ทั่วไป

ศิริราช เยือนเนปาล ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเพื่อมนุษยชาติ

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 10 ก.ย 2566 เวลา 11.47 น. • เผยแพร่ 10 ก.ย 2566 เวลา 13.15 น.

ออร์โธพีดิกส์ (orthopedics) คือ ศาสตร์รักษากระดูกและข้อต่าง ๆ ที่ครอบคลุมถึงระบบกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูกสันหลัง ซึ่งสถานการณ์โรคทางออร์โธพีดิกส์ของโลกในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย อันเป็นวัยที่ร่างกายมีความเสื่อมมากกว่าวัยอื่น ๆ

นอกจากนั้น ออร์โธพีดิกส์ยังเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร และเทคโนโลยีในการรักษา รวมไปถึงความเชี่ยวชาญความชำนาญของศัลยแพทย์ จึงนับเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ขาดความเจริญ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลศิริราช ภายใต้แผน “มอบความรักให้แก่มนุษยชาติ Love for Humanity by Siriraj” จึงเปิดโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ซึ่งเป็นพันธกิจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ด้อยโอกาสที่ประเทศเนปาล จำนวน 35 ราย จากผู้ป่วยจำนวนทั้งหมดที่สมัครร่วมโครงการ 730 คน โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลรวมกว่า 30 คน

นำโดย “ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช” หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธพีดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานโครงการก้าวแรกพระบรมศาสดาจะเดินทางไปช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส ที่โรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ระหว่างวันที่ 1-6 ตุลาคม 2566

พร้อมกับถ่ายทอดความรู้แก่แพทย์ออร์โธพีดิกส์ที่โรงพยาบาลสิทธัตถะ ในเรื่องความก้าวหน้าด้านการดูแลบาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเนื้องอกกระดูก ผู้ป่วยบาดเจ็บเอ็นไขว้เข่าฉีกขาด ผู้ป่วยผิดรูปทางเด็ก ผู้ป่วยกระดูกหักรอบข้อสะโพก รวมถึงโรคที่พบบ่อยทางมือ ผ่านระบบ online และ onsite เพื่อเตรียมพัฒนาต่อยอดการรักษาในอนาคตอีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้การเรียนรู้การถ่ายทอดอาจไม่ใช่วันเดียวเสร็จ แต่อย่างน้อยเป็นการจุดประกายในการพัฒนาด้านการรักษาพยาบาลทั้งโรคกระดูกและข้อ และโรคอื่น ๆ ในอนาคต โดยเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ศ.นพ.กีรติ” กล่าวว่า ความเป็นแพทย์ของศิริราช นอกจากหน้าที่ดูแลประชาชน ยังมีอีกมิติหนึ่งที่ทำเสมอคือ การนำพาศักยภาพ ความรู้ และความสามารถที่มีไปมอบให้ผู้ขาดแคลน และสำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการก้าวแรกของพระบรมศาสดาคือ

เกิดจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีชาวต่างชาติมาเรียนด้านภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธพีดิกส์ และกายภาพบำบัด ปีละ 1-2 คน ทั้งจากเนปาล ภูฏาน เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย และมีศักยภาพสร้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“หลังจากจบแล้ว พวกเขากลับไปทำงานที่ประเทศ แต่ปัญหาที่ทราบมาคือ บางคนไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ได้จากการเรียนกลับไปดูแลประชาชนได้เต็มที่ เพราะขาดความพร้อมภายในประเทศ ศิริราชจึงเกิดความคิดว่าอยากไปช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขาตั้งหลักได้เอง และบังเอิญเราได้รับเชิญจากหมอกระดูกของประเทศเนปาล จึงเกิดโครงการก้าวแรกของพระบรมศาสดาขึ้น”

ศิริราช ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เนปาล

สำหรับชื่อของโครงการมาจากประเทศเนปาลเป็นดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของศาสนาพุทธที่เป็นผู้มอบคำสอนที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย พันธกิจครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิดของพระพุทธเจ้า ด้วยการมอบความปรารถนาดีอย่างยั่งยืน ผ่านองค์ความรู้ที่จะทำให้แพทย์ในเนปาลนำไปต่อยอดรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต

“วงการแพทย์ไทยมีศักยภาพในการรักษาโรคข้อเข่าข้อสะโพก รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มีประสิทธิภาพ แต่การไปเนปาลครั้งนี้ เราเล็งเห็นว่าการให้ที่ยิ่งใหญ่ต้องไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ซึ่งประชาชนในเนปาลมีความยากลำบากมาก และประสบปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ขาดทั้งเทคโนโลยี ขาดทั้งทุนทรัพย์ ทำให้คนเนปาลต้องพึ่งพาการหยิบยื่นจากสังคม และการรักษาฟรีในบ้านเขายังไม่ครอบคลุมเรื่องโรคทางกระดูกและข้อ”

หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย ถือว่าไทยดีกว่ามาก ทั้งระบบการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เนปาลยังถือว่าตามหลังเราอยู่ 30-40 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการให้ความช่วยเหลือเรื่องผ่าตัดกระดูกและข้อในประเทศไทยฟรี ทางศิริราชก็ทำด้วยเช่นกัน และทำมานานแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8-10 กันยายน 2566 จัดขบวนไปจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อผ่าตัดฟรี 36 ข้อกระดูก และยังทำสะพานบุญผ่าน “มูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต” เพื่อช่วยเหลือสังคมอีกส่วนหนึ่ง โดยนำรายได้มอบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่

“ศ.นพ.กีรติ” กล่าวด้วยว่า เรามีความมุ่งมั่นอยากช่วยผู้ป่วยที่เข้าโครงการแล้วกลับมามีชีวิตตามปกติ และปลอดภัยจากการผ่าตัดด้วย ทางทีมแพทย์และพยาบาลจึงต้องเตรียมความพร้อมอย่างหนักก่อนเดินทาง สำหรับอุปสรรคและข้อจำกัดที่ต้องฟันฝ่ามากมาย ทั้งเรื่องภาษา เครื่องมือแพทย์ และการขนส่ง รวมถึงบุคลากรของเราที่ไม่สามารถไปครบทีม และยังต้องเตรียมการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการอีกต่อหนึ่งด้วย

ศิริราช ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เนปาล

“สิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างวงการแพทย์และผู้ป่วยครั้งนี้คือศาสนา โดยโครงการจำเป็นต้องใช้ทุนในการดำเนินงาน เพื่อสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนของพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย พระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และพระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (หลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เจ้าคณะภาค 6, 7 ธรรมยุต ช่วยบอกบุญญาติโยมร่วมทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้สนับสนุนโครงการ

โดยนำศรัทธาของญาติโยมเปิดบัญชีขึ้นใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินบริจาคของทางศิริราช เพราะการผ่าตัดกระดูกและข้อแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องใช้ทุนสำหรับการผ่าตัด และค่าข้อเทียมราว 1 แสนบาทต่อ 1 ข้อ ซึ่งการรักษา 35 คนต้องใช้เงินทุนกว่า 3.5 ล้านบาท”

“ศ.นพ.กีรติ” กล่าวถึงสถานการณ์โรคกระดูกและข้อในประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีหมอด้านออร์โธพีดิกส์ประมาณ 2,900 คน ขณะที่ประชากรไทย 5 คน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 1 คน และในผู้ป่วยข้อเข่าข้อสะโพก มีประมาณ 30% ที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการเกิดโรคกระดูกและข้อมาจากสาเหตุสูงอายุ และการมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คนทำงานที่มีปัญหาออฟฟิศซินโดรม ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีอายุน้อยลง

“สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้มอบความรักให้กับเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งชนชาติและชนชั้น เพราะทุกคนเท่าเทียม สามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชีศิริราชมูลนิธิ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-300049-4 หรือบัญชีวัดป่าบ้านตาดเพื่อผู้ยากไร้และกระดูก ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 510-458808-1”

นับว่าการไปช่วยเหลือครั้งนี้เป็นสะพานบุญ และการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความสุข และความภาคภูมิใจแก่ผู้ให้ รวมถึงช่วยส่งเสริมการแพทย์ของประเทศด้อยโอกาสให้มีศักยภาพมากขึ้น

ดูข่าวต้นฉบับ