เจ้า หมายถึง เจ้าผู้ครองนคร หรือผู้มีเชื้อสายเจ้าผู้ครองนคร
น้อย เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน
ฅ่ำ คือ กลั่นแกล้ง ข่มเหง
และ ฅน หมายถึง คน ผู้คน ราษฎร
แปลโดยรวมว่า เจ้าที่เคยบวชเณรกระทำการข่มเหงประชาชน
“เจ้าน้อยฅ่ำฅน” เป็นคำเลียนเสียงจากชื่อของ “เจ้าน้อยคำคง” ผู้มีพฤติกรรมที่ส่อไปทางข่มเหงรังแกประชาชนจนเป็นตำนานเล่าขานของชาวเชียงใหม่
เจ้าน้อยคำคง ชื่อจริงคือ “คำคง” ด้วยความเป็นผู้มีเชื้อสายเจ้าที่บวชเป็นสามเณรมาก่อน จึงมีคำว่า “เจ้าน้อย” นำหน้า
เรื่องราวของท่านผู้นี้มีมากมาย ส่วนใหญ่จะเล่าขานสู่กันฟังในเชิงมุขปาฐะ เนื้อเรื่องอาจแตกต่างกันไป
ในที่นี้ขอนำเรื่องราวบางเรื่องจากงานเขียนของ ปราณี ศิริพร ณ พัทลุง ในหนังสือ เพชรลานนา (1) มาเล่าเป็นตัวอย่าง
เจ้าน้อยคำคงดำรงชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7
คนทั่วไปในสมัยนั้นเรียกชื่อเจ้าน้อยคำคงว่า “เจ้าน้อย” พฤติกรรมของเจ้าน้อยคือชอบข่มเหงรังแกคน ทั้งฉุดคร่าลูกเมียชาวบ้าน กลั่นแกล้งพระเณร ชาวบ้าน ตลอดจนชาวป่าชาวดอย
หญิงชาวบ้านที่มีรูปร่างน่าตาสะสวย ไม่ว่าหญิงนั้นจะเป็นลูกเขาเมียใคร หากเจ้าน้อยพึงพอใจก็จะสั่งให้พ่อแม่นำไปส่งตัวเป็นภรรยา หรือไม่ก็ฉุดคร่าไปด้วยอำนาจ
และถ้าหญิงใดไม่สามารถทนอยู่กับเจ้าน้อยได้ หากมีความปรารถนาจะเป็นอิสระจะต้องเสียเงินค่าเลิกราถึง 50 รูปี ซึ่งเป็นค่าเงินที่สูงมากสำหรับชาวบ้านทั่วไป
ในการทำบุญที่วัด เจ้าน้อยจะไปคอยสังเกตดูการให้ศีลให้พรของพระสงฆ์ หากพระเณรรูปใดลืมหรือให้ศีลให้พรไม่ถูกต้องก็จะถูกไล่ตะเพิดจีวรปลิว
ครั้งหนึ่ง ในช่วงเทศกาลทำบุญเฉลิมฉลองศาสนสมบัติ หลายวัดเตรียมซ้อมการแสดงเพื่อนำไปร่วมในงาน
มีวัดใกล้บ้านเจ้าน้อยวัดหนึ่งซ้อมตีกลองถึงค่อนดึกจนเจ้าน้อยเดือดร้อนรำคาญ รุ่งเช้าจึงให้คนไปนิมนต์พระเณรและเชิญชาวบ้านที่มีส่วนในการซ้อมตีกลองไปที่บ้าน
พอไปถึงก็จัดสำรับอาหารเลี้ยงต้อนรับจนอิ่มหนำสำราญ จากนั้นก็ออกคำสั่งให้ตีกลองไปเรื่อยๆ ห้ามหยุดตีโดยเด็ดขาด หากใครขัดขืนก็ถูกลงหวาย ตีอย่างนั้นตั้งแต่เช้ายันสว่าง
ทำเอาทุกคนเข็ดหลาบไม่มีวัดใดกล้าซ้อมตีกลองอีก
สมัยโบราณ หน้าบ้านของชาวล้านนาจะมีหม้อน้ำบรรจุน้ำตั้งอยู่พร้อมมีกระบวยแขวนไว้เพื่อให้น้ำเป็นทานแก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา
หน้าบ้านของเจ้าน้อยก็มีหม้อน้ำและแขวนกระบวยไว้ 2 อัน อันหนึ่งเล็กมาก อีกอันหนึ่งใหญ่มาก
วันๆ เจ้าน้อยจะถือคันกระสุนเร้นกายอยู่ในที่ลับคอยแอบดู หากคนไหนใช้กระบวยเล็กตักน้ำดื่มแล้วไม่อิ่มจะตักอีกครั้งเป็นต้องโดนยิงด้วยลูกกระสุนทันที พร้อมกันนั้นจะได้ยินเสียงตวาด “สูอยากกินอิ่ม หยังบ่ใช้อันใหญ่ตัก”
และถ้าใครใช้กระบวยใหญ่ตักแล้วเททิ้งเพราะกินไม่หมด ลูกกระสุนก็ปลิวไปกระทบกายให้เจ็บปวดพร้อมเสียงตะหวาด “สูจะกินน้อย หยังบ่ใช้อันน้อย” เป็นอย่างนี้ทุกวันจนไม่มีผู้ใดแวะเวียนไปดื่มน้ำหน้าบ้านหลังนั้นอีกเลย
วันหนึ่ง มีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินผิวปากผ่านหน้าบ้านเจ้าน้อยอย่างมีความสุข เจ้าน้อยเห็นก็เรียกเข้าบ้านแล้วสั่งให้ผิวปากให้ฟังห้ามหยุด พอผิวไปๆ เกิดปากแห้งก็อนุญาตให้ใช้น้ำทาปากได้
การผิวปากนานๆ จะทุกข์ทรมานปานใด แต่ก็เป็นความสุขใจของเจ้าน้อยในครั้งนั้น
การข่มเหงรังแกของเจ้าน้อย ใช่จะมีเฉพาะคนในเมืองเท่านั้น แม้แต่ชาวเขาชาวดอยก็ไม่ได้ละเว้น อย่างเช่นครั้งที่เจ้าน้อยถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่เมืองยวม อำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน
เมื่อไปถึงที่หมายเจ้าน้อยสั่งให้เกณฑ์ชาวกะเหรี่ยงมาทำพลับพลาที่พัก
พวกกะเหรี่ยงก็มาตามคำสั่ง แต่ไม่ได้เอาเครื่องมือมาทำงาน
เจ้าน้อยก็ทำโทษให้กะเหรี่ยงแยกกันยืนเป็นเสาพลับพลา แล้วเอาไม้พาดเป็นตงเป็นขื่อแป ความสูงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้พลับพลาเอียง
เจ้าน้อยก็ขู่ว่าคนไหนสูงจะตัดขาออก ทำให้คนที่ต่ำกว่าต้องพยายามยืนเขย่งด้วยความทรมานเพราะกลัวพรรคพวกของตนจะถูกตัดขา
ยิ่งกว่านั้นยังสั่งให้คนที่เหลือมาทำหน้าที่เป็นเสาเตียงนอนหามตนตลอดเวลาหลับอีก
ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นสาเหตุที่ชาวล้านนาเรียกชื่อ “เจ้าน้อยคำคง” เป็น “เจ้าน้อยฅ่ำฅน” ด้วยประการฉะนี้
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เจ้าน้อยค่ำคน”
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com