“ถนนเมืองไทย” กับดักมรณะขนาด“ญี่ปุ่น” แผ่นดินไหวบ่อยยังไม่เสี่ยงตายเท่า!
วันก่อนบังเอิญเห็นหัวข้อข่าว
“รถตกหลุมกลางถนน พังเสียหายหลายคัน จ.พระนครศรีอยุธยา” เป็นหลุมขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตรครึ่ง ลึกประมาณ 2 เมตร โดยขณะเกิดเหตุเป็นช่วงกลางดึก สภาพถนนมืด ทำให้มีรถประสบอุบัติเหตุตกหลุมไปหลายคัน ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพังเสียหาย ส่วนผู้ขับขี่ก็บาดเจ็บไปตาม ๆ กัน
ผมเลยไปค้นหาย้อนหลังดูอีกว่าช่วงที่ผ่านมามีข่าวรถตกหลุมอีกบ้างมั้ย ปรากฎว่า เห็นข่าวในลักษณะคล้ายๆ กันหลายข่าวในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมาก บางข่าวก็ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่ก็เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และได้รับอันตรายจากการตกหลุม
เช่น
“สลด!กระบะตกหลุมเด็กนักเรียนนั่งท้ายกระเด็นตกรถเจ็บ3”
เกิดอุบัติเหตุ เด็กนักเรียนหญิงนั่งท้ายรถกระบะไปบวชชีพราหมณ์สำนักสงฆ์ที่แม่สอด ระหว่างทางรถตกหลุม เด็กกระเด็นร่วงพื้นบาดเจ็บ 3 รายซ้อน
“หวิดดับยกครัว! หนุ่มขับรถตกหลุมบนถนนทำยางแตกเสียหลักพลิกคว่ำ”
หนุ่มโคราช ขับเก๋งพาครอบครัว 5 ชีวิตจะไปลพบุรี รถเกิดตกหลุมบนถนนยางระเบิดพลิกคว่ำหวิดดับยกครัว
หรือบางทีก็คร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ที่ไม่รู้เลยว่ามีหลุมอยู่ข้างหน้า
เช่น เมื่อปลายปีก่อนมีข่าวรถเก๋งเสียหลักพุ่งตกหลุมลงสถานที่ก่อสร้าง เจ็บ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย สันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ประสบเหตุไม่ทันสังเกตเห็น เนื่องจากไม่มีป้ายแจ้งเตือน
สำหรับคนหลายคน อาจจะมีความคิดในหัว ตกอีกแล้วหรอทำไมเรื่องแบบนี้ไม่ได้รับการแก้ไขสักที?
สำหรับคนที่ไม่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ก็อาจจะเป็นหัวข้อข่าวแค่ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป
แต่ถ้าคิดว่าข่าวนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวเราล่ะ เราคงรู้สึกเศร้าโศกเสียใจไม่อยากให้ใครต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบเดียวกันอีกใช่มั้ยล่ะครับ
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นเชิงเปรียบเทียบ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขนะครับ
ที่ญี่ปุ่นก็เจอปัญหาบนถนนหนทางมีหลุม มีการก่อสร้างเหมือนกันครับ ซึ่งสามารถเกิดได้จากสามสาเหตุที่ผมคิดได้ในตอนนี้คือ
1. เป็นหลุมเพราะถนนเส้นนั้นมีความเก่าและชำรุดจริง
2. เป็นหลุมเพราะอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
3. เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว(เกิดขึ้นบ่อยในญี่ปุ่น) ทำให้พื้นโครงสร้างที่รองรับอยู่ภายใต้ท้องถนนเกิดช่องโหว่ว่าง แล้วไม่สามารถรับน้ำหนักรถยนต์บนท้องถนนได้ต่อไป บางทีตอนแรกเห็นเป็นถนนธรรมดาๆ แต่ถ้าขับผ่านจุดนั้นแล้วแจ็คพ็อตก็อาจตกไปอยู่ในหลุมได้เหมือนกัน
สำหรับข้อ 1 และข้อ 2
ลองสังเกตดูภาพนี้นะครับ จะเห็นองค์ประกอบหลายอย่างอยู่พร้อมกัน กรณีทำการซ่อมถนน ถนนชำรุด หรือมีการก่อสร้างอะไรบางอย่างอยู่
1. จะเห็นป้ายสีขาวที่อยู่ทางด้านซ้ายของภาพ ซึ่งมีข้อความแจ้งให้กับผู้สัญจรไปมาว่าเป็นตัวอักษรที่ใหญ่และชัดเจน ใจความแล้วแต่บริบทในตอนนั้น แต่ในภาพนี้เขียนหัวข้อเป็นสีแดงว่า “ขอความร่วมมือ” ตามด้วยตัวอักษรสีน้ำเงินว่า “ขออภัยในความสะดวก ขอความร่วมมือในการ…” เป็นต้นครับ
2. เมื่อจำเป็นจะต้องปิดถนนเลนใดเลนหนึ่ง จะเห็นสัญญาณไฟเขียวไฟแดงขนาดเล็ก พร้อมบอกเวลาที่จะต้องรอกี่นาทีกี่วินาที ให้แก่ผู้ขับขี่ได้ทราบ พอเห็นแบบนี้ไม่ต้องกลัวอุบัติเหตุรถสวนเลนมาชนกัน
3. จะเห็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานเข้ามาทำหน้าที่อำนวยสะดวกโดยเฉพาะ ในบริเวณก่อสร้าง หรือบริเวณที่มีหลุมมีบ่อเกรงจะเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่บนท้องถนน ผมมักจะเห็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาอำนวยความสะดวก และให้สัญญาณเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ท้องถนน
นอกจากนั้น ประเทศญี่ปุ่นเองเนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์นั้นเกิดแผ่นดินไหวบ่อยมาก ทำให้มีโอกาสพื้นถนนทรุดชำรุดได้ง่ายเป็นพิเศษ มองผิวเผินจากข้างนอกไม่มีใครรู้ว่าโครงสร้างที่รับรองพื้นถนนตรงบริเวณไหนที่มีปัญหา
ภาพหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่จังหวัดคุมาโมโต้เดือนเมษายนปี 2016 ถนนชำรุดเสียหาย ซึ่งหลายจุดอาจจะไม่ได้เห็นภาพความชำรุดชัดเจนแบบนี้ แต่โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพื้นถนนอยู่อาจได้รับความเสียหายแล้วก็ได้ สุดท้ายกลายเป็นความเสี่ยงต่อผู้ใช้ท้องถนน
ด้วยเหตุนี้ที่ญี่ปุ่นจึงมีคนคิดค้นหาวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถตกหลุม ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่คนทั่วไปมองไม่เห็นด้วยตา กลายมาเป็นรถที่ชื่อว่า
“SKELE-CAR”
รถที่วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมส่งสัญญาณคลื่นไมโคร ระหว่างที่วิ่งอยู่บนท้องถนน โดยภายในรถจะมีเครื่องประมวลผลอ่านสภาพพื้นดินที่อยู่ใต้ถนนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรแบบ real time
จุดเด่นคือ รถคันนี้สามารถค้นหาช่องโหว่ใต้พื้นถนนได้ละเอียดมากเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตรก็เจอครับ
และเรื่องน่าทึ่งอีกหนึ่งอย่างคือ ที่ผ่านมาเจ้ารถคันนี้แหละออกทำภารกิจแล้วในหลายพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว เช่น แผ่นดินไหวโทโฮขุ แผ่นดินไหวคุมาโมโต้ แล้วค้นพบช่องโหว่ใต้ถนนมาแล้วมากกว่า 33,000 จุดครับ
เมื่อเจอพื้นที่ที่มีช่องโหว่ทางบริษัทก็จะแจ้งไปที่ภาครัฐให้มาจัดการเจาะถนนบริเวณนั้นๆ แล้วทำการอุดรูซ่อมถนน เพื่อป้องกันไว้ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
อย่างในภาพนี้เจ้าหน้าที่พบว่าเจอช่องโหว่ขนาด 1 เมตร x 3 เมตร อยู่ใต้ถนนลึกลงไปประมาณ 25 เซนติเมตรในเมือง Yokosuka จังหวัด Kanagawa จึงได้แจ้งไปที่เมือง
หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีทีมขุดเจาะเข้าไปเจาะถนน แล้วพบว่ามีช่องโหว่จริงตามที่ได้รับแจ้ง จึงทำการซ่อมถนนให้เสร็จเรียบร้อย
ด้วยกระบวนการเหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถปกป้องชีวิตประชากรของเขาไว้ได้ ป้องกันภัยอันตรายก่อนที่จะเกิดจริง
ย้อนกลับมาที่บ้านเราอยากให้มองเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา
ปัญหานี้คงไม่ใช่ปัญหาไกลตัวถ้าทุกคนร่วมใจกันตระหนัก
และหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกันครับ
..อย่ารอให้เหตุเกิดซะก่อนแล้วค่อยมาแก้
แต่ให้หาทุกหนทางช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดภัยอันตรายขึ้น
โดย Boom JapanSalaryman
ประเทศไทยโชดดีไงครับที่มึผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกียวก้องกับเรื่องแบบนี้ มันแดกทุกอย่างที่ขว้างหน้า ดินที่ขุดมามันจัดการแดก หินคุกที่เอามาใช้ในการทำถนนและบดอัดมันก็แดก ทรายที่เอาบดอ้ดมันก็แดก คือสรุปง่าย...ง่ายมันแดกทุกขั้นตอนของการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นโครงการไหนที่มาจากผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศไทย ประเทศไทยก็เลยโชดดีไงครับและก็จะยังโชดดีแบบนี้ไปอีกนานเท่านานเลยละครับผม
05 ก.ค. 2561 เวลา 06.41 น.
แอ้ ธีระยุทธ์#535 ส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุจริงๆครับ
ขนาดเลนส์ซ้ายถนนเสียก็ต้องทนวิ่งครับเพราะออกเลนส์ขวาก็ถูกจับอีกครับ กรรมจริงๆครับ
05 ก.ค. 2561 เวลา 05.38 น.
สุรพิน ขอยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยแด่...ระบบราชการเมืองไทยสัก2นาที.....ครับ
05 ก.ค. 2561 เวลา 06.07 น.
Dew 😎Secret C คอสะพานก็ไม่เรียบ ถนนมีแต่คลื่น หลุมเยอะ พอซ่อมแซมก็ปะถนนไม่เรียบ น่าจะมีการประกันพื้นผิวถนน กี่ปีก็ว่าไป ถ้าชำรุดเสียหายก็ปรับไปเลย ให้ ปชช ถ่ายรูปร้องเรียนได้
05 ก.ค. 2561 เวลา 06.03 น.
Pooh Kasem แหม ก็เวลาประมูลทำทางแต่ละครั้งใน ตจว เหมือนเงินกับเนื้องานมันสวนทางกันชัดๆ . ได้ถนนพังง่ายๆ บางทีไม่บดอัด เนื้อยางมะตอยบางเฉียบฉาบผิวถนน แค่มอเตอร์ไซค์วิ่ง ก็พังได้ ซ่อมมันได้ทุกปี บางที่ลองไปดูแถวหน้าบ้าน อบต ยังเป็นถนนดินอยู่เลยน่ะ . ให้ห้าร้อย ยังพัฒนาถนนไม่ได้ ที่เกทับพันนึง จะไปเหลือพัฒนาอะไร . เห็นถนน กทม รถเมล์ สิบล้อวิ่งกันทุกวัน นาน 5-10 ปี ถึงซ่อมทีนึง .
05 ก.ค. 2561 เวลา 07.36 น.
ดูทั้งหมด