กิจกรรมสําคัญที่ขาดไม่ได้ในทุกเทศกาลจีน คือ “การเซ่นไหว้” ยิ่งเป็นเทศกาลใหญ่อย่างตรุษจีน การเซ่นไหว้ ก็ดูจะเหมือนว่ามากเป็นพิเศษ ดังจะพบเห็นกิจกรรมการไหว้ตั้งแต่เช้าตรู่จนค่ำมืด ทั้งไหว้ที่บ้าน ที่ศาลเจ้า ที่วัดจีนวัดไทย ที่โรงเจ ฯลฯ คนจีนหรือลูกหลานจีนไหว้ใคร?ไหว้ทำไม?
การเซ่นไหว้ของมนุษย์เกิดจากความกลัวธรรมชาติเป็นเบื้องต้น แล้วค่อยๆ พัฒนาจุดประสงค์ต่างกันออกไป พอแยกเป็นประเภทได้ดังนี้ 1. ไหว้เพื่อขอความคุ้มครอง ในการงาน, ครอบครัว, สุขภาพ และอาจมีการบนบานพ่วงด้วย 2. ไหว้เพื่อขอบคุณ ที่คุ้มครอง และอํานวยสวัสดี การไหว้ประเภทนี้มักทำกันในช่วงปลายที่คนแต้จิ๋ว เรียกว่า “เสี่ยซิ่ง(谢神)ขอบคุณเทพ” ซึ่งจะเป็นช่วงปลายๆ ของคนจีน 3. ไหว้เพื่อรําลึกถึงพระคุณ ได้แก่ การไหว้บรรพชน, วีรชนและบุคคลสําคัญ 4.ไหว้เพื่อเกื้อกูล ได้แก่ การไหว้ผีไม่มีญาติในเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสารทจีน ที่เรียกว่า “ฮอเฮียตี๋” ที่จัดของไหว้ว่างที่พื้นนอกธรณีประตู, ไหว้อุทิศส่วนกุศลในงานทิ้งกระจาด
การเซ่นไหว้ในเทศกาลจีนมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้างแต่ก็อยู่ใน 4ประเภทนี้
ต่อไปก็มาดูว่าแล้วในเทศกาลจีนต่างๆ รวมถึงเทศกาลตรุษจีนนั้น ไหว้ใครกันบ้าง แรกทีเดียวคนจีนให้ความสําคัญแก่ฟ้าดินและเทพทั้งหลายมากกว่าบรรพชน ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมาจึงให้ความสําคัญแก่บรรพชนสูงกว่าเทวดา เพราะอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติจีนอย่างแท้จริงตลอดมา จึงต้องไหว้บรรพชนในทุกเทศกาลของจีน ผู้ที่ได้รับการเซ่นไหว้ในเทศกาลจีนมีดังนี้
1. ฟ้าดิน คนจีนไหว้ฟ้าดินก่อนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น การดํารงอยู่ของมนุษย์ ต้องปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาลซึ่งเชื่อว่าเกิดจากอํานาจของฟ้า การตั้งถิ่นฐาน และเพาะปลูกซึ่งเป็นอาชีพหลักต้องอาศัยดินเป็นฐานและการประสานเรื่องแดด ฝน ฤดูกาลจากฟ้า คนจีนแต่โบราณมาจึงเคารพฟ้าเป็นพ่อดินเป็นแม่ ดังที่เห็นตามโรงเจหรือศาลเจ้าจีนทั่วไป ด้านหน้าจะมีเสาหินตั้งอยู่บนฐานยาว ที่ฐานยาวข้างล่างมีอักษรจีน 4 ตัวว่า 天地父母 (ภาษาจีนกลางอ่านว่า เทียนตี้ฟูหมู่, แต้จิ๋วว่า ทีตี่เป่บ้อ) แปลว่า ฟ้าดิน (ผู้เป็น) พ่อและแม่
2. ธรรมชาติต่างๆ คนจีนมีความเชื่อว่าธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำ, ไฟ, ลม, ฝน, ฟ้าแลบ, ฟ้าผ่า, ภูเขา, ทะเล ฯลฯ ล้วนมีเทพประจําอยู่ เทศกาลจีนบางเทศกาล มีเรื่องเกี่ยวกับเทพเหล่านี้
3. เทวดาและเจ้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ได้แก่ เทพทั้งห้าในยุคโบราณ(เทพแห่งประตูบ้าน, ประตูห้อง, ช่องแสงบนหลังคา, เตาไฟ และทางเดิน) ต่อมาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามถิ่น ของจีนแต้จิ๋ว ได้แก่ เทพแห่งประตู, เตาไฟ, บ่อน้ำ, ส้วม และช่องแสงบนหลังคาห้องโถงกลาง หรือโดยอนุโลมก็คือ ห้องโถงกลาง
4. พระในพุทธศาสนา คือพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ ภิกษุผู้มีชื่อเสียง เช่น จี้กง ไต้ฮงกง ฯลฯ
5. เทพและเจ้าของศาสนาเต๋า นอกจากเทพในลำดับที่ 1-3 ข้างต้นไว้ด้วย และยังมีเทพอื่นๆ อีก
6. บรรพชน เป็นบุคคลสําคัญยิ่งที่ต้องเซ่นไหว้ในทุกเทศกาล ปัจจุบันนิยมไหว้เฉพาะบรรพชนของหัวหน้าครอบครัว 3 ชั่วคนขึ้นไป คือ พ่อ ปู่ และทวด
7. วีรชนและบุคคลสําคัญที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล เช่น ชีว์หยวน กวีที่รักประเทศชาติแต่ถูกใส่ร้ายจนสิ้นหวังในอนาคตของบ้านเมือง จนตัดสินใจโดดน้ำตายในวัน 5 ค่ำ เดือนห้า (ซึ่งตรงกับเทศกาลขนมจ้าง) มีคำเล่าเลือว่าผู้คนช่วยกันพายเรือออกไปหาศพเขา บ้างก็โยนขนมจ้างลงน้ำให้ปลากินจะได้ไม่กัดแทะร่างของเขา การพายเรือแข่งกับเวลาเพื่อหาชีว์หยวนก็พัฒนาเป็นการแข่งเรือมังกรในเทศกาลขนมจ้าง
8. ผีต่างๆ ทั้งผีร้ายและผีดี รวมทั้งผีผู้ยากไร้ไม่มีญาติทั้งหลาย
เทศกาลต่างๆ จะไหว้เจ้าไหว้พระ หรือไหว้บรรพบุรุษอย่างไร ขึ้นกับเรื่องราวและขนบของเทศกาลนั้นๆ ซึ่งหลักๆ ก็คล้ายกัน ต่างกันบ้างในรายละเอียด
สำหรับเทศกาลตรุษจีนการเซ่นไหว้ เริ่มจากเจ้าเตาในวัน 23 หรือ 24 ค่ำ เดือน 12 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน), ช่วงเช้าวันสิ้นปี (30 ค่ำ เดือน 12) ปี 2565 ตรงกับวันที่ 31 มกราคม ไหว้เจ้าไหว้พระต่างๆ ในบ้าน ตามที่กล่าวข้างต้น จากนั้นก็ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติตอนบ่าย กลางคืนเวลา 22.00 (ซึ่งถือเป็นยามแรกของวันใหม่) ไหว้รับไฉ่สิ่งเอี้ย-เทพแห่งทรัพย์สิน, ส่วนวันปีใหม่ (1 ค่ำ เดือน 1) ตอนเช้าจะไหว้พระไหว้เจ้าในบ้าน ไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นจึงค่อยออกไปไหว้พระเจ้าตามวัด, ศาลเจ้าที่ศรัทธานับถือ อย่างไรก็ตามแต่ละถิ่น แต่ละบ้านอาจมีการไหว้ปลีกย่อยต่างกัน
ส่วนจะใช้อะไรเป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือจำนวนมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นกับประเพณีของแต่ละถิ่น, ขนบของแต่ละครอบครัว, ความเชื่อของแต่ละบุคคล ฯลฯ
คลิกอ่านเพิ่มเติม :ความเชื่อเรื่องกิจกรรมแรกของตรุษจีน “ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์” รายงานดี-ชั่วของมนุษย์
ข้อมูลจาก
ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์ มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2565