ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 คำจำกัดความของ "ทางเท้า" หรือในศัพท์ที่เราคุ้นเคยเรียกกันว่า 'ฟุตปาธ' ระบุเอาไว้ว่า "ทางเท้า คือ ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้สำหรับคนเดิน"
หากคุณผู้อ่านเป็นคนที่สัญจรไปมาด้วยการเดินเท้าในตัวเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว จะตงิดใจขึ้นมาทันทีด้วยความที่ทางเท้าในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่เคยทำหน้าที่เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวเลย แต่ดันกลายเป็นพื้นที่ที่ประลองทักษะการหลบหลุมน้ำใต้ผิวทางเดินในวันที่ฝนตกบ้าง หรือหลายต่อหลายครั้งก็กลายเป็นหน้าร้านให้กับแผงเร่ที่ปักหลักเป็นประจำ เป็นทางมอเตอร์ไซค์บ้าง หรือเป็นที่อำพรางทั้งหลุมท่อ ทั้งบ่อ ให้ได้วัดดวงกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ 'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' ประจำสัปดาห์นี้ ทางผู้เขียนเลยขอยกเอาปัญหาเกี่ยวกับทางเดินเท้าในตัวเมืองที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย กลับมาเขียนถึงอีกหนึ่งครั้ง…
สารพันปัญหา 'ทางเท้าไทย'
นอกจากปัญหาพื้นผิวที่ขรุขระ อิฐตัวนอนที่วางไม่เรียบจนอาจทำให้การเดินเท้าเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการ หรือในเรื่องของการรักษาความสะอาดที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ปัญหาเกี่ยวกับฟุตปาธในเมืองไทยมีอีกหลากหลายประการด้วยกัน อย่างเช่น เรื่องของขนาด อ้างอิงจากบทความในเว็บไซต์ Agenda กรมทางหลวงได้กำหนดความกว้างของฟุตปาธเอาไว้ว่าควรมีหน้ากว้าง 1.5 - 2 เมตร เพื่อการเดินเท้าได้อย่างสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลาย ๆ พื้นที่ถูกตัดเพิ่มเป็นเลนสำหรับรถ หรือในหลายกรณีก็ถูกแบ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับป้ายถนน ป้ายโฆษณา พื้นที่ปลูกต้นไม้ ที่สุมกองขยะ หรือแม้กระทั่งโซนแผงลอย ร้านค้าหาบเร่ที่มาเปิดหน้าร้าน บดบังวิถีการเดินและทำให้ทางเท้าที่แคบอยู่แล้ว แทบจะไม่มีพื้นที่เหลือให้คนได้เดิน
อีกประการคือเรื่องความปลอดภัย บางครั้งมีการซ่อมแซมผิวทางเดินโดยไม่ได้ตั้งป้ายบอกเอาไว้ล่วงหน้า มีงานก่อสร้างข้างทางที่ไม่มีการป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นให้กับผู้เดินถนน บางครั้งเทปูนทิ้งไว้ ปูนยังเปียกแต่คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่เดินเหยียบเข้าไปแล้ว หรือฝาท่อเจ้าปัญหาที่เราอ่านเจอบ่อย ๆ ในข่าวว่ามีคนตกท่อหรือขาติดเข้าไปในท่อ ก็เป็นอีกหลาย ๆ หลักฐานที่บอกกับเราว่าในแง่ของความปลอดภัย ทางเท้าบ้านเราก็เข้าขั้นวิกฤตไม่แพ้กัน
ป่วนจนกลายเป็นคอนเทนต์ที่มีการอัปเดตรายวัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาทางเท้าหรือการร้องทุกข์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางโดยเท้าในตัวเมือง ทำให้เกิดเป็นเพจและกลุ่มในเฟซบุ๊กจำนวนมาก เมื่อเสิร์ชคำว่า "ทางเท้า" จะพบกับเพจต่าง ๆ ที่ทำคอนเทนต์รายวันเพื่อบอกเล่าถึงปัญหาของคนเมืองและฟุตปาธที่ทั้งฮา ทั้งชวนให้อารมณ์เสีย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในทุก ๆ วันที่เราทุกคนต่างก็ได้พบกับปัญหานี้ เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนก็อยากทวงคืนทางเท้าสำหรับการใช้สอยตามประโยชน์ที่มันควรจะเป็น และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน
กี่ปี ๆ ทางเท้าไทย ไม่เคยพัฒนาไปไหน
การแก้ปัญหาอาจจะต้องเริ่มจากการมองย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหาก่อนว่าทำไมทางเท้าของไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ๆ เราก็ยังคงเห็นภาพเดิม ๆ คอนเทนต์ไวรัลเดิม ๆ ที่เกิดจากปัญหาของการใช้ทางเท้า
อย่างแรก ๆ คงเป็นเรื่องของการวางผังเมืองที่จะช่วยแพลนเส้นทางให้สมูธที่สุด มีสิ่งกีดขวางการเดินน้อยที่สุด ประกอบกับคุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ การควบคุมงานก่อสร้างเพื่อความคงทนและได้มาตรฐาน รวมไปถึงอาจวางแผนเพิ่มดีไซน์ เช่น Warning Block หรือ Guiding Block สำหรับผู้พิการทางสายตา อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและยังไม่สายเกินไปที่จะพัฒนา
อย่างที่สองคือในเชิงนโยบาย การจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยให้เป็นโซนที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจอดยานพาหนะ หรือการวิ่งรถทุกประเภทบนทางเท้า การจัดโซนนิ่งของที่ทิ้งขยะที่ไม่เบียดบังพื้นที่ของฟุตปาธ ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐสามารถพิจารณาเริ่มลงมือจัดการได้
และอย่างที่สาม ในภาคของประชาชนเองที่จำเป็นจะต้องมีจิตสาธารณะ จิตสำนึกที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตนเข้าช่วยเหลือด้วย ลองเริ่มต้นจากการทบทวนการกระทำของตนเองว่าถ้าหากตั้งหน้าร้านไว้ตรงนี้ จะมีใครที่ได้รับผลกระทบบ้างไหม หรือถ้าฉันเอาขยะมาทิ้งไว้ตรงนี้ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า
ถ้าทุกคนตระหนักเห็นความสำคัญของที่สาธารณะว่าควรเป็นของทุกคนโดยเท่ากัน ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนสถานการณ์ในภาพด้านล่างนี้ให้กลายเป็นฉากของเมืองที่น่าอยู่ มีทางเท้าสะอาด ๆ รอให้ทุกคนได้ใช้ได้อยู่นะ : )
อ้างอิง
TATDY🐺 ถูกใจภาพประกอบ
15 ก.ย 2564 เวลา 02.04 น.
ดูแค่ท้ายรถก็รู้ว่าทำอะไรก็ได้ในประเทศนี้
15 ก.ย 2564 เวลา 00.14 น.
อมรศักดิ์ ตัด42 ชล ที่ชลบุรี บนถนนในเมืองยังกางเต้นขายของ
ทางเท้าเป็นบ้านไปแล้ว น่าจะออกโฉนดให้เลยจะได้ถูกกฎหมาย ฮิฮิ !! แต่จอดรถผิดฝั่งโดนจับ ถ้าเป็นรถของร้านค้าไม่โดนจับ งง!!!
15 ก.ย 2564 เวลา 02.22 น.
Hajic ฟุตปาร์ทข้างสวนลุมฝั่งถนนสารสินโซนใกล้3แยก รพ.จุฬาเน่ามาก
อย่างน้อย 17ปีแล้วไม่เคยซ่อมเลย
วันนี้นเห็นชาวต่างชาติเข็นลูกน้อยแบบทุลักทุเลละเศร้ามาก
15 ก.ย 2564 เวลา 02.14 น.
bj. คนไทยขาดระเบียบ ราชการไม่เอาไหน นักการเมืองจ้องแต่หาเสียงไม่ยอมเปลืองตัว
15 ก.ย 2564 เวลา 02.47 น.
ดูทั้งหมด