ทั่วไป

คุยกับ นันทนา นันทวโรภาส เมื่อ ‘ไลฟ์โค้ช’ ก้าวพลาด บนความล่มสลายของศรัทธา

MATICHON ONLINE
อัพเดต 04 ก.ค. 2563 เวลา 05.09 น. • เผยแพร่ 04 ก.ค. 2563 เวลา 05.06 น.

จากดราม่า “ฌอนชมว่า บิ๊กป้อมน่ารัก” แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอก “ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า” สู่ปมรับเงินบริจาคช่วยดับไฟป่าที่เชียงใหม่ ที่เจ้าหน้าที่บอกว่า “ไม่มีใครได้รับความช่วยเหลือ”

ลามไปถึง “ขุนเขา” สินธุเสน เขจรบุตร อีกหนึ่งนักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง ที่ออกมาป้องเพื่อน ฌอน บูรณะหิรัญ ในฐานะคนทำอาชีพเดียวกัน จนสังคมไทยในโซเชียลแอบหวั่นว่าจะมีอุปนิสัยและอยู่ในข่ายธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังได้เห็นวลีที่ว่า “อยากให้เราทุกคนฉลาดกว่าสิ่งที่ตาเห็น”

แล้วสังคมไทยไม่ฉลาดจริงหรือ จึงต้องพึ่งไกด์ทางชีวิตที่เรียกว่า “ไลฟ์โค้ช”

แล้วที่ผ่านมาสังคมไทยได้เรียนรู้อะไรมากกว่า เอาฮาด้วยการแชร์มีม “ไลฟ์โค้ชพี่เสก”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อะไรคือบทเรียนที่ทำให้ชีวิตของผู้เป็นที่รักกลับตาลปัตร ถูกสังคมจวกยับได้ด้วยวิดีโอเพียงคลิปเดียว

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก สวมแว่นการเมืองร่วมวิเคราะห์สารที่สื่อจากประเด็นนี้

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

– ถ้า “ณอน” ชมบิ๊กป้อมเพราะมองว่า น่ารักจริงๆ แล้วเขาผิดตรงไหน?

โดยสถานะของฌอนเป็นไลฟ์โค้ช ความสามารถของเขาคือการพูด การสื่อสารเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมื่อก้าวล้ำมาเส้นการเมือง ก็ต้องบอกว่า มันไม่ใช่ ถ้าเขาจะชมลุงป้อมว่า เป็นคนที่อัธยาศัยดี มีไมตรี มนุษยสัมพันธ์ดีเพราะเจอกันแล้วไม่ทำตัวเป็นผู้มีอำนาจ อันนี้ก็เข้าใจได้ คีย์แมสเสจคือ ลุงป้อมเป็นคนน่ารัก ถ้าคำนี้คำเดียวคนอาจจะไม่รู้สึกอะไรมากนักแม้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่คนทั่วไปรับรู้ แต่ยังมีเสริมต่อไปอีกว่า เราอย่าไปตัดสินคนจากการดูสื่อ สื่ออาจจะชี้นำเราไปว่าคนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะไปคล้อยตาม ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองชัดๆ เพราะเขาพยายามจะบอกว่า คุณอย่าไปเชื่อสื่อนะ สื่อจะชี้นำคุณ แต่ในขณะที่ตัวเขาเองก็ชี้นำว่า “ลุงป้อมน่ารัก” นี่คือการล้ำเส้น จากนักพูดสร้างแรงบันดาลใจด้านการใช้ชีวิต มาเป็นเรื่องของการให้เครดิตทางการเมือง คนจำนวนมากจึงรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่หน้าที่ของฌอน

เป็นความล่มสลายของศรัทธาจากการสื่อสาร เพราะสิ่งที่นำเสนอขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วไป การพยายามจะใช้เครดิตของตัวเองมาสร้างภาพลักษณ์ให้กับลุงป้อมทำให้คนเกิดความสงสัยและรู้สึกเหมือนกับว่า ฌอนกำลังรับงานมาทำ เกิดภาวะรู้ทันฌอน เกิดวิกฤตศรัทธาในตัวฌอน พอความศรัทธาคลอนแคลน คนก็เริ่มขุด นี่คือที่มาของการพยายามจะบอกว่า ฌอนเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรมาก่อน เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับฌอนกำลังจะต่อกันเป็นจิ๊กซอว์ให้เห็นฌอนทั้งตัวตน

– มีคนบอกว่าแค่สร้างโปรไฟล์ปลอมเพื่อให้ตัวเองดูดีก็เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจได้ เพียงแต่ช่วงนี้มีโซเชียลเลยขุดคุ้ยได้ง่าย ในอดีตก่อนมีโซเชียลมีเดีย มีไลฟ์โค้ชหรือไม่?

สมัยก่อน การที่คนคนหนึ่งจะขึ้นมาบอกกับสังคมว่า ฉันเป็นคนที่มีความรู้ ฉันสามารถที่จะนำพาชีวิตคุณไปสู่สิ่งที่ดีได้ เป็นเรื่องที่สังคมจะรับรู้ได้ยาก เนื่องจากสื่อไม่ได้มีลักษณะทางตรงที่รวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน ก็คงจะมีบ้างที่เป็นไลฟ์โค้ช แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะเป็นพระ อย่างพระพยอม กัลยาโณ เทศน์ มีคนอัดเทปแล้วเอาไปขาย คนไปฟังกัน ก็จัดเป็นไลฟ์โค้ชอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไป อย่างเก่งคือเขียนหนังสือขาย ขายดีติดๆ กันหน่อย คนก็เริ่มตาม แต่สมัยนี้มีโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจะทำอะไรก็ได้ ใครที่มีบุคลิกดูดี ไปสรรหาคำพูดคมๆ แล้วไปทำให้ชีวิตของตัวเองมีสีสัน พอคนเห็นก็ประทับใจ เริ่มรู้จักและติดตาม สุดท้ายก็สถาปนาตัวเองมาเป็นไลฟ์โค้ช จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดคนเหล่านี้ขึ้นมาเรื่อยๆ

– เปรียบเทียบไลฟ์โค้ชที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับในเมืองนอกกับในเมืองไทย ความแตกต่างคืออะไร?

ความจริงแล้วคนที่จะเป็นไลฟ์โค้ชได้ต้องมีความลึกซึ้งในกระบวนวิถีชีวิตของตัวเอง สามารถตกผลึกและหลอมรวมความเป็นตัวตน จนสามารถออกมาสอนให้คนพัฒนาตัวเองได้ สามารถทำให้คนที่รับฟังการฝึกอบรมของเขาแก้ปัญหาชีวิตได้ ทำให้คนที่ล้มเหลวที่สุดในชีวิตก้าวขึ้นมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ อันนี้ค่อนข้างที่จะเป็นของจริง แต่ไลฟ์โค้ชของไทยเราไม่รู้ความเป็นมา จู่ๆ บอกว่า มีชีวิตที่ขมขื่นแล้วมาประสบความสำเร็จ มีคำเท่ๆ คมๆ ก็อาจจะทำให้เขาเป็นที่นิยมได้ในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อมีอะไรมาสะดุด คนก็เริ่มไปขุด ต่อไปนี้คนที่จะทำตัวเป็นไลฟ์โค้ชก็อาจจะต้องระวังหลังให้ดี เพราะถ้าถูกขุดแล้วไปเจออะไรที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองสร้างภาพให้คนเห็น ก็จะพังทลายกลายเป็นวิกฤต
ศรัทธา

– ในฐานะที่เคยเป็นนักพูดมาก่อน จำเป็นหรือไม่ที่ไลฟ์โค้ชต้องคิดคำพูดของตัวเอง ในเชิงจรรยาบรรณของนักพูดสามารถทำได้หรือไม่?

มันก็เป็นไลฟ์โค้ชที่เฟคไงคะ (หัวเราะ) เพราะไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อย่างไลฟ์โค้ชชาวอเมริกัน แอนโทนี รอบบินส์ เขาไปโค้ชทหารให้สามารถยิงปืนแม่น โค้ชนักเทนนิส อย่าง อังเดร อากัสซี่ ให้ขึ้นมาเป็นมือหนึ่งของโลกได้ สอนให้คนใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญชีวิต หลุดพ้นจากปัญหาของตัวเอง อย่างนี้เป็นไลฟ์โค้ชของจริง พิสูจน์ได้จากการที่คนเข้าคอร์สของเขาแล้วกลับไปประสบความสำเร็จ แต่ไลฟ์โค้ชของไทยมีลักษณะที่เอาคำหรูๆ หรือสร้างประวัติตัวเองที่มหัศจรรย์ และทำให้คนเชื่อ อันนี้ถ้าถูกขุด ก็รู้แล้วว่าเฟค เพราะไม่ได้มีความลึกซึ้งกับชีวิต ไม่ได้มีหลักการที่จะนำพาผู้คนให้หลุดพ้นจากปัญหาได้จริง ตรงกันข้าม นอกจากจะไม่ได้ช่วย บางทีอาจจะเป็นการทำร้ายเขาด้วย เพราะสุดท้ายเสียเงิน เสียเวลามาแล้วชีวิตเขาแย่ลง

– อะไรคือจุดอ่อนของไลฟ์โค้ชคนไทย เพราะคิดแค่คำคม แต่ปราศจากพื้นฐานเชิงปรัชญา?

อาจเป็นเรื่องของ “ความเป็นมืออาชีพ” ไลฟ์โค้ชก็คือคนที่มีศาสตร์แห่งการนำพาชีวิตผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีงาม แต่ไลฟ์โค้ชของเมืองไทย เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงก็จะมุ่งไปสู่เรื่องของ สิ่งที่ตัวเองจะได้ ถึงจุดหนึ่งความเป็นมืออาชีพหายไป แทนที่จะพัฒนาศาสตร์ของตนเองเพื่อสร้างคน กลายเป็นไปหมกมุ่นกับสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วตนเองจะได้ประโยชน์ ชื่อเสียงจะทำให้ตัวเองได้ผลประโยชน์อะไร แค่ไหน

ถ้าเป็นสิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากวิธีคิด ตกผลึกจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง แล้วพบว่า ใช่ จริง จึงเอามาถ่ายทอด อย่างไรมันก็จริง อย่างไรมันก็คือแก่นสาร แต่ถ้าไม่ได้คิดเอง พยายามที่จะแกะแบบเขามาแล้วก็เดินตามอย่างง่ายๆ ด้วยการมีวาทกรรมหรูๆ แต่ในความเป็นจริงตัวเองก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น ตัวเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา สุดท้ายมันก็กลวง แล้วคนก็จะรู้ได้ในที่สุด ของแท้มันก็คือของแท้ ของไม่จริง สุดท้ายคนก็รู้ว่ามันเทียม

– ที่ผ่านมาบุคคลสาธารณะหลายคนโดนสังคมรุมประณาม จุดร่วมคืออะไร เพราะพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่มากก็น้อย?

การเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่ว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวเพราะการเมืองมีข้างอยู่เสมอ เมื่อเราสื่อสารอะไรออกไปจะมีกลุ่มหนึ่งที่ชอบ กลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบ ด้วยสถานะตรงนี้ เวลาที่เราจะสื่อสารทางการเมือง แปลว่าเรายอมรับแล้วว่าเราจะยืนอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะมีจุดยืนที่ชัดเจน เหมือนกับดารา ศิลปินที่เข้าร่วมกับสีเสื้อในช่วงที่ผ่านมา ก็รับรู้แล้วว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบ นั่นแปลว่า คุณก้าวเข้ามาทางการเมืองแล้วจะยืนอยู่ที่จุดศูนย์รวมของความรักไม่ได้อีกต่อไป คุณเลือกแล้วว่าจะยืนอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะสังคมรับรู้และกลายเป็นภาพจำไปแล้ว ดังนั้น หากไม่อยากจะเข้ามาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ก็เดินในทิศทางที่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง เดินบนทิศทางของคุณต่อไป ถ้าฌอนไม่ยุ่งเรื่องลุงป้อมก็อาจจะเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ต่อไปยาวๆ แต่พอเขาก้าวเข้ามา มันเป็นก้าวที่พลาดเพราะคนที่เขาเลือกพูดถึงมีสถานะที่สำคัญมาก เป็นคนที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ดูอย่าง โน้ส อุดม แต้พานิช เขาก็แตะการเมืองนะ แต่แตะด้วยอารมณ์ขัน เป็นการเสียดสี ประชดประชัน ซึ่งเป็นไปอย่างสอดคล้องกับอารมณ์ของสังคม ไม่ได้ใช้เครดิตของเขามาสร้างภาพลักษณ์ให้กับใคร แต่มุมที่ฌอนพูด ชัดเจนนะคะ ว่าพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับลุงป้อม ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ถ้ามองในแง่ของการสื่อสารทางการเมือง ก็ต้องบอกว่า ฌอนล้ำเส้นชนิดที่มีข้างเต็มตัว การพยายามที่จะพูดถึงสื่อ ว่าอย่าตัดสินใครจนกว่าตัวเราเองจะได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริง คือการให้เครดิต 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งที่เขาพูดขัดแย้งกับความเป็นจริง บุคคลสาธารณะไม่มีใครเข้าถึงได้ จนถึงวันนี้หลายคนก็ยังไม่เคยเจอ ครม.ชุดนี้ตัวเป็นๆ บุคคลสาธารณะเราเห็นเขาผ่านสื่อก็ต้องตัดสินเขาผ่านสื่อนั้่นแหละ แต่ฌอนกำลังจะบอกว่าสื่อมีวาระซ่อนเร้น ผู้รับสารควรจะมีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งวิธีการพูดแบบนี้ดูถูกตัวตนของผู้รับสารประมาณว่า ไม่มีวิจารณญาณ เมื่อดูคลิปแล้วจึงมีความรู้สึกว่า ฌอนรับงานอีเวนต์ที่มีของแถมพ่วง แล้วเขาอาจจะคิดว่านิดหน่อยเอง แค่พูดไม่กี่ประโยค แต่มันทำลายทั้งชีวิตได้เหมือนกัน

– แล้วชีวิตคนเราจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีไลฟ์โค้ช?

แล้วแต่บุคคลนะ ถ้าเป็นคนที่มีวิธีคิดแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ แสวงหาข้อเท็จจริง สืบค้นข้อมูล ก็ไม่จำเป็น เพราะข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าจะช่วยให้เราสามารถปรับตัว ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เป็นอยู่และดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวของเราเอง แต่สำหรับบางคนที่อาจจะไม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้มากนัก มีข้อจำกัด หรืออาจจะเป็นปัญหาทางจิตวิทยา ก็อาจจำเป็น แต่เมื่อชีวิตของเราดีขึ้นก็ไม่จำเป็นจะต้องผูกติดกับสิ่งที่เขาแนะนำเราตลอดไป ไลฟ์โค้ชก็เหมือนนักจิตวิทยากลุ่ม ทำให้คนเป็นหมื่นเป็นแสนมีวิธีคิดไปในทิศทางที่คล้ายกัน ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนที่มีวิธีคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุเป็นผล เมื่อทุกข์เราก็ไปหาเหตุแล้วจัดการเหตุนั้น สืบค้นข้อมูลว่าคนอื่นๆ ทำอย่างไรเมื่อเขาเจอปัญหาแบบนี้ ก็สามารถที่จะเป็นโค้ชของตัวเราเองได้ ส่วนตัวก็ไม่มีไลฟ์โค้ช แต่อ่านงานเขียนของ แอนโทนีโอ รอปบินส์ อย่าง Unlimited Power ประมาณว่า เราสร้างพลังของเราได้ แล้วรู้สึกว่า อืม.. สิ่งที่เขาเขียนมันช่วยให้เรามีวิธีคิดและมุมมองที่เป็นบวก การอ่านหนังสือแล้วเอาคำแนะนำมาปรับก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เพราะความจริงแล้ว ไลฟ์โค้ชคือ ผู้แนะนำ เขาไม่ใช่ศาสดา และเขาไม่ใช่ศาสนา เราเป็นไลฟ์โค้ชให้ตัวเองได้ เพราะไม่มีใครรู้จักตัวตนเราได้เท่าตัวเราเอง

– เห็นอะไรในการสื่อสารการเมือง ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา?

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ใน “สถานะพิเศษ” ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย การเมืองไม่ได้เปิดเต็มที่ ไม่สามารถออกมาสื่อสาร แสดงจุดยืนและทรรศนะได้อย่างเต็มที่ เว้นแต่คนที่มีอำนาจ แต่ประชาชนโดยทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะแสดงออก มันจึงเป็นบรรยากาศแบบ อึมครึม เราอยากจะพูดก็ทำไม่ได้เพราะมีข้อกฎหมายมากมายกดทับอยู่

ช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมาการสื่อสารทางการเมืองของสังคมไทย จึงเป็นการสื่อสารออกมาจากซีกข้างเดียว เชื่อมโยงไปถึงฌอนตรงที่ว่า เมื่อสังคมถูกกดไว้ เก็บไว้ พอมีใครบางคนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ออกมาสื่อสารในมุมที่คนรู้สึกไม่เอาด้วย จึงเกิดปฏิกิริยารุมเข้ามา เพราะคนเก็บกด

ถ้าน้ำมันเดือดแล้วไม่มีรูระบาย สุดท้ายจะถึงจุดที่ระเบิดได้ รัฐบาลควรกลับมาไตร่ตรองให้ดีกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่พยายามรักษาไว้ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาตัวหนึ่งเหมือนกัน

“อย่าใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จออกมาสื่อสารเพื่อสร้างตัวตนและชื่อเสียง เพราะสุดท้ายความเท็จนั้นจะทำลายทุกอย่าง” รศ.ดร.นันทนาทิ้งท้ายด้วยบทเรียน

 

‘ความจริงในสังคมไทย พระสงฆ์คือไลฟ์โค้ช’

“ความจริงในเมืองไทย พระสงฆ์คือไลฟ์โค้ชนะ”

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส กล่าวด้วยอารมณ์ขัน ก่อนจะอธิบายเพิ่มว่า ถ้ามีพระที่พยายามจะโค้ชเราไปในทิศทางที่ควรจะเป็นและเหมาะสม สังคมก็เหมือนมีผู้ช่วยแนะนำทางไม่ให้เคว้งคว้าง

แต่ด้วยปัจจุบัน พระสงฆ์ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณถูกตั้งคำถามอย่างหนัก นี่คือเหตุที่ทำให้สังคมไทยหันมาพึ่งไลฟ์โค้ชหรือไม่ แล้วสังคมไทยขาดอะไร?

“ปัจจุบันศาสนาดูจะห่างออกจากคนไปเรื่อยๆ เราไปฟังพระสวดงานศพ ใช้ภาษาบาลี ก็พนมมือไปเพราะไม่รู้เรื่อง นั่นทำให้เราห่าง เราจึงอยากหาคนที่ทันสมัยกว่า อยู่ในลุคที่เหมือนกับเรา ไม่ใช่อยู่ในผ้าเหลืองแล้วสอนให้เรามีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นคนละชีวิต จึงเกิดไลฟ์โค้ชขึ้นมามากมายขณะนี้

โลกของเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สาย เราได้รับข้อมูลข่าวสารมากมายแต่ความสัมพันธ์ของคนห่างไปเรื่อยๆ เรานั่งอยู่คนเดียวของเราได้ทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี โควิดบอกว่า เราสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องไปสัมพันธ์กับผู้คน ก็อาจจะทำให้คนเกิดความรู้สึก ว้าเหว่ โดดเดี่ยว อยากจะมีอะไรมาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว ความจริงหลักการทางศาสนาเป็นปรัชญา เอามาประยุกต์ใช้ได้ แต่วิธีการที่จะสื่อสารมันเป็นปัญหา เราเลยมองหาคนที่เป็นผู้ส่งสารใหม่”

ที่สื่อสารแล้วเรารู้เรื่อง ทำตามแล้วไม่เชย เป็นอะไรที่ร่วมสมัย

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 13
  • ตั้งแต่รุ่น อรพินแล้วมาฌอน เห็นแก่เงิน แล้ว ยังพูดให้ร้ายคนอื่นชี้แนะราวกับว่า ปชช คนไทย โง่มากมาย จูงง่าย. หลงตัวเอง อาชีพหลอกลวงคน
    04 ก.ค. 2563 เวลา 06.50 น.
  • Leevaria
    ไลฟ์โคชตังจริงคือคนรุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของจริงจ่ะ เด็กวานซืนพวกนี้นะ (บางคน)ก็แค่ขอทานออนไลน์
    04 ก.ค. 2563 เวลา 07.11 น.
  • วิศิษฐ์
    ยังไม่กล้าเปิดสเตทเม้นบริจาคเพราะอะไร อันนี้น่าสน. แปดแสนน้อยไปมั่ง โตโน่คนเดียว1แสนแล้ว
    04 ก.ค. 2563 เวลา 07.21 น.
  • อาชีพ ตลกดี...!!
    04 ก.ค. 2563 เวลา 07.19 น.
  • Chana
    คำพูดของปุถุชนไม่อะกาลิโก ศึกษาและปฏิบัติตามตถาคตให้รู้แจ้ง รู้ชัด รู้พร้อมแล้ว ข้าน้อยศรัทธาในตถาคตว่าท่านคือไลฟ์โค้ช ที่เราทั้งหลายจะได้รับผลจริงๆ พระสงฆ์เป็นแค่ผู้เดินตามคำสอนของตถาคต ตถาคตเป็นศาสดา แต่ท่านทั้งหลายต้องมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จึงถึงที่หมายสูงสุดของไลฟ์.
    04 ก.ค. 2563 เวลา 07.33 น.
ดูทั้งหมด