ไลฟ์สไตล์

กิเลส 16 ชนิดที่แฝงมากับการเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์
เผยแพร่ 22 ธ.ค. 2562 เวลา 07.05 น.

1. อภิชฌาวิสมโลภะ

เห็นใครโพสภาพบ้านหลังใหญ่ ๆ รถหรู ๆ อาหารดี ๆ ภาพการพักผ่อนในโรงแรมสวยๆ ภาพชีวิตหรูหรา ก็เกิดความรู้สึกอยากได้เหมือนอย่างเขา เกิดความไม่พอใจชีวิตของตนเอง เกิดความโลภ เกิดความทุกข์ หดหูใจว่าทำไมหนอ ชีวิตคนอื่นจึงดีกว่าชีวิตของตนเอง นานวันเข้าก็พัฒนาไปสู่ความโลภ อยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตัว รู้สึกอยากจะโพส อยากจะอวดเหมือนอย่างเขาบ้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2. พยาบาท

เปิดเฟสส่องดู เห็นคนที่ตนเกลียดมีความสุข ก็คิดหมั่นไส้อยู่ในที แต่เมื่อเปิดดูแล้ว เห็นคนที่ตนเกลียดมีความทุกข์ หรือมีปัญหาก็รู้สึกยินดีพอใจ

3. โกธะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ใครโพสสิ่งใดไม่ถูกใจ ไม่ตรงกับความคิดของตัว ก็นึกโกรธ จับโยงความคิดผู้อื่นมาปะทะกับความคิดของตนเอง จนกลายเป็นความทุกข์ใจ

4. อุปนาหะ

เมื่อโกรธ เพราะคิดเห็นต่างกัน ก็ผูกใจเกลียนคนๆ นั้น โดยไร้เหตุผล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

5. มักขะ

เห็นใครทำความดีก็นึกหมั่นไส้เขา เห็นคำสอนปราชญ์ คำสอนพระ คำสอนศาสดา คำสอนผู้รู้ใดๆ ที่ไม่เข้ากับความคิดของตน ก็นึกดูแคลน พยามใช้ความคิดของตนหักล้าง ทั้งที่รู้ว่าสิ่งที่เขานำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

6. ปลาสะ

ไม่เคยชื่นชมใคร เห็นใครโพสอะไรก็ไม่พอใจไปหมด ฟาดงวงฟาดงาไปหมด เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด

7. อิสสา

จิตเกิดความอิจฉาจนทนไม่ได้ ต้องพิมพ์ ต้องแสดงออกด้วยการเสียดสีประชดประชัน โพส เม้น วิจารณ์ด้วยความไม่สุภาพ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ใด ๆ

8. มัจฉริยะ

เมื่อนำเสนอใดไปแล้ว วันหนึ่งมีผู้อื่นนำความคิดของตนไปดัดแปลง ก็นึกเสียดาย เกิดความทุกข์ นึกหวงความรู้ของตนขึ้นมาในที

9. มายา

ยึดติดอยู่กับโลกมายา ตั้งใจโอ้อวดให้ผู้อื่นเกิดความอิจฉา ฝังตัวอยู่หน้าคอม ไปไหนมาไหน เปิดดูโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา ยึดติดกับยอดไลค์ ยอดเม้น ยอดแชร์ หลงอยู่ในมายาของโลกโซเชียล ไม่สามารถหยุดติดต่อกับโลกโซเชียลได้นาน ๆ พึ่งพาโลกโซเชียลสร้างความสุขแบบปลอม ๆ ให้กับตนเอง

10. สาเถยยะ

โพสสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง สร้างภาพว่าตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ตนเองไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย นำไปสู่การยึดติดกับภาพลักษณ์ที่ตนสร้างขึ้น ต้องฉลาดอยู่ตลอดเวลา ต้องแสนดีอยู่ตลอดเวลา ต้องสวยต้องหล่ออยู่ตลอดเวลา ภาพลักษณ์ต้องดูดีอยู่ตลอดเวลา ที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็นำมาซึ่งความทุกข์ในชีวิตจริงของตนเอง

11. ถัมภะ

เมื่อมีใครแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง รีบโต้เถียงในทันที จ้องแต่จะเถียง โดยไม่ได้นำความคิดนั้นมาตรึกตรองจนเกิดปัญญา โพสระบายความในใจอย่างไร้เหตุผล ไหลไปตามอารมณ์ของตนเป็นใหญ่ บ่นตลอดเวลา ระบายอารมณ์อยู่ตลอดเวลา

12. สารัมภะ

คอยแต่จะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น แข่งดีแข่งเด่นกับเขา เขามีคนกดไลค์กี่คนแล้ว เรามีกี่คนแล้ว เขามีเพื่อนกี่คนแล้ว มีคนเม้น คนแชร์กี่คนแล้ว ทำไมของเขามีเยอะ ทำไมของเราจึงมีเท่านี้ ตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะกันในเรื่องไร้สาระ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ

13. มานะ

เมื่อมีคนกดไลค์มากๆ มีคนชื่นชมมากๆ ก็หลงว่าตนเก่ง ตนดีกว่าเขา ทั้งที่ความจริงแล้ว ทุกคนย่อมมีทั้งด้านดีและไม่ดี มีสิ่งที่เชี่ยวชาญและสิ่งที่โง่เขลา มีสิ่งที่พิเศษ และสิ่งที่ธรรมดา เมื่อหลงตนมากเข้า อัตตาตัวตนก็ขยายตัวใหญ่ขึ้น เกิดเป็นมานะทิฐิว่า ข้าคือผู้ยิ่งใหญ่ ข้าคือคนสำคัญ

14. อติมานะ

เมื่อคิดว่าตนดีกว่าใคร ก็เริ่มดูถูกผู้อื่น เริ่มพูด เริ่มเม้น เริ่มแสดงความคิดเห็นประชดประชันว่าตนดีกว่าเขา

15. มทะ

เสพติดคำชื่นชม ปล่อยให้ใจฟูไปกับคำชมทั้งวัน คุยแต่ว่าวันนี้มีใครมาชมบ้าง พัฒนาไปสู่ความมัวเมาต่อคำสรรเสริญเยินยอ

16. ปมาทะ

ใช้เวลาอยู่ในโลกโซเชียลนานเกินไป จนไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในชีวิตจริง ละเลยการงาน ครอบครัว สุขภาพ หมดเวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์ ทำให้ชีวิตจริงตกต่ำลงเรื่อย ๆ

ข้อคิด !

การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นมีประโยชน์ก็จริง แต่ต้องใช้อย่างมีสติ ใช้อย่างรู้เท่าทัน ควรมีการบริหารจัดการเวลาในการใช้ และใช้ให้ถูกกาลเทศะ หากเราหลงอยู่กับมันมาก หรือยึดติดกับมันมากเกินไป สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็อาจกลับมาสร้างความทุกข์ให้เราได้ในภายหลัง

ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากที่ตกเป็นทาสของโลกโซเชียล ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนที่มีการศึกษา คนไร้การศึกษา ทั้งคนเก่ง และคนไม่เก่ง ทั้งคนธรรมดาและคนดังต่าง ๆ ตราบที่เราไม่ได้ใช้มันอย่างมีสติ มันย่อมกลืนกินชีวิตของเราไปสู่โลกเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

คนทุกวันนี้ไม่มองหน้ากันแล้ว เพราะเรามองหน้าจอกันตลอดเวลา ในหนึ่งปี เราแทบนับครั้งได้ว่ามองท้องฟ้ากี่ครั้ง แม่อยู่กับลูก นั่งมองจอ ลูกอยู่กับแม่ ก็นั่งมองจอ อ่านคำชมบนจอเสร็จ มานั่งเถียงกับคนครอบครัวต่อ ทุกวันนี้โลกเป็นอย่างนี้ ไม่อยากจะเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว

ป.ล. กิเลสทั้ง 16 ข้อนี้ นำมาจากหลักธรรมอุปกิเลส 16 ของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่า หลักธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาล เป็นสัจจะ เป็นของจริงที่นำมาสอนใจตน และสอดส่องความเป็นไปของสังคมได้ทุกยุคทุกสมัย 

ในบทความนี้ แม้ไม่ได้ถอดมาเหมือนซะทีเดียว แต่ยังคงใช้กรอบหลักธรรมเดิม โดยดัดแปลง ให้เข้ากับสิ่งที่เห็นๆ กันอยู่ในโลกโซเชียล กิเลสทั้ง 16 ตัวนี้ เมื่อเกิดกับใครแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านเตือนไว้ว่า

จะนำไปสู่ความขุ่นมัวในเบื้องต้น

หากไม่พยายามสะสาง จะนำไปสู่ความทุกข์

และพัฒนาไปเป็นความชั่วในรูปแบบอื่นๆ

ถ้าเราไม่หลอกตัวเองจนเกินไปนัก

เห็นได้ว่า ทุกวันนี้กิเลสทั้ง 16 ตัวนี้

ได้ยึดพื้นที่ทั้งหมดในโลกโซเชียลไปเรียบร้อยแล้ว!!!

ความเห็น 20
  • 🎖❣️Suthin❣️🎖
    ผมก็มีตั้งหลายข้อ ดีแล้ว ทำให้รู้ตัว จะได้ปรับปรุงแก้ไข ให้เท่าทันกิเลสขึ้น
    22 ธ.ค. 2562 เวลา 09.24 น.
  • Piyasuda🌷
    สาธุค่ะ จะตั้งสติเมื่อเข้าสู่โลกโซเชียลไม่ให้กิเลสมาครอบงำได้
    22 ธ.ค. 2562 เวลา 09.35 น.
  • Encapsule
    99 เปอเซ็น ทั้งนั้น
    22 ธ.ค. 2562 เวลา 11.52 น.
  • Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
    พยายามตั้งตรงกลางให้มากค่ะจริงๆ พยายามทำอยู่ เป็นโอกาสดีที่จะได้ฝึกจากตรงนี้มากเลยค่ะ ระยะหลังก็พยายามให้สุภาพแล้วค่ะ
    22 ธ.ค. 2562 เวลา 11.23 น.
  • ผมคิดว่าคำว่า กิเลส สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยเพราะความคิดที่เป็นสิ่งนำให้เกิดขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่เอาความคิดของตนเองมาเป็นใหญ่แล้ว คำว่า กิเลส ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาครอบงำจิตใจทำให้เกิดขึ้นมาได้.
    22 ธ.ค. 2562 เวลา 08.59 น.
ดูทั้งหมด