ไลฟ์สไตล์

ศอกกลับนักวิจารณ์ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 30 ส.ค. 2563 เวลา 18.23 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เมืองไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน นักวิจารณ์หนังมีอิทธิพลต่อคนอ่านหนังสือพิมพ์มาก เล่ากันว่าเจ้าของหนังมักจ่ายค่าเขียนเชียร์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทุนสร้างหนัง

นักวิจารณ์หนังในสหรัฐอเมริกาก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน สามารถชี้เป็นชี้ตายชะตากรรม หนังดีแค่ไหนก็เจ๊งได้ง่าย ๆ ถ้านักวิจารณ์ใหญ่ ๆ พูดด้านลบโดยพร้อมเพรียงกัน และก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนังอมตะ The Sound of Music แทบเอาตัวไม่รอดในช่วงต้น เมื่อบรรดานักวิจารณ์ยักษ์ใหญ่กระหน่ำ เช่น

บอสลีย์ โครโธอร์ (The New York Times) : “เรื่องโรแมนติกไร้สาระ” / “บทบาทเทียม ๆ ของเด็ก ๆ”

พอลีน เคล (นิตยสาร McCall) : “คำโกหกเคลือบน้ำตาลที่คนชอบกิน” ฯลฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้แทบกระอักเลือด บอกว่า นักวิจารณ์ฝั่งตะวันออกเกือบทำหนังเรื่องนี้เจ๊ง โชคดีที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่นชมหนังเรื่องนี้

The Sound of Music กลายเป็นหนังอมตะ ผู้คนทั้งโลกรัก สมัยผมเป็นเด็ก ได้ยินว่าใครคนหนึ่งไปดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ทุกวัน ราว ๆ 46 รอบ

หนังอมตะเรื่องThe Godfather Part II ก็ถูกนักวิจารณ์ยักษ์ใหญ่ถล่มเช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รอเจอร์ อีเบิร์ต (Chicago Sun-Times) บอกว่า “โครงสร้างเรื่องอ่อนไป”

วินเซนต์ แคนบี นักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา บอกว่า “มันประกอบขึ้นจากเศษหนังที่เหลืออยู่… ไม่มีจิตวิญญาณของตัวเอง”

(แคนบีเกลียด The Godfather Part II, Rocky, The Empire Strikes Back, Return of the Jedi, Night of the Living Dead, Rain Man, One Flew Over the Cuckoo’s Nest, Alien ฯลฯ)

บ่อยครั้งนักวิจารณ์มืออาชีพก็ใช้ความรู้สึกอคติอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น หนัง เจมส์ บอนด์ เรื่อง On Her Majesty’s Secret Service ประสบชะตากรรมเลวร้ายตั้งแต่ก่อนหนังฉาย เนื่องจาก ฌอน คอนเนอรี ถอนตัว ผู้สร้างจำต้องเปลี่ยนพระเอก ไปคว้าตัวชายหนุ่มออสเตรเลียชื่อ จอร์จ ลาเซนบี ที่ไม่เคยเล่นหนังมาเป็นบอนด์ ถูกคนร้อง ‘ยี้’ ตั้งแต่ก่อนหนังเข้าโรง

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่บอกว่านักแสดงคนนี้ “ไม่ใช่ เจมส์ บอนด์” เจมส์ บอนด์ ของพวกเขาต้องเป็น ฌอน คอนเนอรี เท่านั้น

บ้างว่า “ถ้าเรื่องนี้ ฌอน คอนเนอรี เล่น ก็คงโอเคกว่านี้”

ไม่ชอบนักแสดงทำให้พลอยเกลียดหนังไปด้วย มีนักวิจารณ์น้อยรายมากในเวลานั้นที่เห็นว่า On Her Majesty’s Secret Service เป็นหนังดี

ตอนที่หนังออกมาไม่กี่ปี ผมดูเรื่องนี้ 4-5 รอบในโรงติดต่อกัน เพราะชอบมากระดับคลั่งไคล้

Cross of Iron หนังสงครามของ แซม เพคกินพาห์ ตอนออกมาก็โดนถล่มเละเช่นกัน

วินเซนต์ แคนบี สวดส่งว่าหนังห่วยแตก “ไม่นึกว่า แซม เพคกินพาห์ จะตกต่ำขนาดนี้”

ยีน ซิสเกล นักวิจารณ์มีชื่อเสียงสวดยับ ให้คะแนน 0.5 ดาวจากคะแนนเต็ม 4 ดาว บอกว่า “ไม่รู้สร้างมาทำไม”

ตามมาอีกหลายคน สรุปแทบเป็นเสียงเดียวกันว่า ห่วยแตก ไร้สาระ

โชคดีที่หนังไปได้ดีในตลาดยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ที่ปกติเกลียดหนังสงครามยี่ห้อฮอลลีวูดซึ่งให้เยอรมันเป็นผู้ร้ายเสมอ

ผมดู Cross of Iron ครั้งแรกในโรงหนังแถวประตูน้ำ (น่าจะโรงหนังสเตลลา) ชอบมากเช่นกันและจดจำมาจนทุกวันนี้ ถ้าให้คะแนนจากความทรงจำ เรื่องนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 9/10 สาระอาจจะแรงกว่าเรื่อง Saving Private Ryan ด้วยซ้ำ

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ในบรรดานักแสดงและผู้สร้างหนังที่โดนวิจารณ์หนักหน่วงมากคนหนึ่งคือ คลินท์ อีสต์วูด นักวิจารณ์คู่กัดของเขาคือ พอลีน เคล (คนที่บอกว่า The Sound of Music เป็น ‘คำโกหกเคลือบน้ำตาล’)

พอลีน เคล เป็นนักวิจารณ์ยักษ์ใหญ่ของนิตยสาร The New Yorker นานถึงยี่สิบสามปี (บางครั้งก็เขียนให้ฉบับอื่นด้วย) เป็นนักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพล สามารถกำหนดชะตาของหนังได้

พอลีน เคล เกลียดหนังแทบทุกเรื่องที่ คลินท์ อีสต์วูด เกี่ยวข้อง เธอเกลียด Dirty Harry (มือปราบปืนโหด) เขียนวิจารณ์ว่า “มันเป็นแฟนตาซีหัวเอียงขวาของพวกตำรวจที่ถูกตอน (หรือลดความเป็นชายลง) อย่างช่วยอะไรไม่ได้โดยพวกเสรีนิยมที่ไม่สมจริง”

ภาษาเข้าใจยาก แต่เข้าใจง่ายว่าไม่ใช่คำชมแน่นอน

นอกจากนี้พอลีนยังบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังฟาสซิสต์

ในโลกวรรณกรรม มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ แต่ในโลกของหนัง คนทำหนังมักตีกลับด้วยหนัง

ทีมอีสต์วูดศอกกลับ พอลีน เคล ด้วยบทหนังในเรื่อง Magnum Force ในเรื่องนี้คนร้ายเป็นตำรวจที่ฆ่าคนไปทั่ว หัวหน้ากลุ่มตำรวจเลวบอก แฮร์รี คัลลาแฮน (อีสต์วูด) ว่า “You want to see fascism ? Here’s what actual fascism looks like.”

พอลีน เคล ก็ตีกลับด้วยบทวิจารณ์ Magnum Force ว่า คลินท์เป็นวีรบุรุษของโลกของความฝัน (dream world) โลกที่ไร้ศีลธรรมและเชื่อว่าชีวิตไม่มีความหมาย (nihilistic dream world)

พอลีนยังวิจารณ์ คลินท์ อีสต์วูด ว่าเป็นนักแสดงที่ “ปลดความเสแสร้งอันสุดท้ายต่อความรู้สึกของมนุษย์” ออกจากหนัง

และ

“เขาเป็นผู้ชายที่ไม่ยืนหยัดต่ออะไรทั้งสิ้นยกเว้นความรุนแรง”

และอีสต์วูดแสดงหนังแข็งทื่อเหมือนก้อนหิน “เป็นนักแสดงแข็งเหมือนหินคนแรกจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์” แต่กระนั้นก็ยังชมมือของอีสต์วูดว่า “มีแต่มือของเขาที่ดูเหมือนมีชีวิต”

ดูคล้ายเป็นเรื่องส่วนตัวไปแล้ว

จึงไม่แปลกที่ในหนังเรื่องต่อมาในชุด Dirty Harry เรื่อง The Dead Pool ฆาตกรฆ่าตัวละครนักวิจารณ์หนังสตรีคนหนึ่งชื่อ มอลลี ฟิชเชอร์ ผู้บังเอิญมีหน้าตาคล้าย พอลีน เคล !

นักฆ่าจ่อมีดที่ลำคอของ พอลีน เคล ขออภัย ! มอลลี ฟิชเชอร์ บอกว่า “Do you ever notice how time seems to slow down at night ? Just like in my films — a dream world.”

Dream world ในบทพูดนี้ไปตรงกับคำในบทวิจารณ์ Magnum Force พอดี !

ในเรื่องนี้ นักวิจารณ์หญิงร้องขอชีวิตจากฆาตกร “ได้โปรด ฉันเป็นโรคหัวใจ”

ฆาตกรย้อนว่า “อ๋อ ! นักวิจารณ์ที่มีหัวใจ ขำว่ะ !”

แน่นอน พอลีน เคล ขออภัย ! นักวิจารณ์หนังสตรีคนนั้นในหนังถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ไม่เฉพาะ คลินท์ อีสต์วูด ที่ศอกกลับนักวิจารณ์ ยังมีผู้สร้างหนังอีกหลายรายที่ขอ ‘เอาคืน’ บ้าง รวมทั้งผู้กำกับ จอร์จ ลูคัส ซึ่งหนีไม่พ้นเงื้อมมือของ พอลีน เคล

พอลีนวิจารณ์ Star Wars ว่าเป็น “มหากาพย์ที่ไร้ความฝัน” / “เหมือนพาเด็ก ๆ ไปดูละครสัตว์”

ในเรื่อง Willow ลูคัสสร้างตัวละครเลวร้ายคนหนึ่งชื่อ ‘นายพลเคล’ และแน่นอนนายพลเคลตายไม่ดี

พอลีนก็ตีกลับเรื่องที่ลูคัสหย่าภรรยาโดยจ่ายค่าเลี้ยงดูมหาศาล

มันกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปแล้ว

ในปี 1992 หนังเรื่อง The Fisher King ได้รับเสนอชิงรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ไม่ใช่นักวิจารณ์ทุกคนเห็นด้วย

นักวิจารณ์ ยีน ซิสเกิล บอกว่าหนังไม่ดีพอเข้าชิงรางวัล

คนเขียนบท The Fisher King เก็บความชอกช้ำไว้ในใจ ดื่มน้ำบัวบกไปสามปี แล้วเขียนบทหนังเรื่อง The Ref คราวนี้เขาสร้างตัวละครชื่อ ซิสเกิล เป็นตัวละครที่ทุกคนเกลียดชัง 

นี่คือศอกกลับอย่างเบา

ในปี 1975 รอเจอร์ อีเบิร์ต กับ ยีน ซิสเกิล จับมือกับทำรายการทีวีวิจารณ์หนังชื่อ Sneak Previews ตัดสินชะตาหนังด้วยนิ้วโป้ง ชูนิ้วโป้งแปลว่าหนังดี คว่ำนิ้วโป้งแปลว่าหนังเลว

ในบรรดานักสร้างหนังฮอลลีวูด โรแลนด์ เอมเมอริค เป็นนักสร้างหนัง ‘ฟาสต์ฟูด’ ที่เดินตามสูตรสำเร็จ หนังแนวนี้ล้วนเป็นเหยื่ออันโอชะของนักวิจารณ์

หนึ่งในนั้นคือ รอเจอร์ อีเบิร์ต สับงานของเขาเละทุกเรื่อง

โรแลนด์ก็รอจังหวะศอกกลับ เมื่อเขาทำหนังเรื่อง Godzilla ก็สร้างตัวละครนายกเทศมนตรีหน้าตาเหมือนอีเบิร์ตเป๊ะ และชื่ออีเบิร์ตด้วย ผู้ช่วยของนายกเทศมนตรีชื่อซิสเกิล โอ ! บังเอิญจริง ๆ !

แน่ละ ทั้งอีเบิร์ตกับซิสเกิลวิ่งหนีก็อดซิลลากระเจิดกระเจิง

ในบรรดาผู้กำกับที่รำคาญนักวิจารณ์ โจ ดานเต มีวิธีศอกกลับที่สร้างสรรค์ เขาเชิญนักวิจารณ์ไปรับการศอกกลับ

เหตุเกิดขึ้นเมื่อปี 1984 หนังเรื่อง Gremlins ของ โจ ดานเต ออกฉาย ขณะที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชอบเรื่องนี้ นักวิจารณ์ เลนนาร์ด มัลติน กลับสับหนังยับ หกปีต่อมาเมื่อสร้างภาคสอง Gremlins 2: The New Batch โจก็เชิญ เลนนาร์ด มัลติน ไปเล่นด้วย โดยให้มัลตินรับบทตัวเขาเอง

ในหนังภาคสอง มัลตินวิจารณ์ Gremlins ภาคแรก บอกว่า เขายินดีถอนรากฟันมากกว่าจะดูซ้ำ ทันใดนั้นก็ปรากฏสัตว์ประหลาดโถมเข้าไปฆ่าเขา

มัลตินไม่ใช่นักวิจารณ์คนเดียวที่ถูกสัตว์ประหลาดฆ่าในหนัง นักวิจารณ์ที่วิพากษ์ เอ็ม. ไนท์ ชามาลาน ก็พบชะตากรรมเดียวกัน (ในหนัง) ในเรื่อง Lady in the Water นักวิจารณ์ถูกสัตว์ประหลาดงาบ

แม้แต่ผู้กำกับแถวหน้า Alejandro G. Iñárritu ก็ใช้ Birdman ศอกกลับนักวิจารณ์หนัง ใน Birdman ตัวละครนักวิจารณ์หนังบอกตัวละครเอก (ไมเคิล คีตัน) ว่า เธอจะทำลายงานละครของเขา ทั้งที่ยังไม่ได้ดู แล้วบทหนังก็พลิกให้ในตอนท้ายเธอกลับยกย่องงานของเขา

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

แต่การศอกกลับนักวิจารณ์ที่ประหลาดที่สุดเป็นของนักสร้างหนังนาม อูแว บอลล์

เขาศอกกลับด้วยศอกจริง !

อูแว บอลล์ เป็นนักสร้างหนังชาวเยอรมัน ได้รับการวิจารณ์เสมอต้นเสมอปลายว่าสร้างหนังห่วย หนังของเขาติดอันดับหนังยอดแย่ในโลกเสมอมา

ครั้งหนึ่งเขาไปขอสร้างหนังจากเกม Warcraft แต่เจ้าของเกมไม่อนุญาตโดยเด็ดขาด บอกว่าหนังของคุณจะทำให้เกมของเราพังไปด้วย

โดนเข้าหนัก ๆ อูแว บอลล์ ก็ร้องว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว

ในเดือนมิถุนายน 2006 เขาประกาศท้าชกมวยกับนักวิจารณ์หนังห้าคนที่วิจารณ์งานของเขาเสีย ๆ หาย ๆ

ตั้งชื่อรายการว่า Raging Boll (เลียนชื่อหนัง Raging Bull)

นักวิจารณ์หนังสี่คนรับคำท้า การชกดำเนินไป ปรากฏว่าบอลล์คว่ำนักวิจารณ์คนแรกลงในยกที่ 1 คนที่สองขอยอมแพ้ สองคนหลังถูกน็อคเอาท์

เหตุผลเพราะ… (ตรงนี้มีหักมุม !) บอลล์ไปซุ่มฝึกชกมวยมาหลายปีก่อนการแก้แค้นครั้งนี้

พล็อตล้างแค้นนี้ดีกว่าหนังของเขาเสียอีก !

หลังจากชกนักวิจารณ์แล้ว อูแว บอลล์ บอกว่า “ตอนนี้ผมชอบนักวิจารณ์แล้วละ”

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

เป็นเรื่องง่ายที่จะวิจารณ์งานในเชิงบวก หากหนังดีมากจนปราศจากข้อสงสัย แต่หนังที่อยู่ในพื้นที่สีเทาระหว่างศิลปะกับนวัตกรรม อาจต้องการการวิเคราะห์มาก บางครั้งต้องใช้เวลาดูซ้ำและขบคิด

ในสหรัฐฯ มีหนังใหม่ออกมาหลายเรื่องทุกสัปดาห์ นักวิจารณ์อาชีพมักทำงานหลายเรื่อง ยากที่จะวิเคราะห์หนังบางเรื่องได้ละเอียด

งานวิจารณ์เป็นนานาจิตตัง เป็นความเห็นส่วนตัว บางครั้งนักวิจารณ์ก็มีอคติ และบางครั้งนักวิจารณ์ก็ไม่ใช่ผู้รอบรู้ในเรื่องหนังจริง ๆ

บ่อยครั้งในมุมมองของคนทำหนังเห็นต่างจากนักวิจารณ์มืออาชีพโดยสิ้นเชิง เช่น หนังเรื่อง Cross of Iron ที่นักวิจารณ์หนังเห็นพ้องว่าห่วยแตก เควนติน ทาแรนติโน กลับบอกว่าเป็นหนังดี และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้าง Inglourious Basterds

ออร์สัน เวลล์ส ผู้กำกับมีชื่อบอกว่า มันเป็นหนังสงครามที่ดีที่สุดที่เขาเคยดู นับจาก All Quiet on the Western Front

มาถึงวันนี้ Cross of Iron ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังต่อต้านสงครามที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก

เรื่อง On Her Majesty’s Secret Service ก็เช่นกัน ผู้กำกับแนวทดลองแถวหน้า สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก บอกว่า นี่เป็นหนังบอนด์ที่ดีที่สุด และเป็นเรื่องเดียวที่คู่ควรกับการดูซ้ำ ด้วยเหตุผลนอกจากความบันเทิง เขาว่าช็อตต่อช็อต เรื่องนี้งดงามในทางที่ไม่เหมือนบอนด์เรื่องอื่น

คริสโตเฟอร์ โนแลน บอกว่า OHMSS เป็นบอนด์เรื่องที่เขาชอบที่สุด เพราะมันสมดุลระหว่างหนังบู๊ หนังโรแมนติก โศกนาฏกรรม และอารมณ์ เห็นชัดว่าฉากไล่ล่ากลางหิมะใน Inception ก็มาจากบอนด์เรื่องนี้

นี่บอกว่านักวิจารณ์ก็เป็นคน ผิดพลาดได้ มีอคติได้ 

แต่นักวิจารณ์ที่ดีสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดและเปลี่ยนคำวิจารณ์ได้

หลายเรื่องที่ได้รับคำวิจารณ์เชิงลบ พอกาลเวลาผ่านไป นักวิจารณ์ก็เปลี่ยนคะแนน เช่น Blade Runner ตอนออกมาครั้งแรก นักวิจารณ์ไม่ชอบ บ้างบอกว่าอืดไป แต่ภายหลังมันถูกยกย่องว่าเป็นหนังระดับสุดยอด

นักวิจารณ์ เกลน เคนนี ดู American Beauty ของ แซม เมนเดส ครั้งแรกแล้วไม่ชอบ วิจารณ์เชิงลบ ต่อมาเขาดูใหม่ แล้วกลับคำวิจารณ์ 180 องศา บอกว่ามันเป็นหนังดีระดับสุดยอด

รอเจอร์ อีเบิร์ต ผู้บอกว่าโครงสร้างของ The Godfather Part II อ่อน ก็เปลี่ยนใจ บอกว่ามันเป็นหนังสุดยอด

เช่นเดียวกับ Unforgiven ที่เขาไม่ชอบ ภายหลังก็เปลี่ยนคำวิจารณ์บอกว่ามันเป็นงานมาสเตอร์พีซ และรวมมันในรายการหนังสุดยอด

เหล่านี้ชี้ว่า คำวิจารณ์ใด ๆ เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว และนักวิจารณ์ก็ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งงานศิลปะของคนบางคนก้าวล้ำเวลา และใช้มาตรวัดเดิมที่เคยชินไม่ได้ หนังบางเรื่องอาจต้องการแค่เสนอสไตล์ศิลปะ หรืออื่น ๆ โดยไม่ต้องการเนื้อหาสาระ ดังนั้นเราอาจไม่สามารถใช้มาตรเดียวกันวัดหนังทุกเรื่อง เหมือนกับไม่อาจใช้ไม้บรรทัดวรรณกรรมมาวัดนิยายน้ำเน่าทุกครั้ง

และเช่นเดียวกับการเสพสื่ออื่น ๆ ผู้อ่านต้องคิดก่อนเชื่อเสมอ

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

ความเห็น 8
  • yim789
    สมัยก่อนการเข้าถึงยากมันเทียบกันไม่ติดสมัยนี้ถ้าวิจารณ์ไปแล้วคนบังเอิญดูแล้วถูกใจนักวิจารณ์ก็หมาไป
    31 ส.ค. 2563 เวลา 14.07 น.
  • N.K.Asia consultants
    แจ่ม
    31 ส.ค. 2563 เวลา 10.45 น.
  • ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดก็ตามที ถ้าหากว่าคนเรานั้นได้คิดพิจารณาถึงในหลักของความเป็นจริงให้รอบครอบดีแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะช่วยทำให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเสมอ.
    31 ส.ค. 2563 เวลา 08.38 น.
  • พงศ์พีระ อุดมระติ
    Cross of iron นี่ใช่ ยุทธภูมิกางเขนเหล็ก ไหมนะ อันที่จริงจะเป็นใครวิจารณ์ วิจารณ์อะไร มันก็ล้วนเป็นแค่ความเห็นของคน ๆเดียว จะให้ค่า ให้สาระอะไรก็อยู่ที่คนอ่านคนฟัง ก็เท่านั้น เรื่องของความเห็นทั้งโลกนี้ไม่มีใครที่มีความเห็นของตัวที่สำคัญเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร อย่างไร
    01 ก.ย 2563 เวลา 00.56 น.
  • NickyRATH
    อ่านมันส์ จนบรรทัดสุดท้าย
    31 ส.ค. 2563 เวลา 14.47 น.
ดูทั้งหมด