ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พีทีทีจีอี ยันคดีปาล์มอินโดฯ ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นไปตามการชี้แจง ป.ป.ช.

NATIONTV
เผยแพร่ 22 มี.ค. 2562 เวลา 10.27 น. • Nation TV
พีทีทีจีอี ยันคดีปาล์มอินโดฯ ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นไปตามการชี้แจง ป.ป.ช.

นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (พีทีทีจีอี) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางรสยา เธียรวรรณ ผู้บริหารพีทีทีจีอี เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 4 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการรับเอกสารคำฟ้องไว้ทางธุรการเท่านั้น ซึ่งศาลยังไม่ได้ประทับรับฟ้องแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในข่าวยังระบุว่านางรสยา เธียรวรรณ นำเงินหรือทรัพย์สินไปติดสินบนกับพยานรายหนึ่งที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้ถ้อยคำบิดเบือนข้อเท็จจริงในคดีทุจริตปาล์มน้ำมันอินโดฯ อันเป็นการสร้างพยานหลักฐานเท็จนั้น ขอยืนยันว่าที่ผ่านมา นางรสยา เธียรวรรณ ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ทั้งด้านการสอบสวนและสนับสนุนข้อมูลอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนตามกฎหมายและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย อันเป็นการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG) ของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และจากการชี้แจงของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 จะเห็นว่าการสอบสวนพยานเป็นการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่านางรสยา เธียรวรรณ จะกระทำการติดสินบนพยานตามที่ปรากฏเป็นข่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ สำหรับกรณีคดีทุจริตโครงการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของพีทีทีจีอี มีที่มาจากการที่ ปตท. ได้ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนโครงการดังกล่าว จึงได้มีการส่ง ป.ป.ช. และดำเนินการลงโทษทางวินัยซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ของกลุ่ม ปตท. พร้อมกับที่คณะกรรมการ ปตท. พิจารณายกเลิกการลงทุนและให้ดำเนินการขายทรัพย์สิน เพื่อรักษาประโยชน์ขององค์กร

โดย พีทีทีจีอี และ ปตท. ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. คดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของพีทีทีจีอี ซึ่งส่งฟ้องศาลแพ่งไปตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2558 2. คดีอาญาที่คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาเมื่อเดือนมกราคม 2556 โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามลำดับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพีทีทีจีอี อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะศาลแพ่งได้มีคำสั่งมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูล พีทีทีจีอี และ ปตท. จึงต้องเคารพคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น หากบุคคลใดล่วงละเมิด มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือ กล่าวอ้างข้อมูลในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล พีทีทีจีอี และ ปตท. จะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อให้หยุดการกระทำอันสร้างความเสียหายให้แก่ ปตท. พนักงาน ผู้บริหาร อดีตผู้บริหารของพีทีทีจีอี และ ปตท. ต่อไป

ดูข่าวต้นฉบับ