ไลฟ์สไตล์

จังหวัดฉะเชิงเทรา มีที่มาอย่างไร? ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ. 1000

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 12 เม.ย. 2565 เวลา 16.30 น. • เผยแพร่ 12 เม.ย. 2565 เวลา 16.27 น.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2450 (ภาพจากหนังสือฉะเชิงเทรา มาจากไหน ?)

ฉะเชิงเทรา แปลว่า แม่น้ำลึก, คลองลึก ชื่อฉะเชิงเทรามีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานในจารึกแผ่นเงินวัดเจดีย์ (วัดพยัคฆอินทาราม) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราย้ายที่ตั้งมา 3 ครั้ง คือ บริเวณปากน้ำเจ้าโล้, อำเภอบางคล้า และตัวจังหวัดฉะเชิงเทราปัจจุบัน

มีวิวัฒนาการลำดับได้ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. พ.ศ.1000 บริเวณสองฝั่งลำน้ำท่าลาด หรือคลองท่าลาด ที่ไหลผ่านเขต อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีชุมชนบ้านเมืองโบราณ หลายแห่งตั้งแต่บ้านเกาะขนุน ถึงบ้านท่าเกวียน ฯลฯ ซึ่งเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่าง เมืองมโหสถ(อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) กับเมืองพระรถ (อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี)

2. หลัง พ.ศ. 1500 ฉะเชิงเทราและดินแดนเมืองมโหสถ กับเมืองพระรถ รุ่งเรืองขึ้นจากการค้าโลก แล้วเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ขอมทั้งเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองพระนคร(กัมพูชา) บ้านเมืองขนาดเล็กที่อำเภอพนมสารคามได้ผลพวงจากการค้าโลกด้วยจึงพบโบราณวัตถุจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำท่าลาด ตั้งแต่บ้านเกาะขนุน, บ้านซ่อง, บ้านท่าเกวียน เป็นต้น

3. หลัง พ.ศ. 1700 บริเวณลุ่มน้ำบางปะกง ตั้งแต่เขตฉะเชิงเทราถึงปราจีนบุรี เป็นที่ดอนมากขึ้นจากทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมออกอ่าวไทยไม่ค่อยสะดวกเช่นเดิม บ้านเมืองเขตพนมสารคาม กับที่อื่นๆ เช่นเมืองมโหสถ และเมืองพระรถ ร่วงโรยแล้วรกร้างกลายเป็นป่าดง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

4. หลังพ.ศ.2000 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.2034-72) โปรดให้ซ่อมแปลงคลองสำโรง ซึ่งเชื่อมแม่น้ำบางปะกง กับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้สะดวกในการคมนาคม

5. พ.ศ. 2309 คราสงครามเสียกรุง พระจ้ามังระ ส่งกองทัพมาคุมชุมชน และเส้นทางบริเวณปากน้ำโจ้โล้ (ปากน้ำคลองท่าลาดที่ไหลลงแม่น้ำบางปะกง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ด้วยเป็นเส้นทางสู่เมืองตะวันออกของพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสมรภูมิที่พม่ากับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชต่อสู้กัน [ภายหลังมีนักวิชาการบางคนเสนอว่าน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณอำเภอราชสาส์น มากกว่า]

6. หลังพ.ศ. 2369 รัชกาลที่ 3 ทรงยกทัพไปตีเมืองเวียงจัน และรับสั่งให้กวาดต้อนครัวลาวพวกหนึ่งมาอยู่ที่ลุ่มน้ำบางปะกง เกิดบ้านเมืองใหม่ชื่อ เมืองฉะเชิงเทรา แต่ปากชาวบ้านเรียกชื่อเดิมที่มีมาก่อนว่า เมืองแปดริ้ว (ปัจจุบันคือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ในโคลงนิราศฉะเชิงเทรา พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ระบุชื่อบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำบางปะกงในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เช่น โสธร, สำปะทวน, สาวชะโงก, บางขนาก ฯลฯ

โสธร-ย่านวัดโสธรฯ ในปัจจุบันที่อยู่ในบริเวณอำเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา, สำปะทวน- ตำบลสำปะทวน อำเภอเมือง, สาวชะโงก-บ้านสาวชะโงก, สามร่ม-บ้านสามร่ม, บางขนาก-บ้านบางขนาก, คลองบางขนาก (หรือคลองแสนแสบ)

7. หลัง พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างป้อมเมืองฉะเชิงเทรา ไว้ป้องกันศึกญวนและเขมรที่มาทางแม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทย

8. พ.ศ. 2380 รัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดคลองบางขนาก(คลองแสนแสบ) ระยะทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก (ประมาณ 53-54 กิโลเมตร) ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำบางปะกง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการสงครามพิชิตญวน

9. พ.ศ. 2381 ให้อพยพครอบครัวเจ้าองค์ด้วง แห่งกัมพูชา เข้ากรุงเทพฯ ส่วนบ่าวไพร่ทั้งหลายให้อยู่เมืองฉะเชิงเทรา (บริเวณ ชุมชนวัดดอนทอง ปากคลองบางตีนเป็ด ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา)

10. พ.ศ. 2402 รัชกาลที่ 4 เสด็จทอดพระเนตรเขาเดิน ที่วัดปถวีปัพตาราม (วัดเขาดิน) ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอบางปะกง แล้วโปรดให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม (อำเภอพนมสารคาม)

  • วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 เสด็จทรงเปิดเดินรถไฟสายตะวันออกที่ “สนามสเตชั่นรถไฟ” (หัวลำโพง) แล้วเสด็จพระราชดำเนินรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงฉะเชิงเทรา
  • พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 โปรดให้เมืองฉะเชิงเทรากับเมืองพนมสารคาม รวมกันสถาปนาเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • พ.ศ.2486 ข้าวหอมมะลิ อำเภอบางคล้า เป็นที่รู้จักไปทั่วในกลุ่มพ่อค้า, คหบดี, โรงสี และผู้บริโภคทั้งในฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ
  • พ.ศ. 2536 จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงปัจจุบันแบ่งการปกครองเป็น 11 อำเภอ ดังนี้

(1.) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพี้ยนมาจากคำเขมรว่า ฉทึงเทรา แปลว่า แม่น้ำลึก หรือคลองลึก (ฉทึง แปลว่าแม่น้ำ, คลอง ส่วนเทรา แปลว่าลึก)

(2.) อำเภอบ้านโพธิ์ เดิมชื่ออำเภอสนามจันทร์ตามชื่อหมู่บ้านสนามจันทร์ที่เป็นที่ตั้งของอำเภอ ต่อมาปี 2447 ทางการเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จึงเปลี่ยนเป็นอำเภอเขาดิน ตามชื่อวัดเขาดิน และเปลี่ยนเป็นอำเภอบ้านโพธิ์ในเวลาต่อมา

(3.) อำเภอบางคล้า ได้ชื่อมาจากต้นคล้า ลำต้นและใบคล้ายต้นข่า ผิวเปลือกคล้ายหวาย ใช้สานทำเสื่อและกระสอบ

(4.) อำเภอพนมสารคาม เดิมควรสะกดว่า “พนมสาลคาม” เพราะคำบาลี “สาล” (สา-ละ)หมายถึงต้นยาง หรือต้นรัง สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ที่มีต้นยางจำนวนมาก พนามสาร แปลว่า ดงยาง หมายถึงป่าดงเต็มไปด้วยไม้ยาง เดิมตัวอำเภอตั้งอยู่ที่ บ้านโพธ์ใหญ่ อำเภอสนามชัยเขต ถึงรัชกาลที่ 4 ให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม

(5.) อำเภอสนามชัยเขต หมายถึง ดินแดนแห่งความสมบูรณ์ เดิมเป็นเมืองสนามไชยเขตร บางหมู่บ้านของเมืองนี้เป็นชุมชนเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น “บ้านช่อง” (ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอพนมสารคาม)

(6.) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว หมายถึงดินแดนที่มีน้ำรสเปรี้ยวในฤดูแล้ง เดิมตั้งอยู่ที่บ้านต้นสำโรง ตำบลบางขนาก  พ.ศ. 2497 ได้ย้ายมาตั้งอยู่ฝั่งเหนือคลองแสนแสบ( คอลองบางขนาก)

(7.) อำเภอบางปะกง “บางปะกง” เพี้ยนจากคำเขมรว่า บองกอง แปลว่า กุ้ง เดิมทีททำการอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดบคงคารามตำบางปะกง ต่อมา พ.ศ. 2451 ย้ายมาอยู่ตำบลสะอ้าน

(8.) อำเภอแปลงยาว หมายถึงการทำไร่นาแปลงยาวกกว่าที่อื่น เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภอบางคล้า

(9 ) อำเภอราชส์น หมายถึง “จดหมาย” ในเรื่องพระรถ-เมธี ที่นางยักษ์สนธมาลเขียน (ให้พระรถถือไป)ให้นางเมรีลูกสาวนางให้จับพระรถฆ่า แต่พระรถแวะค้างแรมที่หมู่บ้าน พระฤๅษีแปลงสาส์นให้ใหม่เป็นแต่งงานกับพระรถ

(10) อำเภอท่าตะเกียบ มีตำนานเล่าว่าสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงเทพฯ คิดจะสร้างเสาชิงช้า จึงบอกไปตามหัวเมืองที่มีป่าไม้สมบูรณ์ให้หาไม้แดงเพื่อนำไปทำ “ไม้ตะเกียบ” เสาชิงช้า เนื่องจากไม้มีขนาดใหญ่บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัดจึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “ท่าลงไม้ตะเกียบ” ภายหลังเพี้ยนเป็น “ท่าตะเกียบ”

(11) คลองเขื่อน หมายถึง คลองชลประทานไหลผ่าน

ข้อมูลจาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ฉะเชิงเทรามาจากไหน?, สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา, 2553

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ข้อสังเกตเส้นทางออกจากกรุงฯ สู่หัวเมืองตะวันออกของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2560

เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา  27 พฤศจิกายน 2557

เผยแพร่ในระบบออน์ไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 18 ตุลาคม พ.ศ.2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • ดีครับมีความเป็นประวัติสาท
    16 มี.ค. 2563 เวลา 05.19 น.
ดูทั้งหมด