ไลฟ์สไตล์

6 เหตุผล ที่ทำให้คนเรา ‘ใจร้าย’ บนโลกอินเตอร์เน็ต

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 09 ม.ค. 2566 เวลา 04.40 น. • J.PNP

เคยสังเกตตัวเองกันไหมคะว่า ทำไมเรามักกล้าที่จะเกรี้ยวกราด หรือแสดงอารมณ์ทางลบบนโลกออนไลน์กันบ่อยครั้ง หรือในบางสถานการณ์ถ้าเป็นในชีวิตจริงเราคงจะเก็บงำความโกรธ หรือไม่พอใจต่าง ๆ ไว้ก่อน แต่พอเป็นในโลกออนไลน์นั้นเราพร้อมที่เล่นใหญ่ใส่เต็มกับทุก ๆ ประเด็นที่เราอินไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม

จากพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อย ๆ จึงมีการศึกษาทางด้านจิตวิทยาเพื่อหาปัจจัยว่าทำไมคนเราถึงแสดงอารมณ์อย่างเข้มข้นกันบนโลกอินเตอร์เน็ต ก็พบว่ามี 6 ปัจจัยที่ทำให้คนเรานั้น รุนแรงเหลือเกินบนโลกอินเตอร์เน็ต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

‘เขาไม่รู้หรอกว่าฉันเป็นใคร’

บ่อเกิดความหยาบคายบนโลกออนไลน์ คือการที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้กระทำได้อย่างชัดเจน ผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์นั้นมักจะแสดงสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือคิดอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นนิรนามบนโลกออนไลน์หรือว่าจะสร้างคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนให้เป็นตัวตนทางออนไลน์ของตัวเองก็ได้ คือการกระทำนั้นไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงได้ ยกตัวอย่างว่าถ้าคุณสามารถปล้นธนาคารได้โดยที่ไม่มีใครสามารถตาม และรู้ว่าคุณเป็นใคร คุณจะทำหรือไม่? อันนี้เป็นเพียงข้อเปรียบเทียบง่าย ๆ การระบุตัวตนของคนนั้น เป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการให้มนุษย์รับผิดชอบการกระทำของตัวเอง แต่ในโลกออนไลน์นั้น ตัวตนก็ระบุได้ยาก และบทลงโทษนั้นก็อาจจะเป็นเพียงการแบนบัญชีต่าง ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่ามันกระทบอะไรต่อชีวิตมากนัก ถูกแบนก็สร้างใหม่ และก็ทำพฤติกรรมไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม

‘มือที่มองไม่เห็น ตัวตนก็ไม่เห็นเช่นเดียวกัน’

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อมองไม่เห็นว่าใครเป็นคนทำ ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราทำ เคยหรือเปล่าที่เข้าไปตามส่องชีวิต (อย่างใกล้ชิด) ของแฟนเก่าอยู่ตลอด ๆ ในช่วงที่ยังไม่มุ้ปอร (Move On) เราอาจจะเคยทำพฤติกรรมที่แสนน่ากลัวพวกนั้นมาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สามารถส่องตลอดเวลาโดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าคุณทำสิ่งเหล่านั้นอยู่ ดังนั้นการที่ไม่ถูกมองเห็น มันก็ยิ่งเหมือนว่าตัดความรู้สึกที่เชื่อมโยงระหว่างคนไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจะทำอะไรก็ได้ ไม่เห็นต้องแคร์จิตแคร์ใจใครทั้งนั้นบนโลกออนไลน์

‘เวลาไม่ตรงกัน ทิ้งข้อความไว้ คนส่งลืมแล้วแต่คนอ่านยังเจ็บอยู่’

วลี “แล้วเจอกัน” บนโลกออนไลน์นั้นยากแท้หยั่งถึง เมื่อออนไลน์ ผู้คนไม่ได้ตอบกลับแบบทันทีเหมือนเวลาเจอกันซึ่งหน้า บทสนทนาแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เวลา อาจจะเป็นหนึ่งนาที หนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือมากกว่านั้นก็ได้ มันเลยอาจทำให้เรารู้สึกบางอย่าง แล้วก็หายไป เมื่อผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถทิ้งคอมเมนท์ แล้วก็ทิ้งบทสนทนานั้นไป อารมณ์ที่ถูกผูกไว้ก็น้อยลงไปแล้ว ในปัจจัยนี้เปรียบเสมือนว่า คนมักแสดงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ เวลานั้น อาจจะด่า ๆ พ่น ๆ ลงโลกออนไลน์ วางมือถือไปเข้าห้องน้ำ ก็ลืมแล้วว่ารู้สึกอย่างไร แต่สิ่งนี้ละที่ทำให้การใช้ภาษาที่รุนแรงเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ เกิดขึ้นง่ายแบบไม่มีอะไรมากั้นด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

‘ตัวอักษรบอกน้ำเสียงไม่ได้’

ข้อนี้เป็นปัจจัยโลกแตกมาก ๆ เมื่อ ‘จินตนาการ’ กลายมาเป็นพระเอกบนโลกออนไลน์ ในสังคมนั้น เราก็มักที่จะอยากอยู่ในกลุ่มก้อนที่เราอินหรือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าโลกออนไลน์นั้นทำให้การเชื่อมโยงทางร่างกายนั้นหายไป ไม่ว่าจะเป็นภาษากาย การมองตากัน มันหายไปหมด การที่เราต้องจินตนาการท่าทางเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียง โทนของเสียง ความหมายต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างบรรทัดของข้อความันค่อนข้างจะยาก และทำให้ตีความไปแบบไม่ถูกต้อง 100% เราไม่รู้อย่างแท้จริงหรอกว่าอะไรอยู่หลังจอคอม หรือในขณะที่กำลังจิ้มมือถือ ด้วยปัจจัยในข้อนี้เองก็อาจทำให้คนหลงลืมตัวไปว่าแม้ว่าคนจะไม่เห็น สิ่งเหล่านั้นก็ยังสำคัญ และการที่ผู้คนหลงลืมสิ่งเหล่านั้น การพิมพ์แซะ ๆ เหน็บ ๆ จึงกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมออนไลน์

‘บนโลกออนไลน์ ฉันจะเป็นใครก็ได้ตามใจฝัน’

สิ่งนี้นั้นต่างจากข้อที่ผ่านมา คือเราสามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ได้ บทสนทนาต่าง ๆ ที่ตอบโต้ก็เหมือนผ่านกระบวนการแต่งเรื่องมากหนึ่งรอบแล้ว ปัจจัยนี้ทำให้ผู้ใช้งานอินเตอร์นั้นมองว่าชีวิตในนั้นเหมือนเกมส์ที่เราสามารถตั้งค่าเองได้ อีกทั้งยังสร้างตัวตนได้มากมาย และด้วยการสร้างตัวตนหรือคาแรกเตอร์นี้เอง ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่เราจะเลือกเป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก พูดจาแรง ๆ บนโลกโซเชียลได้เช่นเดียวกัน

‘มารยาท บางทีก็มีเยอะไป หรือไม่ก็ลืมมีไปเลย’

การตอบโต้ในโลกออนไลน์นั้นมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ คนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยนั้นอาจจะเป็นเด็กน้อยที่แชตกับเราผ่านคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน หรือว่าอาจจะเป็นผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ คือไม่มีใครรู้เลยว่าใครเป็นใคร ผู้คนมักจะไม่ได้แสดงออกหรือพูดอะไรออกไปแบบตรง ๆ มากนัก ซึ่งในกรณีที่ผู้คนบนโลกออนไลน์นั้นสุภาพเพราะไม่รู้ว่ากำลังคุยอยู่กับใคร ในอีกแง่หนึ่ง ก็สามารถพ่นวาจาที่รุนแรงมาก ๆ ไปได้ด้วยเหตุผลเดียวกันเช่นกัน เพราะเราต่างไม่รู้นี่หน่าว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยนั้นเป็นใคร

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สังคมจริง หรือสังคมเสมือน มารยาทในการอยู่ร่วมกันนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ในโลกออนไลน์เราอาจจะไม่ได้เจอกันโดยตรง การกระทำของเราอาจจะถูกจับได้ หรือจับไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะบนพื้นที่ไหน มันก็ต้องมีมารยาทในการแสดงออก เราสามารถทำทุกอย่างที่เราอยากทำ อยากพิมพ์ทุกสิ่งที่เราคิด แต่หากสิ่งที่พิมพ์หรือสื่อสารออกไปนั้นไปรุกล้ำพื้นที่ของคนอื่น ก็ไม่ควรจะทำ เพราะอย่าลืมว่าถึงที่สุดแล้ว เราก็มีกฎหมายในการเอาผิดผู้กระทำผิดบนโลกออนไลน์อยู่ และก็มีตัวอย่างให้เห็นด้วย.

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.likeable.com

ความเห็น 21
  • Pattie
    คนอารมณ์ดี รู้สึกมีความสุข เขาไม่ไปเมนต์อะไรลบๆ ให้ใครหรอก คนฉลาด จะเป็นผู้ดูเฉยๆ ไม่เมนต์ไม่ไลท์ ถ้าจะเมนต์ก็ต้องเป็นกลางปราศจากอคติ เราคิดว่าคนพวกนี้คงไม่มีความสุขในชีวิต หรือบางคนหลงผิด
    28 ก.ย 2563 เวลา 20.40 น.
  • Thawatchai
    ใครบอกว่าโลกอออนไลน์​จะระบุตัวตนคนทำไม่ได้​ ที่จริงเขามีวิธีหาและคนที่ทำอะไรไว้ก็หนีไม่พ้น​
    28 ก.ย 2563 เวลา 23.46 น.
  • แสดงความคิดเห็นได้คะ แต่ไม่ด่าผู้อื่น หรือทะเลาะกัน หากความเห็นต่างคะ
    28 ก.ย 2563 เวลา 23.47 น.
  • 5009
    เคยตัวครับ🌝🌝🌝🦖🦕🐢👍👍👍
    28 ก.ย 2563 เวลา 23.29 น.
  • phichy
    สื่อนี่แหละตัวดี นำเสนออย่างไรก้อได้ บวก หรือลบ
    02 ต.ค. 2563 เวลา 14.07 น.
ดูทั้งหมด