ผู้ปกครองคนหนึ่งถามผมว่า จะตอบลูกวัยรุ่นอย่างไรดี ลูกบอกพ่อแม่ว่าไม่อยากเรียนหนังสือ เพราะเรียนไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง
ลูกของเขาชอบเขียนนิยายมาก และเห็นว่าจะประกอบอาชีพเขียนหนังสือไม่ต้องเรียนก็ได้
สมัยผมอายุเท่านี้ ก็ชอบเขียนนิยายเหมือนกัน แต่ไม่กล้าบอกพ่อว่าไม่เรียน เพราะพ่อผมปกครองด้วยไม้เรียว !
คำถามคือจริงไหมที่เราไม่ต้องเรียนหนังสือ เพราะเรียนไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง ?
ประโยคนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด
ทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ในโลกนี้สามารถสรุปได้สองแบบ
1 สรุปจากสิ่งที่เห็น
2 สรุปจากสิ่งที่ไม่เห็น
การสรุปที่ดีควรมาจากทั้งสองอย่าง
ถ้าเรามองโลกแบบผ่าน ๆ จะเห็นว่าชาวโลกใช้เวลาหลายปีในห้องเรียน เรียนวิชาเลขคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ชีววิทยา เคมี ฯลฯ แล้วไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง คนส่วนใหญ่ไม่เคยต้องใช้วิชาเหล่านี้สักครั้งเดียวในชีวิต
แต่หากมองโลกแบบที่สองอาจเห็นอีกด้านหนึ่ง นั่นคือทุกระบบในโลกมีวิชาเหล่านี้ซ่อนอยู่ วิชาทั้งหลายเป็นฐานของระบบรวม ตั้งแต่การทำงานของรถยนต์ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ การนัดเพื่อน การเรียกแท็กซี่ด้วยแอปฯ การใช้แผนที่ดิจิทัลแบบเรียลไทม์ ฯลฯ การเรียนวิชาต่าง ๆ ยังช่วยพัฒนาสมองส่วนต่าง ๆ ของเด็ก ทั้งด้านตรรกะและนามธรรม
ย่อมมีคนถามว่า งั้นทำไมสังคมจึงมีหลากหลายอาชีพ ก็เพื่อที่เราไม่ต้องรู้ทุกวิชา และแบ่งกันทำมิใช่หรือ ? เป็นหน้าที่ของนักฟิสิกส์ที่จะคำนวณทิศทางของดาวเทียมเพื่อให้เราใช้ระบบจีพีเอสได้ นักเขียนโปรแกรมที่ทำแอปฯ ด้วยภาษาตัวเลข ฯลฯ เราจึงไม่ต้องรู้ไปหมดทุกเรื่องมิใช่หรือ ?
นี่เป็นตรรกะผิดเพี้ยน เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน
มีสักกี่คนในโลกที่รู้ตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถม มัธยมว่าจะประกอบอาชีพอะไร โดยที่ในชีวิตนี้จะไม่เปลี่ยนอาชีพอีกแล้ว ?
ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอะไรจนกว่าจะเรียนมากพอ เข้าใจแล้วจึงเลือกว่าจะเรียนสาขาใดเป็นพิเศษ
แต่นักเขียนก็น่าเป็นข้อยกเว้น เพราะนักเขียนแค่จินตนาการ ใช่ไหม ? เราเขียนนิยายเรื่องความรักของคนสองคนสามคน ด้วยพล็อตเรื่องสนุก ๆ เห็นชัดว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้วิชาเลขคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ และอื่น ๆ จริงไหม ?
ในฐานะที่ผมทำงานเขียนนิยายมาตั้งแต่วัยรุ่น จนวันนี้ก็เกินสี่สิบปีแล้ว ผมตอบได้คำเดียวว่าไม่จริง
ใครก็ตามที่คิดจะเป็นนักเขียน ไม่เพียงต้องเรียนทุกวิชา ยังต้องเรียนมากกว่าคนอื่นด้วย
ทำไม ?
ก็เพราะว่านักเขียนคนหนึ่งจะเขียนนิยายในเรื่องเดิม ๆ ไปได้สักกี่น้ำ ก่อนที่คนอ่านจะเบื่อและก่อนที่จะความคิดจะตัน หากไม่เติมข้อมูลใหม่ ๆ ไม่มีมุมมองที่กว้างกว่าคนอ่าน เขาจะอ่านงานของเราทำไม
เราอาจบอกว่าเราแค่เขียนนิยาย เขียนแฟนตาซี จะรู้เรื่องศาสตร์ต่าง ๆ ไปทำไม
ความจริงคือ ต่อให้เขียนเรื่องแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในจักรวาลอื่น ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องราวของมนุษย์อยู่ดี ข้อมูลจึงตันได้เสมอ หากสมองมีความรู้แค่นิดเดียว เราจะใช้ข้อมูลนิดเดียวนี้ไปเขียนนิยายได้สักกี่เรื่องก่อนที่คนอ่านจะเลิกอ่าน
……………………………………………………………………………………………………………
ทุกศาสตร์ทุกวิชาที่เราเรียนตอนอยู่ในโรงเรียน และเรียนเพิ่มเติมหลังออกจากห้องเรียนจะเป็นรากฐาน รอต่อยอดเป็นไอเดียและความคิดใหม่ซึ่งเราสามารถขุดไปใช้เขียนนิยายใหม่ ๆ ที่สดกว่าเดิม แตกต่างจากเดิม และคนอ่านคาดไม่ถึง
นี่ต่างหากที่เป็นจุดขายของนักเขียน ไม่ใช่งานเบสต์เซลเลอร์สักเล่มสองเล่ม หรือยอดกดไลก์
นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงบอกเสมอว่า นักเขียนต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ศาสนา ปรัชญา การเมือง ดาราศาสตร์ ไปจนถึงจักรวาลวิทยา
นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงบอกเสมอว่า นักเขียนต้องดูหนัง เสพศิลปะ อ่านกวีนิพนธ์ ฟังเพลง ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่างานศิลปะทั้งหลายนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ มันดีไม่ดีเพราะอะไร
แม้สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันเองอาจเป็นเพียงข้อมูลดิบ ใช้ในงานเขียนไม่ได้โดยตรงเสมอไป แต่เมื่อมารวมกันในหัวเรา มันจะทำให้นักเขียนมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น และที่สำคัญ มันจะสร้างคลังข้อมูลให้นักเขียนใช้อย่างไม่สิ้นสุด
หากมองไม่เห็นภาพ ก็จะยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่านักเขียนวางพล็อตให้พระเอกกับนางเอกไปเดินเล่นแถวประเทศใกล้ขั้วโลกเหนือ แลเห็นแถบแสงสว่างบนฟ้าตอนกลางคืน นักเขียนก็อาจบรรยายว่า “เขาพาเธอไปเดินกลางคืน ใต้แสงสว่างบนฟ้าน่าโรแมนติก” ก็จบ
ถ้าไม่เรียนวิชาภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ก็เล่าเรื่องได้แค่นี้ แต่ถ้าเรียนมา ก็จะรู้ว่าแสงเหนือเกิดจากสนามแม่เหล็กโลกกับลมสุริยะในพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเหนือ หากเขาเกิดพลัดหลงกับเธอ ก็อาจไม่สามารถติดต่อกันด้วยอุปกรณ์สื่อสารเพราะแสงเหนือรบกวน ด้วยเหตุนี้คนร้ายจึงอาจจับเธอไปเรียกค่าไถ่จากจุดนี้ โดยที่พระเอกตามหาเธอด้วยเครื่องมือสื่อสารไม่ได้ นี่เพิ่มทางเลือกให้พล็อตเรื่องขึ้นมาทันที และอาจน่าสนใจกว่าเดิม
ถ้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็สามารถขยายความว่า ณ จุดที่เขากับเธอยืนอยู่ เมื่อ 2,400 ปีก่อนนักสำรวจกรีกชื่อ Pytheas ก็เคยมองขึ้นฟ้าเช่นกัน ก็อาจแต่งเรื่องให้ทั้งสองพบชิ้นส่วนที่นักสำรวจกรีกทิ้งไว้ แล้วแตกเรื่องออกไปอย่างสนุกสนานและแปลก
นักเขียนยังอาจแตกหน่อมันเป็นเรื่องไซไฟหรือแฟนตาซีว่า มันเป็นจุดที่ชาวต่างดาวมาเชื่อมกับโลกเรา ฯลฯ
แค่รู้เพิ่ม พล็อตเรื่องก็เปลี่ยนเป็นน่าสนใจขึ้น ด้วยเรื่องและเกร็ดที่ผู้อ่านไม่รู้มาก่อน
นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่า “ไม่รู้จะรู้ไปทำไม” อาจมีประโยชน์มหาศาลต่องานเขียน
นี่แปลว่าใครก็ตามที่คิดจะเป็นนักเขียนที่ดี ต้องเติมความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปต่อเนื่อง
ใครก็ตามที่คิดว่า “รู้แค่นี้พอแล้ว” หรือ “เรียนไปทำไม” เท่ากับกักขังตัวเองในกล่องปิดทึบทุกด้าน
ใช้ข้อมูลที่มีอยู่หมดเมื่อไร ชีวิตนักเขียนก็จบเมื่อนั้น
การเป็นนักเขียนนั้นง่าย แต่เป็นนักเขียนที่ดี นักเขียนที่คนจดจำได้ ต้องการมากกว่าแค่เขียน
ต้องเป็นนักคิด นักค้นคว้าด้วย
หากเราไม่เรียนอะไรเลย เพราะคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ ต่อให้เรายังสามารถเค้นงานออกมาได้ มันก็เป็นได้เพียงงานรีไซเคิล ‘เซมเซม’ จาก ‘แบตเตอรีสมอง’ ที่เก่าและเสื่อมลงไปทุกวัน ไม่นานเกินรอ นักเขียนก็ตาย
การเขียนหนังสือเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องรักษาสมดุลของร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความเข้าใจ โลกทัศน์ จะหมกตัวเขียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดตัวรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา
ดังนั้นอยากเป็นนักเขียน ไม่เพียงต้องเรียนหนังสือ ยังต้องเรียนมากกว่าคนอื่นด้วย
……………………….………….………….………….………….………….………….………….………….
วินทร์ เลียววาริณ
Ta Yaisamoe 🐯 หนังสือเล่มแรกที่ทำให้ผมเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือคือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน
ความรู้สึกแรกที่ได้จากการอ่านคือ เฮ้ย!! คนเขียนเป็นเทวดาหรือเปล่าวะเนี่ย ทำไมข้อมูลความรอบรู้เยอะจัง เกิดความประทับใจอย่างที่สุด และหลังจากอ่านเล่นนั้น สิ่งที่ผมค้นพบคือคำที่คุ้นหูมาตั้งแต่เด็กที่ว่า”ความรู้คู่การอ่าน“มันมีหมายความว่ายังงี้นี่เอง หลางจากนั้น ผมเลยกลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านมากพอที่ทำให้ บุคลิกภาพส่วนตัว เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว(หมายถึงดีขึ้นนะ)
และทุกวันนี้ก็ยังตามอ่านงานของพี่วินอยู่ครับ
28 ต.ค. 2562 เวลา 02.41 น.
Zeed Beer 77 ดังเช่น ที่ ดร สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านก็เคยกล่าว
ว่าการเรียนคือใบเบิกทางชีวิต
ขอบพระคุณ คุณวินทร์ที่นำเสนอแง่คิดดีๆ แบบนี้
ขอให้คุณวินทร์ นำเสนอสิ่งดีๆแบบนี้ให้ประชาขนได้อ่านอีกครับ
28 ต.ค. 2562 เวลา 05.45 น.
Siriwan lek การเรียนในมหาวิทยาลัยมีประโยชน์ในอนาคตแน่นอนเพราะเป็นเครื่องการันตีว่าเราได้ผ่านบททดสอบทั้งทางวิชาการและการเข้าสังคมมาแล้ว อย่าพลาดประสบการณ์สำคัญนี้ในชีวิต
28 ต.ค. 2562 เวลา 11.17 น.
Dinky Dinke การเรียนหนังสือเป็นมากกว่าการศึกษาองค์ความรู้ แต่เป็นการศึกษาวิธีการได้มาซึ่งองค์ความรู้ จะอ่านหนังสือซึ่งบรรจุข้อมูลมาก ๆ และใช้ถ้อยคำซับซ้อน ต้องอ่านอย่างไร ให้เกิดความเข้าใจ และถ่ายทอดออกมาเป็นคำตอบในข้อสอบได้ ตัวเนื้อหาที่เราไม่ได้ใช้ประกอบอาชีพ ก็ไม่ต้องใช้ แต่วิธีการอ่าน วิธีการสรุป สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้ คนที่เข้าใจอะไรง่าย ๆ และถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย ๆ ย่อมเป็นต่อในวิถีการทำงาน
28 ต.ค. 2562 เวลา 11.23 น.
พื้นฐานในความสำเร็จของชีวิต ล้วนแล้วก็ย่อมที่จะต้องเริ่มต้นจากการศึกษาเสมอ.
28 ต.ค. 2562 เวลา 10.55 น.
ดูทั้งหมด