ทั่วไป

"สามารถ" อัด กติกาเลือกตั้งมีปัญหา สร้างกับดักพรรคการเมืองไทย ยุแก้พ.ร.ป. 2 ประเด็นก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า

MATICHON ONLINE
อัพเดต 21 มิ.ย. 2563 เวลา 07.47 น. • เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2563 เวลา 07.47 น.

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า กับดักพรรคการเมืองไทย ถ้ากติกาไม่เปลี่ยนแปลง เลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พรรคเล็ก พรรคใหญ่ จะมีปัญหาหมด พรรคเล็กทุนน้อยคงดำรงอยู่ไม่ได้ แม้พรรคใหญ่ ทุนมาก ก็จะประสบปัญหายุ่งยากไม่น้อย กติกาเขียนให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคจะได้คะแนนต้องส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง เขตไหนชนะที่ 1 ก็ได้ที่นั่ง ส.ส.เขตนั้นไป ถ้าไม่ได้ที่ 1 ก็เอาคะแนนที่ได้มารวมกันเพื่อคิดสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่คะแนนรวมที่ได้จาก ผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ได้อันดับ 1 ก่อนนำมารวมคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะถูกนำไปเฉลี่ยให้ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตที่ได้ที่ 1 ก่อน แม้ชนะที่ 1 แต่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กติกากำหนดไว้ เช่น เลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องมีคะแนนเฉลี่ยประมาณ 80,000 คะแนน (จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหารด้วยจำนวน ส.ส.500คน ทั้ง ส.ส. เขต 350 คน และส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คน) ผู้สมัครที่ได้ที่ 1 ในเขต น้อยคนจะได้คะแนนตามเกณฑ์ สมมุติได้ 50,000 คะแนน ก็ต้องนำคะแนนของพรรคที่ได้เขตอื่นที่ไม่ได้ที่ 1 มาเติมให้ถึงเกณฑ์ อีก 30,000 คะแนน (แบบนี้จนไม่มีคะแนนเหลือ) เป็นเหตุให้พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส. เขต มาก จึงไม่เหลือคะแนนมาให้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้เข้าไปเป็นส.ส. และด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งพรรคเล็ก ไม่หวังที่ 1 ในเขต แต่หวังนำคะแนนมารวมกันให้ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่นิยมเรียกกันว่า แตกแบงค์ย่อย เป็นหลายพรรค

“เลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า กติกาเขียนไว้ว่าพรรคที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเขตไหน ต้องมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้น จะส่งครบ 350 เขต ก็ต้องมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดครบทั้ง 350 เขต เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง (การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีบทเฉพาะกาลยกเว้นให้ ในหนึ่งจังหวัดมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดเพียงเขตเดียวก็ได้) การมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดในแต่ละเขตเลือกตั้ง พรรคต้องหาสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ในเขตเลือกตั้งนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จัดประชุมกัน มีองค์ประชุมไม่ต่ำกว่า 50 คน เพื่อเลือกตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดของเขตเลือกตั้งนั้น ถึงวาระใกล้เลือกตั้ง แต่ละเขตจะประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อให้สมาชิกลงมติเห็นชอบเสนอชื่อผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง และลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อตามบัญชีที่พรรคส่งมาให้พิจารณา กระบวนการนี้มักเรียกกันโก้หรูว่า ไพรมารีโหวต ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงพิธีกรรมตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพราะมีสมาชิกมาประชุมกันครบองค์เพียง 50 คน ได้ชื่อผู้สมัครในเขตสองชื่อแล้วส่งไปให้คณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการบริหารพรรคตัดสินเป็นที่สุด ด้วยกระบวนการนี้ พรรคเล็กจะเอาทุนที่ไหนมาทำองค์กรผู้แทนพรรคประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง เพื่อส่งผู้สมัครเขต หวังเป็นสะพานลำเลียงคะแนนมาให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายสามารถกล่าวว่า จริงอยู่อาจส่งไม่ครบทุกเขต แต่คะแนนที่รวบรวมได้ก็จะมีจำนวนน้อยไปด้วย พรรคเล็กอาจอยู่ได้ แต่อยู่ยาก ส่วนพรรคใหญ่ อาจได้เปรียบ มีทั้งทุน มีทั้งสมาชิกพรรคในทุกเขต แต่อย่าเผลอเพราะกติกาปัจจุบัน กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องเสียเงินค่าบำรุงพรรคทุกปี ติดค้างค่าบำรุงติดต่อกันสองปีจะต้องหมดสมาชิกภาพ

นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งทั่วไป เดือนมีนาคม 2562 อีกไม่กี่เดือนก็จะครบสองปีแล้ว ได้สำรวจข้อมูลกันหรือยังว่า มีสมาชิกคนไหนที่ต้องจ่ายค่าบำรุงบ้าง ชะล่าใจ เกิดไม่จ่ายค่าบำรุงติดต่อกันสองปี หมดสมาชิกภาพตามกฎหมายโดยอัตโนมัติ สาขาพรรคก็ดี ผู้แทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งก็ดี จะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เพราะมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย ปรากฎการณ์ที่เกิดให้เห็น พรรคเล็กบางพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ตระหนักว่า อนาคตคงไปไม่ไหว ชิงใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เลิกกิจการพรรคตัวเอง ย้ายไปอยู่กับพรรคใหญ่ พรรคเล็กอีกหลายพรรคก็คงจะเอาอย่างในอีกไม่นานนี้ เดือดร้อนกัน ทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่อย่างนี้ ทำไมไม่มาร่วมมือกันแก้กติกา คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แก้ประเด็นหลักเพียง 2 ประเด็น คือ 1.ยกเลิกการมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง เอาตามบทเฉพาะกาลที่เคยใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา คือ จังหวัดหนึ่งมีเพียงเขตเดียวก็พอ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่มีเจตนาอยากให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2.ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรค เพราะสมาชิกพรรคอาจช่วยสนับสนุนพรรคที่เขาเลื่อมใสศรัทธาได้หลายวิธี บางคนมีเงินก็บริจาคเงินให้พรรค บางคนอุทิศแรงกายแรงใจช่วยงานพรรคตามถนัด ไม่ควรเอาเงินมาเป็นหลัก แถมมีเงื่อนไขบังคับไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคติดต่อกันสองปีต้องหมดสมาชิกภาพ ถือเป็นเงื่อนไขและอุปสรรคในการพัฒนาพรรคการเมืองด้วย

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ใจจริงอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เปิดกว้างให้เป็นเรื่องของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้แทนของเขา แต่เมื่อออกแบบรัฐธรรมนูญกันมาอย่างนี้แล้ว ก็แก้กฎหมายลูก คือกฎหมายพรรคการเมือง เฉพาะประเด็นที่ไม่เป็นสาระและเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการคงอยู่และการพัฒนาพรรคการเมืองเท่าที่มีโอกาสทำได้ไปพลางก่อน ในบ้านเรา คนเขียนกติกาไม่ได้ใช้ คนใช้กติกาไม่ได้เขียน เลยจะพากันเดินไปติดกับดักให้ยุ่งยากวุ่นวายกันหมด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 11
  • Cafe'
    ..ปชต.ปลอม กำลังอวสาน!!..
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 10.28 น.
  • สมพงษ์
    กฎหมายดักโจรกินบ้านเมืองไง
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 10.03 น.
  • Thawatchai
    แพ้ทีไรทีปัญหาทุกทีถ้ามึงชนะก้อว่าดีถุย
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.43 น.
  • เป้
    แก้ให้พวกมึงชนะโดยไม่ต้องเลือกตั้งเลยดีมั้ย ถนัดแก้อยู่แล้วนี่พวกมึง แก้ให้กฏหมายตรงกับความเลวของตนเอง จะได้ไม่มีปัญหา
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.38 น.
  • Tawan.
    โคตรเบือเลยเลือกตั้ง
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.35 น.
ดูทั้งหมด