การเมือง

'แรงงาน' ยื่นคำขาด! สร้างจีดีพี แต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ขอมีบทบ้าง ร่าง รธน.ใหม่

MATICHON ONLINE
อัพเดต 18 ธ.ค. 2566 เวลา 14.20 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2566 เวลา 14.20 น.

‘แรงงาน’ ยื่นคำขาด! สร้างจีดีพี แต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ขอมีบทบ้าง ร่าง รธน.ใหม่

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ถนนดินสอ เขตพระนคร เครือข่ายสมัชชาคนจน จัดงาน “เบิกฟ้ารัฐธรรมนูญใหม่” โดยภายในงานมี “ตลาดบ้าน-ป่า” จำหน่ายสินค้าจากชาวบ้าน อาทิ ผักและผลไม้ตามฤดูกาล อาหารสด ไปจนถึงสินค้าแปรรูป นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญคนจน” บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเครือข่ายที่ร่วมรณรงค์ ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของคนจน คนรากหญ้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บรรยากาศเวลา 18.10 น. ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “การกระจายอำนาจ กับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่” อาทิ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม., นายอาหะหมัด เบนโน ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป, นายบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ดำเนินรายการโดย นายทศ ลิ้มสดใส The Reporters

เมื่อพิธีกรถามว่า ในส่วนของแรงงาน มีการกระจายอำนาจมากน้อยแค่ไหน การเดินทางไปทำงานต่างถิ่น มีความหวังดูแลชีวิตตัวเองได้อย่างไรบ้าง ?

เวลา 18.30 น. นายบุญยืน ตัวแทนกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กล่าวว่า เรามักถูกนิยามว่าเป็นประชากรแฝง ไม่ว่าอยู่ กทม.หรือต่างจังหวัด ในทางการเมืองเราแทบไม่ได้ยึดโยงกับท้องถิ่น ถ้าสามารถเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ไปจนถึง ส.ส.เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานมาอย่างยาวนาน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างน้อย ถ้าเรามีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ อย่าง จ.ชลบุรี แรงงานพักที่ จ.ชลบุรี แต่ทำงานใน จ.ระยอง เนื่องจากเป็นรอยต่อ ปัญหาที่เจอคือในส่วนการเลือกตั้ง คนงานไม่มีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วม การเมืองระดับ ส.ส. ก็ไม่ให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงาน ขนส่งสาธารณะ แทบไม่มี ขณะที่ระบบสาธารณสุข ประชากร กระจุกตัวสูง แต่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือ รพ.รัฐ ที่จะรองรับแรงงานที่เจ็บป่วยได้

อีกส่วน คือนโยบายของรัฐบาล จ.ระยอง ถือว่ามีจีดีพี สูงสุดในประเทศ แต่ต้องส่งมาที่ส่วนกลาง กลับไปพัฒนาพื้นที่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ไม่สามารถพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์ และเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาทับซ้อน เวลาเจ็บป่วยจะไปโรงพยาบาลที่ไหน ? อย่างจากที่พัก ผมอยู่ อ.บ่อวิน ต้องเดินทางไป รพ. ที่ จ.ชลบุรี 70 กิโลเมตร ไป จ.ระยอง 60 รถประจำทางก็ไม่มีเหมือนกัน

เราเป็นผู้สร้างจีดีพีของประเทศ แต่ไม่ได้มีการซัพพอร์ต รวมถึงการที่จะสามารถมีเม็ดเงิน พัฒนาตรงไหรก็ได้ มองไปที่ต่างจังหวัด ถนน 10 ปี สร้างไม่เสร็จสักที เป็นปัญหาที่อาจจะต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้อำนาจท้องถิ่นมากขึ้น เพราะในทางปฏิบัติ ไม่ได้กระจายให้อำนาจ หรืองบประมาณตามที่ควรจะเป็น” นายบุญยืนกล่าว

นายบุญยืนกล่าวต่อว่า ส่วนสิทธิเลือกตั้ง ก็สำคัญ ถ้าคนงานสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งทุกระดับ อย่างน้อย จะทำให้นักการเมืองระดับชาติ หันมาให้ความสำคัญกับคนงานมากขึ้น จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี รถระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น

“กลับอีสาน รถติดแน่นที่สุด เราไม่มีขนส่งสาธารณะ จะไปเชียงใหม่ ไม่มีรถไฟความเร็วสูง ต้องนั่ง 10 ชม. คนต้องซื้อรถ ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตสูงขึ้น ถ้าเอาลูกหลานมาอยู่ด้วย โรงเรียนไม่มี จะพาพ่อแม่มาอยู่ด้วย รพ.ก็ไม่มีอีก เป็นปัญหาโยงไปหมด คน กทม.อาจจะโชคดีที่ทรัพยากรทุกอย่างมาอยู่ที่นี่ แต่ในต่างจังหวัด ไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง มีทั้ง อบต. อบจ.แต่มันซ้ำซ้อน ยุบให้เหลืออันนึงได้ไหม” นายบุญยืนกล่าว

นายบุญยืนกล่าวต่อว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ท้องถิ่นอาจจะต้องปรับมารับส่วนนี้ด้วย หากถูกเลิกจ้าง สามารถใช้สิทธิที่ อบต. หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ต้องเดินไปร้อง สำนักงานแรงงานประจำจังหวัด เพราะไกลมาก เป็นไปได้ไหมทุกจังหวัดมีศาลอยู่แล้ว ปรับให้มีส่วนแรงงาน อย่างน้อยทำให้สิทธิแรงงานไม่ถูกลบเลือนจากสังคม เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ

“ต้องมีรัฐธรรมนูญ ที่เขียนสิทธิแรงงานไว้เลย แรงงานไม่มีสิทธิทางด้านสวัสดิการสังคมในพื้นที่ ไม่ได้รับการดูแลเลย อาจจะต้องแก้ไขทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในพื้นที่ด้วย” นายบุญยืนกล่าว

เมื่อถามว่า มีแรงงานตกอยู่ในภาวะเช่นนี้มากแค่ไหน ?

นายบุญยืนกล่าวต่อว่ ความจริง ที่ จ.ระยอง มีแรงงานในระบบ 2 ล้านคน ประชากรแฝง 80 % คนในพื้นที่จริงๆ มีน้อย เป็นผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการลงทุน EEC

“เรามีแผนพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันไม่มีแผนรองรับปัญหาแรงงานเลย รัฐบาลจะบอกว่ามีทะเบียนกลาง ให้ย้ายได้ แต่ไม่ได้เอื้อชาวบ้านขนาดนั้น ย้ายแล้วมีปัญหาทางปฏิบัติ ในการเลือกตั้ง เสียสิทธิ”

“จริงๆ แล้ว ในฐานประกันสังคม เรามีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปคิดให้ซับซ้อน ไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านด้วย สิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น สามารถทำได้ เพียงแต่กฎหมายไม่สอดรับ ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงสิทธิแรงงานเลย สุดท้ายเราก็เป็นแค่ประชากรแฝง” นายบุญยืนชี้

นายบุญยืนกล่าวว่าที่ผ่านมา ถ้าย้อนดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง จะเห็นว่าสิทธิแรงงานไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
ซึ่งการที่แรงงานจะเข้มแข็งได้ ต้องให้มีการรวมตัวกันเป็น ‘สหภาพ’ ตอนนี้เราถูกจำกัดเรื่องการรวมกลุ่ม รวมได้เฉพาะกลุ่มของตน ไม่สามารถเป็นสมาชิกของอุตสาหกรรมประเภทอื่นได้

“รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องให้รวมกลุ่มได้ แต่ในทางปฏิบัติ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ กลับไปจำกัดสิทธิ ทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองได้อย่างแท้จริง ถ้าถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ สามารถแสดงความเห็น ประชาพิจารณ์ได้ แต่กลับถูกตัดสินไปตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว สิทธิชุมชนเราควรมีสิทธิตรงนั้นด้วย”

“เราเคยเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ ให้แรงงานเลือกตั้งในพื้นที่ที่อาศัยได้ ไปอยู่ที่ไหน สิทธิขั้นพื้นฐานตามตัวไปด้วย ไม่ใช่ต้องต้องกลับไปเลือกตั้งที่โคราช ต้องเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่แก้ แต่ต้องเขียนใหม่ มีส่วนร่วมเขียนว่าเราต้องการอะไรบ้าง” นายบุญยืนกล่าว

นายบุญยืนกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ เราให้ใครก็ไม่รู้มากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 360 กว่าบาท ซึ่งอยู่ไม่ได้จริง รถไฟฟ้า ขาเดียวเป็นร้อยแล้ว ถ้าบอกว่า กลัวนักลงทุนหนี ประเทศอื่นๆ ที่ค่าจ้างสูง ทำไมนักลงทุนยังอยู่ ต้องหาวิธีอื่นมาอธิบาย ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย หลัก 3: 8 เป็นมาตรฐาน แต่เราถ้าจะมีพอกิน ต้องทำโอ เอาเงินอนาคตมาใช้ สุดท้ายเกษียณ มีเงิน แต่เอาไปรักษาตัวเอง” นายบุญยืนกล่าว

นายบุญยืนกล่าวอีกว่า อย่างน้อยเราไม่จำเป็นต้องนั่งรอใครคนใดคนหนึ่ง มากำหนดชะตาชีวิตของเรา ถ้าเขียนไม่ดี รัฐธรรมนูญต้องสามารถแก้ไขได้ ที่ผ่านมาเราถูกจำกัดด้วยคนไม่กี่คนมานั่งเขียนรัฐธรรมนูญ และใช้ทั้งประเทศ

เมื่อถามว่า รัฐบาลมีการส่งคนมาถามบ้างหรือไม่ว่า อยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน ?

นายบุญยืนเผยว่า ยังเงียบอยู่ เดินไม่ได้ ดึงขากันอยู่อย่างนี้ อย่าง สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เราต้องการตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

ดูข่าวต้นฉบับ