่เราเห็นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง นั่นเป็นเหตุผลว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าเราจะมีวัคซีนที่คุมโรคได้อยู่จริงๆ
“การที่เชื้อเข้ามารอบนี้ บริหารจัดการยากมาก เพราะมันเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่เราควบคุมยาก ก็คือแรงงานต่างชาติซึ่งเกิดปัญหาว่า หนึ่ง แรงงานกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งไม่มีบัตร ไม่มีการขึ้นทะเบียนอะไรเลย ถ้าจะแก้ปัญหาด้วยหลักนิติศาสตร์ ก็ต้องจับ แต่เราก็ไม่มีคุกขัง ตอนนี้ที่เมียนมาก็มีปัญหา ผลักดันออกก็ไม่ได้ คนเยอะมากเป็นล้านๆ ตอนนี้รัฐก็เลยต้องทำนโยบายทำนองว่ายกประโยชน์ให้จำเลย เริ่มทำใหม่หมด กำลังกำหนดนโยบายให้ลงทะเบียนตรวจโควิด-19 ทุกคน เนื่องจากโรคอยู่ในกลุ่มประชากรนี้ มันไม่มีทางสงบ มันจะปะทุเหมือนมีฝีอยู่ ตรงไหนสุขภาวะไม่ดีก็จะระเบิดขึ้นมา ไม่มีทางที่เราจะควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อลงไปเหลือศูนย์เหมือนช่วงแรกได้อีกต่อไปแล้ว” คุณหมอเล่าจากมุมมองคนทำงานจริง
แม้หนทางจะอีกยาวไกล เรื่องหนึ่งที่เราพอยิ้มออกบ้างคือ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยโรคในระดับเดียวกับที่ต่างประเทศมี สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ การสนับสนุนให้บริษัทอย่าง ATGenes และอีกหลายหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ประเทศไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง การได้พบตัวจริงอย่าง ATGenes ของนายแพทย์วิปร ทำให้เรารู้ว่าจะผ่านพายุครั้งนี้ไปได้อีกครั้งอย่างแน่นอน