การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว และคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วก็อาจเป็นเพื่อนเรา เป็นญาติสนิท เป็นคนที่เดินสวนกันในห้าง หรือแม้แต่ตัวเราเองก็เป็นได้..
เราตั้งสเตตัสในเฟซบุคเพื่อหาบุคคลที่เคยมีประสบการณ์อยากจบชีวิตตัวเอง และยินยอมให้สัมภาษณ์กับ LINE TODAY เพื่อแชร์เรื่องราวของตน
เราได้คนที่มาแสดงตัวอยากให้สัมภาษณ์เป็นหลายสิบคน และที่ผู้เขียนไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น มีญาติ มีรุ่นพี่ มีเพื่อนที่ใกล้ชิด มาเปิดเผยตัวว่าพวกเขาเคยอยากฆ่าตัวตาย หรือแม้กระทั่งได้ลองแต่ไม่ตายมาแล้ว
“ดีกับใจ” ในสัปดาห์นี้ เราเลยอยากนำเสนอเรื่องราวที่หนักและดาร์ก เพื่อให้ทุกคนได้ระแวงและระวังเกี่ยวกับปัญหานี้ผ่านเรื่องราวของบุคคลทั้งสามที่เราได้คุยด้วย
หากคุณกำลังเผชิญกับชีวิตที่หนักหน่วง อยากให้รู้ว่าคุณยังมีบทความนี้อยู่เป็นเพื่อน และหากคุณกำลังเจอกับทางตัน เราก็มีความหวังเล็ก ๆ ว่าบทความที่เราตั้งใจเขียนขึ้นนี้ จะช่วยให้คุณมองเห็นชีวิตจากอีกด้านที่สดใสมากขึ้น
100% ของความคิดอยากฆ่าตัวตายคือผลพลอยได้จากโรคซึมเศร้า
เราเริ่มคุยกับผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเกี่ยวกับเรื่องนี้ “ออม” คือรุ่นพี่ที่ผู้เขียนเคยทำงานด้วย เธอเป็นคนที่ร่าเริงสดใสมาก ๆ แต่สิ่งที่เราได้รับรู้จากการคุยกับเธอในครั้งนี้คือภายใต้ความเป็นคนตลกและเสียงหัวเราะที่ชวนให้คนอื่นต้องขำตามคือโรคซึมเศร้าที่อยู่กับเธอมาเป็นเวลากว่า 7 ปี
“เรารู้ตัวตอนอายุ 27 ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า และสาเหตุก็คือเราอกหักเว่ย โดนแฟนบอกเลิกแล้วร่างกายก็ตอบโต้ด้วยการไม่นอนไป 3 วันเลย ซึ่งปกติที่เราอกหักก็จะเป็นคนดำดิ่งกับมันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่คิดเหมือนกันว่ามันจะมาถึงจุดที่ไม่ได้นอนติดต่อกันนานถึง 3 วัน
เหตุผลที่โดนบอกเลิกคือเขาเพิ่งมาสารภาพว่าตัวเองมีแฟนอยู่แล้ว เราเป็นคนที่มาทีหลัง เรื่องมาแดงเพราะว่าอยู่ ๆ ก็มีผู้หญิงคนนึงมาโพสต์รูปบนเฟซบุคของเขาแล้วก็เขียนแคปชั่นประมาณว่าคิดถึงนะ คือเราไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลาเพราะเขาเป็นชาวต่างชาติ เดินทางไป ๆ กลับ ๆ เมืองไทย แต่ทุกอย่างมันชัดเจนมาก เขาพาพ่อแม่มาเที่ยวแล้วมาเจอเรา อยู่ที่ไหนไปไหนก็บอกกันตลอด ทำให้เราไว้ใจ แต่พอเจอรูปผู้หญิงคนนั้นและเราถามเขา คำตอบที่ได้คือเขามีผู้หญิงอีกหลายคนรวมถึงแฟนที่เป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว
เราไม่อยากอยู่คนเดียวเลย โทรหาเพื่อนบอกว่าจะขับรถไปเสม็ด เพื่อนก็อาสามาเป็นเพื่อน กลับมาก็ไปค้างคอนโดเพื่อนอีก นางก็เห็นแหละว่าเราไม่ได้นอน ร่างกายไม่ไหวเหมือนเครื่องมันสั่นแล้วแต่ทำยังไงมันก็ไม่หลับ ก็เลยเอายาแก้แพ้ให้เรากิน เราหลับไปเพราะฤทธิ์ยา คิดว่าตัวเองหลับไปนานมากแต่จริง ๆ แล้วเวลาผ่านไปแค่ 2 ชั่วโมง และสิ่งที่เราเห็นหลังจากตื่นขึ้นมาคือทุกอย่างเป็นสีเทา
เราตกใจแล้วก็ร้องไห้ ไม่เข้าใจว่าทำไมทุกอย่างถึงกลายเป็นแบบนี้ เข้าใจประโยคที่เขาบอกกันว่าโลกเป็นสีเทามันคืออย่างนี้จริง ๆ อะ เพื่อนก็บอกว่ามึงควรจะไปหาหมอ กูไม่ไหวกับมึงแล้วจริง ๆ ก็เลยขับรถไปมนารมย์เลย และจากที่ได้คุยกับคุณหมอ เราก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า”
ออมเล่าให้ฟังถึงครั้งแรกของเธอกับโรคนี้ เธอป่วยมาโดยตลอดและหลังจากที่เผชิญกับปัญหาความรัก เธอก็ต้องต่อสู้กับอีกหลาย ๆ เรื่อง จนความคิดอยากฆ่าตัวตายแว้บเข้ามาในหัวในฐานะทางออกของปัญหา
“เราเคยรู้สึกว่าอยากตายตอนเด็ก ๆ พออกหักปุ๊บรู้สึกว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่แล้ว แต่อารมณ์เหล่านั้นอาจจะเป็นเพราะเราเด็ก เรายังไม่ได้เข้าใจชีวิตดีและแค่รู้สึกอย่างนั้นเพราะอยากประชดอะไรสักอย่าง แต่ความรู้สึกอยากตายที่เพิ่งเข้ามาล่าสุดคือไม่กี่เดือนมานี้
เรารู้สึกว่าหลายอย่างเข้ามาในชีวิตมาก ๆ แต่เราช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้แล้ว จิตใจตัวเองเข้มแข็งขึ้นนะและจากที่เรารักษามาโดยตลอด เราก็รู้ทันว่าตัวเองจะดิ่งตอนไหน จะฉุดตัวเองขึ้นมาตอนไหน แต่ที่เครียดครั้งนี้เป็นปัญหาเรื่องงาน ความคาดหวังจากคนอื่น การที่เราเสียเพื่อนไปเพราะเรื่องงาน เป็นหนี้ และคำพูดเสียดแทงจากคนในครอบครัว เรารู้สึกว่าพอโตแล้วเรื่องพวกนี้ไม่มีใครที่อยากจะฟังแล้ว ทุกคนต่างก็มีภาระของตัวเองและเราก็ต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ มันก็เลยมีความคิดที่แว้บเข้ามาว่า ‘ไม่อยากอยู่แล้วว่ะ จะตายยังไงดีวะ’”
"มะปราง" ผู้ให้สัมภาษณ์คนที่สองเล่าเรื่องของเธอให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาเรื่องความรักที่นำไปสู่อาการซึมเศร้าเช่นกัน และในที่สุดทั้งหมดก็นำพาเธอไปสู่จุดที่อยากจะหนีปัญหาด้วยความตาย
“4 ปีที่แล้ว เราเลิกกับแฟน มันไม่โอเคตรงที่เขาเลิกเพื่อไปคบกับเพื่อนของเรา และเป็นช่วงที่เรามีปัญหากับเพื่อนอีกคนด้วยเรื่องนี้ เพิ่งมารู้ว่าเขาเป็นสาเหตุที่ปั่นให้เราเลิกกับแฟน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่ไปหมด คนที่เรารักและเชื่อใจมาหักหลังพร้อม ๆ กัน เราก็ได้แต่โทษตัวเองว่าทำไม่ดีตรงไหน รู้สึกอยากตาย
เราร้องไห้ทั้งวันแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ ออกจากบ้านก็ร้อง ขึ้นรถไฟฟ้าก็ร้อง ไปทำงานก็ร้อง ไม่กินข้าวเลยเป็นเวลา 2 เดือน น้ำหนักเราลดลง 12 โลภายในเวลา 2 อาทิตย์ สุขภาพก็แย่ลง เป็นลมบ่อยมาก ๆ จนแม่บอกว่าจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ แม่จะพาไปหาหมอ
หลังจากเลิกกัน เราพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นนะ แต่รู้สึกว่าไม่มีใครให้ความร่วมมือเลย ตอนนั้นเราไม่เห็นทางออก ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง โทษแต่ว่าเราไม่ดี ๆ ไม่รู้จะอยู่ทำไมจริง ๆ”
“คนที่เป็นซึมเศร้า เขาจะออกจากหัวตัวเองไม่ได้นะ”
“เราเข้าใจเลยว่าปัญหามันจะวน ๆ อยู่ในหัวและมันไม่มีทางออก คนที่เป็นซึมเศร้าเลยต้องการคนที่จะรับฟังเรื่องพวกนั้นซ้ำ ๆ ต้องการระบาย เพราะมันออกมาไม่ได้” นี่คือสิ่งที่ออมบอกกับเรา
สำหรับคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมปัญหาของคน ๆ นั้นช่างน้อยนิดแต่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในปัญหานั้น สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจให้ตรงกันก็คืออาการซึมเศร้าคือความป่วยที่สารเคมีในสมองมีอิทธิพลเหนือความคิดและการกระทำ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนเลยควบคุมตัวเองไม่ได้และมองไม่เห็นทางแก้ไข
ความตายอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น
มะปรางเล่าให้ฟังต่อว่าตอนที่เธอป่วยและหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ เธอจะทำร้ายร่างกาย ทำให้ตัวเองรู้สึกเจ็บแล้วจะรู้สึกดีขึ้น ถึงเธอจะรักษาด้วยการกินยาตามที่หมอสั่ง แต่ทุกครั้งที่มีการปรับยา อาการของเธอจะแย่ลง เธอหายดีขึ้นเพราะตัดขาดจากกลุ่มคนที่ทำให้เธอรู้สึกเป็นพิษ แต่ตอนที่เธอกำลังจะดีขึ้นเขาก็กลับมา
“คราวนี้เขามาเพื่อบอกเราว่าตัวเองก็ป่วยเหมือนกันและโทษว่าเป็นเพราะเราที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนี้ เขาอยากมาปรึกษาว่าควรต้องทำยังไง แต่ในหัวเราตอนนั้นคิดแต่ว่าทำไมตอนที่เราแย่ เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นแต่กลับซ้ำเติมให้เราแย่ลงไปเรื่อย ๆ แต่ทีคราวตัวเองแย่แล้วถึงกลับมาหาเรา
เราก็โอเค ยอมเป็นเพื่อนที่ดีให้เขา แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาอยากได้จากเรามีมากกว่านั้น
แฟนเก่าเราขอให้เราอยู่ในฐานะ friends with benefits (เป็นเพื่อนที่มีความสัมพันธ์ทางกายแต่ไม่ต้องผูกมัด) ให้เขา ถึงคนอื่นจะบอกว่าเราโง่มากที่ทำอย่างนั้น แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในจุดนั้นที่เราก็ยังรักและผูกพันกับคน ๆ นี้อยู่ จะไม่มีวันเข้าใจในสิ่งที่เราเลือกเลย
เรายอมเขาทุกอย่างด้วยความหวังที่ว่าความสัมพันธ์มันจะกลับมาดีได้แบบเดิม พยายามทำทุกอย่างให้มันดีขึ้นเพื่อแก้ไขอะไรที่เขาเคยบอกว่าเราแย่ แต่การกลับมาคบกันมันทำให้เราต้องกลับไปพึ่งยาอีกครั้ง เวลาเขามีเรื่องอะไรมา ก็เอามาลงที่เรา และที่พีคที่สุดก็คือประมาณปลายปีที่แล้ว อยู่ดี ๆ เขาก็มาบอกเราว่าจะขอเลิก เขาเจอคนใหม่แล้ว เราเหมือนเป็นบ้าไปเลย ทำร้ายตัวเอง เวลาเศร้าก็ทุบตัวเอง ทำให้ร่างกายมันรู้สึกเจ็บเข้าไว้ และความคิดอยากฆ่าตัวตายก็กลับเข้ามาอีกครั้ง
เราทดลองหลายครั้งมาก ๆ ทุกครั้งจะมีการวางแผนมาอย่างดี ส่วนใหญ่จะทำตอนกลางคืนเพราะทุกคนในบ้านหลับหมดแล้ว ครั้งแรกลองกินยาแก้ไมเกรนที่หมอให้มา กินไป 30 กว่าเม็ดได้ ค่อย ๆ กิน ค่อย ๆ กินจนหมดกระปุก แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มารู้ทีหลังว่ายาที่จิตแพทย์จ่ายจะโอเวอร์โดสยังไงก็ไม่มีผลต่อสมอง เราเลยลองใหม่อีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนยา ลองกินยาใหม่ เอาแก้วน้ำที่แตกมากรีดตัวเอง ปล่อยให้เลือดไหลออกจากตัวเยอะ ๆ แต่ก็แค่เป็นลมไป เคยแม้กระทั่งลองผูกคอตาย แต่ก็ไม่สำเร็จ”
ความลังเลที่เกิดขึ้นระหว่างลงมือทำคือความกลัวความทรมาน
คนที่คิดฆ่าตัวตายทุกคนไม่ได้มีใครชอบความเจ็บปวดหรือทรมานจากการตายทั้งนั้น พวกเขาต้องการความตายที่ฉับพลันเพื่อหนีออกจากความเจ็บปวดทางจิตใจที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ทั้งออมและมะปราง รวมไปถึงผู้ให้สัมภาษณ์แบบนิรนามอีกหลาย ๆ คนบอกเราว่าพวกเขาไม่อยากได้กระบวนการตายที่ทรมาน และเมื่อนึกถึงวิธีการฆ่าตัวตายที่ทำให้ตัวเองไม่ตายในทันที จุดนั้นจะทำให้เกิดความลังเลใจว่าควรเดินหน้าหรือเลิกล้มดี ออมอธิบายให้เราฟังว่า
“มันอาจจะเป็นความคิดที่แย่นิดนึงแต่มันก็ช่วยเราได้ คือเวลาที่เราคิดถึงความตายเราจะคิดถึงสเต็ปในการตายเว่ย สมมติว่าเราจะโดดตึก ถ้าตกเตี้ย ๆ เราอาจจะไม่ตายและต้องทรมาน ถ้าจะเอาให้ตายจริง ๆ คือต้องโดดสูง แต่พอโดดสูง เราก็จะมีเวลาประมาณ 5 วินาทีตอนที่ตัวลอยอยู่ในอากาศ และเรามั่นใจว่าตอนนั้นอะ เราอาจจะเสียดายชีวิตและไม่อยากตายก็ได้ พอความคิดนั้นมันติดเข้ามาในหัว วิญญาณเราจะไม่ได้ไปในที่ดี ๆ แน่ ๆ และเราไม่อยากจบชีวิตตัวเองแบบนั้น”
“เราจะฉุกคิดเมื่อวินาทีสุดท้ายของการจะลงมือทำสิ่ง ๆ นั้นแล้วอะ แล้วสติจะดึงเรากลับมาว่าไม่ๆๆๆ เราจะทำแบบนี้ไม่ได้ เราโทรหาเพื่อนเลยทันที แล้วก็รู้จากการคุยทุกครั้งว่าเราจะตายไม่ได้ และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่อยากตาย” มะปรางเล่าเสริม
แต่สิ่งที่กระชากตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นได้คือความรัก
“วันนั้นคือวันที่เราคิดไว้แล้วว่าอยากตาย มองหามีด หาอะไรก็ได้รอบ ๆ ที่ทำให้ตัวเองตายได้แล้ว แต่อยู่ดี ๆ ก็มีภาพแม่แว้บขึ้นมาในหัว” ออมเล่าให้เราฟังถึงวันที่เธอตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย
“เราตัดสินใจโทรไปบอกแม่ตรง ๆ ว่าเราอยากตาย มันหลุดจากความคิดตัวเองไม่ได้ และเราไม่มีทางออกให้ตัวเองได้แล้วโดยเฉพาะเรื่องหนี้ พอได้ฟังเสียงแม่ที่สั่นเครือกลับมาในโทรศัพท์คือแม่งแบบ เราทำเขาไม่ลงอะ เราทำคนที่เรารักขนาดนี้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็นตัวเองหรือใครแต่เราลืมไปเลยว่ามีแม่อยู่ตรงนี้ทั้งคน เราตายไป เราไม่รู้หรอกว่าตัวเองไปไหน แต่คนที่รักเราและต้องอยู่ มันคงทรมานจิตใจเขาไม่แพ้กัน”
"แอน" ผู้ให้สัมภาษณ์คนที่สามเล่าถึงวันที่เธอเตรียมจะผูกคอตายว่า “เหตุการณ์นี้เพิ่งผ่านมาได้ไม่ถึงสัปดาห์ เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากที่สูญเสียคุณแม่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รักษานะแต่เราก็ไม่รู้สึกว่าอาการนี้จะหายไปสักทีและมีความคิดที่อยากจะตายอยู่ตลอดเวลา
วันนั้นเราแพลนเอาไว้แล้วว่าจะตาย เตรียมผูกเชือกไว้กับลูกบิดประตูห้องนอนและก็โทรไปลาแฟน จังหวะที่เราได้ยินเสียงเขาร้องไห้ฟูมฟาย มันทำให้เราลังเลมาก ๆ เหมือนใจสลายไปเลยตอนนั้นเพราะเราไม่เคยเห็นแฟนต้องเป็นแบบนี้และเราก็รู้สึกว่าทำไม่ลงจริง ๆ พอได้คุยกับพ่อในวันถัดไป คำพูดของพ่อที่บอกว่า “พ่อสูญเสียแม่ไปคนนึงแล้ว อย่าให้พ่อต้องสูญเสียแอนไปด้วยเลย” แค่ประโยคนี้เลยจริง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะตายไม่ได้ ต้องมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อพ่อ"
อาการนี้ไม่มีหายขาด มันจะกลับมาเป็นช่วง ๆ แต่สิ่งที่จะต่อสู้กับมันได้คือจิตใจที่แข็งแรง
ตราบใดที่คน ๆ นั้นยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ความคิดอยากฆ่าตัวตายจะกลับมาเยี่ยมเยือนเป็นช่วง ๆ แต่ถ้าคน ๆ นั้นมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งและฝึกให้จิตรู้เท่าทันความคิดที่เกิดจากอาการป่วย มันก็จะแปรสภาพเป็นแค่ลมแผ่ว ๆ ที่พัดเข้ามาและผ่านไป
“ตอนที่เราอยากฆ่าตัวตาย เรารู้สึกแค่ว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิตแล้ว แต่จริง ๆ แล้วพอมองย้อนกลับไป ทางมันมีให้เลือกแหละ แต่เราแค่ไม่ได้มองหาหรือเดินไปหามันเอง เราแค่อยากจบปัญหาด้วยวิธีง่าย ๆ และอยากหนีความทรมานให้มันเร็วที่สุดมากกว่า” ปรางบอกว่าวิธีที่เธอใช้เยียวยาตัวเองนอกจากปล่อยให้เวลาเป็นตัวช่วยที่ดีแล้วก็คือการออกเดินทาง พาตัวเองไปหาสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ
“พยายามอย่าอยู่กับตัวเองบ่อยจนเกินไป เพราะบางทีช่วงเวลานั้นมันจะทำให้เราจมอยู่กับความคิด พยายามออกไปเจอเพื่อนบ้าง เปลี่ยนสถานที่บ้าง อย่างถ้าทุกทีนัดเจอกันสยาม วันนี้ก็ย้ายที่หน่อย ให้เราได้เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ อีกวิธีที่เราใช้แล้วเวิร์กก็คือการออกเดินทาง ไปเที่ยวคนเดียวเลย มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้ก็ไม่ได้มีแค่เขาหนิ มันมีอะไรที่รอเราอยู่อีกตั้งเยอะ และถ้าเราไม่ได้ทำมันหลังจากนี้ก็คงรู้สึกเสียดายอะ”
อีกอย่างที่ออมบอกเราก็คือการหาอุดมการณ์ให้ตัวเอง “เราเข้าใจแล้วว่าการที่คนเรามีความฝันที่จะไล่ตามอะไรสักอย่าง หรือมีเป้าหมายที่อยากทำให้มันสำเร็จมันสำคัญมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องใช้ชีวิตเพื่อบางสิ่งบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้แต่มันคือสิ่งที่เราใช้ยึดเหนี่ยวได้ดีและทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันมีค่า”
หากคุณประสบปัญหาและต้องการผู้รับฟัง โทรหาสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศได้ที่ 02-713-6793 หรือสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
ผมก็เคยคิด แต่เมื่อเข้าใจว่าเกิดเป็นอะไรก็มีปัญหาทั้งนั้น ถ้าเราหนีปัญหาเราก็ต้องหนีไปตลอด เลยสู้กับปัญหา ไม่มีอะไรหนักเท่าที่เคยเจออีกแล้ว ปัญหาใหม่ๆที่เข้าเลยเล็กนิดเดียว ทุกวันนี้คิดบวก ยิ้มให้กับทุกปัญหา และไม่สร้างปัญหาให้ตัวเองโดยไม่จำเป็น
04 ก.ย 2562 เวลา 10.21 น.
ใครไม่เป็นจะไม่รู้ว่าการพยายามเอาตัวเองออกจากความคิดในตอนนั้นมันโครตยาก มันเหมือนคลื่นทะเลที่ซัดใส่ตัวแล้วตั้งหลักไม่ได้ ตะเกียกตะกายให้ไม่จมน้ำ เฮือกสุดท้ายก็แทบหมดลมหายใจแล้ว พูดยากมันจะคิดแย่คิดลบคิดไปได้ไงไม่รู้ขิให้เข้าใจคนเป็นเถอะ เหนื่อยกายยังไม่เท่าเหนื่อยใจแต่หาสาเหตุไม่ได้เลย
04 ก.ย 2562 เวลา 11.59 น.
สวัสดีคะ
คนบนโลกเดียวกัน ไม่ต้องอายที่จะบอกใครว่าเราเป็นคะ เพราะมันเป็นปัญหาทางจิตใจไม่ใช่คนบ้าคะ คนที่จะเข้าใจมีน้อยมากคิดว่าเราเรียกร้องความสนใจ ที่จริงไม่ใช่คะ เราคนหนึ่งที่เป็นมา7เดือน กำลังกินยาอยู่ และยาช่วยได้เยอะมากคะ ใครหาทางออกไม่ได้ไปพบจิตแพทย์นะคะ เราอาจจะไม่ได้เป็นถึงต้องกินยา แต่บางคนเป็นหมอจะให้ยามากิน มันดีขึ้น สังคมจะไม่ค่อยเข้าใจคะ ตอนนี้ดิฉันเริ่มดีขึ้น เริ่มควบคุมความรู้สึกได้ เจออะไรนิ่ง จนเย็นชา แต่ยังไม่สามารถทำงานแบบเดิมได้ ต้องมาช่วยงานเอกสารกับหัวหน้า ให้กำลังใจคะ
04 ก.ย 2562 เวลา 23.35 น.
ผมคิดว่าบทความนี้ ทำให้รู้ได้ถึงในสิ่งที่ตัวเองรักและคาดหวังเอาไว้จนมากเกินไป เพราะหมายถึงว่าหากในสิ่งที่ได้คาดหวังเอาไว้ไม่เป็นไปดั่งที่ใจ นั่นหมายถึงว่าย่อมที่จะทำใ้ห้ขาดสติและคิดถึงในผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อคนที่รักเรามากกว่าในสิ่งที่เรารักได้อย่างแน่นอน ดั่งนั้นไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาในชีวิตก็ตาม สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ตัวเราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้นั่นก็คือ การมีสตินั่นเอง.
04 ก.ย 2562 เวลา 09.55 น.
Liyunhoong เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาเหมือนกัน สำหรับคนจิตปกติยากที่จะเข้าใจความซับซ้อนทางอารมณ์ของผู้ป่วยซึมเศร้า เราใช้วิธีเสพความดี อะไรที่เพิ่มความสุขแบบโลกๆ ดูหนัง ฟังเพลง ทานของอร่อย ทำไปเลย ปรับมุมมองให้คิดบวก ทำความเข้าใจกับมนุษย์ ทำงาน ออกกำลังกาย เมื่อมีสิ่งมีกระทบให้จิตตกต้องรู้ทัน ฝึกสติให้เร็ว ตั้งเป้าหมายชีวิต บอกเลยไม่ง่าย ต้องอดทนและใช้เวลาเยียวยานานมาก
04 ก.ย 2562 เวลา 13.18 น.
ดูทั้งหมด