“ฟุตปาธไทย” เป็นของทุกคน ยกเว้นคนเดิน!
เป็นคำถามคาใจมานานแสนนานว่าตกลงแล้วทางเท้า หรือ ฟุตปาธของบ้านเรานั้นมันเป็นของใครกันแน่ เพราะยิ่งในเมืองใหญ่ๆ แล้ว พื้นที่การเดินแทบจะไม่เหลือให้คนที่สัญจรด้วยเท้าเลยแม้แต่น้อย
ยกตัวอย่างในกรุงเทพเมืองฟ้าอมร หลายๆ ย่านนั้นการเดินทางบนฟุตปาธจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งแทบจะเหมือนการเดินวิบาก ด้วยสภาพพื้นที่ไม่ใคร่จะดีอยู่แล้วเรายังจะต้องหลบสารพัดสิ่งกีดขวางกันอีก บางจุดฟุตปาธก็เล็กกระจึ๋ง แต่ก็ไม่วาย ยังจะเอาของมาตั้งกันอีก และนี่คือสิ่งที่เราจะพบเจออยู่เสมอ
1 ร้านค้าผู้ยึดครอง : หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร ที่ไม่มีการจัดระเบียบเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พื้นที่คนเดินเท้าลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด นึกภาพทางเท้าย่านสยามก่อนมีการจัดระเบียบสิ! ที่เดินในช่วงเย็นค่ำหายากยิ่งกว่าทองเสียอีก! การจัดระเบียบที่ดีจะทำให้มีจุดผ่อนผันที่ขายได้และจุดห้ามขายตามความเหมาะสม
2. ป้ายนู่น ป้ายนี่ ป้ายนั่น : ป้ายบอกทาง ป้ายโฆษณา ป้ายหมู่บ้านจัดสรร ป้ายหาเสียง (ที่ไม่เจอมานานมากแล้วเพราะยังไม่เลือกตั้งสักที) ที่ขาดการจัดวางที่ดี เดินๆ ไปป้ายหนึ่งอยู่ขวาเดินต่ออีกสามก้าว ป้ายโผล่มาทางซ้าย บางทีก็โผล่มากลางทางเดิน
3. เสาไฟมหัศจรรย์ : แยกออกมาจากบรรดาป้ายคือเสาไฟ เสาไฟฟ้านี่แหละ ที่บางทีตัวมันเองก็อยู่ผิดที่ผิดทาง ที่ต้องถามในใจว่า “พี่โผล่มาทำไมตรงนี้” แต่ยังดีที่ถนนบางเส้นเอาสายไปลงดินแล้ว ดูเป็นประเทศโลกที่หนึ่งขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
4. ป้อม? : ป้อมนี้ไม่ได้หมายถึงชื่อคนแต่อย่างใด แต่หมายถึงป้อมปฏิบัติงานต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งป้อมงานจราจรหรือป้อมหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนฟุตปาธจนเหลือที่คนเดินเพียงแค่ตรอกรูหนู
5. มอเตอร์ไซค์ตัวร้ายกับนายคนเดินตาดำๆ : คู่ปรับตลอดกาลของคนเดินเท้า แม้จะมีมาตรการจับ-ปรับ ผู้ที่ขับขี่บนฟุตปาธแล้วก็ตาม แต่ก็มิอาจนำพาสักเท่าไหร่ ซึ่งบางครั้งเราก็สงสัยว่าเอ๊ะ…เธอมีสิทธิ์อะไรมาบีบแตรไล่ฉันบนทางเท้ากันล่ะนี่
6. “สิ่งนี้” มันเป็นของบ้านใคร : เรื่องของจิตสำนึกบางครั้งก็ห้ามกันไม่ได้ เมื่อทางเท้าเป็นของสาธารณะ แต่บางบ้านหรือบางคนกลับเอาข้าวของมาตั้งให้ระเกะระกะเสียนี่ รวมไปถึงการเอารถทั้งคันขึ้นมาจอดบนทางเท้า แล้วคนจะเดินยังไง? ก็ต้องลงไปเดินเลี่ยงที่ถนนเสี่ยงรถชนแทนยังไงกันเล่า
นี่ยังไม่พูดถึง “สภาพ” ของฟุตปาธที่อิฐบล็อคโยกเยกไปมา, การปูพื้นที่ไม่แน่นหนาพอจนทำให้เดินแล้วน้ำกระเซ็น, พื้นที่ปูเรียบไม่เท่ากัน, การรองรับผู้พิการที่ขาดๆ เกินๆ เพราะถ้าเอาเรื่องเหล่านี้มาร่วมด้วย ฟุตปาธไทยเรียกได้ว่าย่ำแย่เกินคณา
เรื่องปัญหาทางเท้าที่ไม่มีที่เดินอาจจะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ไอ้สิ่งเล็กๆ นี่แหละ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงเรื่อง “จิตสำนึก” ได้เป็นอย่างดี หากมองเรื่องของประโยชน์สาธารณะมาก่อนตัวเองและใส่ใจประชาชนมากขึ้นอีกสักนิด ปัญหาเรื่อง “ฟุตปาธไทย เป็นของใครๆ แต่ไม่ใช่คนเดิน” ก็จะทุเลาลงไปอย่างเห็นได้ชัด และเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญในการนำเราไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ได้เลยล่ะ
ชีวาเวทย์ จิตสาธารณะน้อย กฎหมายอ่อน ความต่อเนื่องในการบังคับใช้ห่วย... จบข่าว....
10 ต.ค. 2561 เวลา 00.12 น.
Sukanya 639 คะแนนเต็ม 100 ถูกทุกข้อจ้ะ
10 ต.ค. 2561 เวลา 00.12 น.
San ผู้ใหญ่บ้านเรามันไม่สนใจหรอกครับ ทำไรเหมือนไฟไหม้ฟาง จะมีหน้าบางหน่อยก็เวลาต่างชาติเขารายงาน กลัวเขาจะมองไม่ดี
10 ต.ค. 2561 เวลา 00.10 น.
Boy น่าอาย ผู้คนไร้วินัยและความรับผิดชอบ
10 ต.ค. 2561 เวลา 00.16 น.
T.cho วิธีที่ดีสุดเพิ่มโทษปรับให้หนัก
10 ต.ค. 2561 เวลา 00.06 น.
ดูทั้งหมด