ไลฟ์สไตล์

โรค RSV เชื้อที่เด็กติดได้เพราะถูกหอมแก้ม

Motherhood.co.th
เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 03.00 น. • Motherhood.co.th Blog

โรค RSV เชื้อที่เด็กติดได้เพราะถูกหอมแก้ม

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก อาจจะเคยได้ยินชื่อของ "โรค RSV" กันมาบ้าง อาจจะทราบมาแค่ผิวเผินว่ามันคือโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส หรือที่มีดราม่ากันอยู่บ่อย ๆ ว่าลูกติดเชื้อโรคมาเพราะถูกหอมแก้ม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เชื้อโรคชนิดนี้ติดต่อได้อย่างที่คนพูดกันหรือไม่ และจะป้องกันให้ลูกน้อยได้อย่างไร Motherhood หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โรค RSV คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งจำนวนมาก เช่น เสมหะ เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม ผู้ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นหวัด คือ ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล คนทุกเพศทุกวัยสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ แต่พบมากในเด็กและทารก ซึ่งเป็นวัยที่มักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้

ทำความรู้จักกับโรคที่มาจากเชื้อไวรัส rsv ให้มากขึ้นดีกว่า

อาการของโรค RSV

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน ผู้ใหญ่หรือเด็กโตมักพบอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ไอแห้ง เจ็บคอ ไวรัส RSV พัฒนาไปสู่โรคขั้นรุนแรงได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ โดยปกติ อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กโตและผู้ใหญ่จะดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ในเด็กเล็กและทารกหลังสัมผัสกับเชื้อไวรัสในช่วง 2-8 วัน อาจเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่า โดยพบอาการได้ดังนี้

  • หายใจเร็วกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
  • จาม ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล
  • เบื่ออาหาร
  • หงุดหงิดง่าย เซื่องซึม

สำหรับเด็กหรือทารกที่มีอาการดังนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

  • ไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
  • มีน้ำมูกเหนียวทำให้หายใจลำบาก
  • ปากหรือปลายนิ้วเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวคล้ำ เพราะขาดอ็อกซิเจน
  • ประสบภาวะขาดน้ำ
  • เด็กทารกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร หรือมีผื่นขึ้น

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สาเหตุหลักเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการไอหรือการจาม

กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ที่มีอาการรุนแรงได้สูง ได้แก่ เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด หรือผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป

การวินิจฉัยการติดเชื้อ

การวินิจฉัยจะเริ่มจากการตรวจทางกายภาพของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อฟังเสียงหวีดในระบบทางเดินหายใจ เสียงการทำงานของปอด หรือเสียงผิดปกติจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย และแพทย์อาจใช้วิธีต่อไปนี้ร่วมในการวินิจฉัย

  • วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจน
  • ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ตรวจหาไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ
  • เอกซ์เรย์หน้าอก เพื่อตรวจหาโรคปอดบวม
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก
การดูดน้ำมูกทำให้จมูกลูกโล่งขึ้น

การรักษาการติดเชื้อ

ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคองให้หายใจได้ดีขึ้น แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล การดูแลและรักษาอาการที่บ้าน ทำได้ดังนี้

  • เพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อระบบทางเดินหายใจที่ดีขึ้น แต่ไม่ควรให้ค่าความชื้นในอากาศมากเกินร้อยละ 50 เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ
  • นั่งหรือนอนในตำแหน่งที่หายใจได้สะดวก เช่น นั่งตัวตรง ใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่งไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
  • ใช้ยาหยอดจมูกเพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก อาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และดูดน้ำมูกเพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  • รับประทานยาในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้

ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์อาจใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • รับประทานยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการหายใจมีเสียงหวีด และดูดเสมหะเมื่อมีเสมหะข้นเหนียวจำนวนมาก เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  • แพทย์อาจใช้ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อขยายหลอดลมและลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
  • แพทย์อาจให้ออกซิเจน หรือใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจหากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยที่เป็นทารกคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ซึ่งจะส่งผลดังนี้

  • โรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ เชื้อไวรัสจะเคลื่อนตัวจากระบบทางเดินหายใจช่วงบน ได้แก่ จมูก คอ ปาก ลงไปที่ระบบทางเดินหายใจช่วงล่าง ทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดหรือทางเดินหายใจ พบอาการที่รุนแรงได้ในทารก เด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดจากเชื้อเข้าไปในพื้นที่บริเวณหลังแก้วหู ทำให้เกิดหูน้ำหนวก พบมากในผู้ป่วยที่เป็นทารกและเด็ก
  • โรคหอบหืด เชื้ออาจส่งผลระยะยาวทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้ในอนาคต
ระยะยาวเด็กอาจะเป็นหอบหืดได้หากมีภาวะแทรกซ้อน

ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่คุณพ่อคุณแม่สามาระแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อให้แก่ลูกได้ ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนกินอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ
  • ไม่ควรให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อหวัดหรือมีไข้
  • ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
  • ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่นร่วมกับเด็กที่ป่วย
  • สอนลูกไม่ให้คนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ หรือมากอด มาหอมแก้ม

ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องระวังเรื่องสุขภาพของลูกให้มากที่สุดไว้ก่อนนะคะ หมั่นสอนให้เขารักษาความสะอาดของตัวเองอยู่เสมอ ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนจะรับประทานอาหารหรือของว่าง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกับผู้ที่มีเชื้อหวัดด้วยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Tiwa
    ต้องดูแลเป็นอย่างดีเลยค่ะ
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 06.15 น.
  • Off
    คนมีลูกถึงเข้าใจ ว่าทำไมกลัวการจับการหอมของคนอื่นๆมาก. ป่วยทีไม่ต้องหลับต้องนอน งานก้อต้องทำ สุดๆ
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 05.07 น.
ดูทั้งหมด