ไอที ธุรกิจ

ส่องทิศทางทองคำครึ่งปีหลัง กับ YLG

Wealthy Thai
อัพเดต 07 เม.ย. เวลา 13.14 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2564 เวลา 09.16 น. • ศุภมาศ ศรีขำ

ช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำถูกกดดันจากกระแสข่าวที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น และเตรียมหารือลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลง หลังคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นบวกมากขึ้นโดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาเทรดที่ระดับต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนเกิดคำถามว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2564 ราคาทองคำจะเป็นอย่างไร หมดรอบขาขึ้นจริงหรือไม่ วันนี้ Wealthy Thai ได้เชิญ คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLGมาตอบข้อสงสัยให้นักลงทุน

ระยะสั้นราคาทองคำจบรอบขาขึ้นแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยคุณฐิภา กล่าวว่า ผลการประชุมของเฟด (วันที่ 22 มิ.ย. 64) เป็นไปในเชิงสายเหยี่ยว (Hawkish)หรือสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ราคาทองคำสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลง 6% ทำสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 โดยผลการประชุมรอบนี้ตอกย้ำแนวโน้มว่าเฟดจะเริ่มชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินในไม่ช้านี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดอลลาร์ จนกดดันราคาทองคำอย่างหนัก ทำให้ราคาทองคำร่วงหลุดแนวรับทางจิตวิทยาบริเวณ 1,800ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหลุดลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะ 50, 100และ 200วันจนกระตุ้นแรงขายทางเทคนิคเพิ่มเติม

(ที่มา : YLG )

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไป จะส่งผลกดดันราคาทองคำอย่างมาก โดยทำให้ 1.ราคาทองคำในระยะสั้นหลุดเทรนด์ไลน์ขาขึ้น และกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงในระยะสั้นอีกครั้ง, 2.ระยะกลางกลับลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway Down (Downtrend Line สีแดง) และ 3.ราคาทองคำลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น-กลาง-ยาว ทั้ง 10, 21, 50, 100 และ 200 วัน ซึ่งสะท้อนมุมมองเชิงลงได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ภาพรวมทางเทคนิคในระยะสั้นและระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลง ระยะสั้นราคาทองคำมีการจบรอบขาขึ้น กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง ขณะที่ระยะกลางมีการจบรอบขาขึ้นและเปลี่ยนกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway Down อีกครั้ง

นโยบายการเงินเฟด ปัจจัยหลักชี้ชะตาทองคำ

ต้องยอมรับว่าการแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างมาก เพราะจากสถิติในอดีต เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2552-2554 และช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ในช่วงที่เฟดเริ่มชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงินก็ส่งผลกดดันราคาทองคำเช่นกัน เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2561ที่เป็นแบบนั้นเพราะการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐกับทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม
ดังนั้นทิศทางราคาทองคำในสิ้นปี 2564จะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเป็นสำคัญ หากการฟื้นตัวเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดแล้วเฟดเริ่มต้นคุมเข้มนโยบายการเงินตามแผนการ จะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในช่วงสิ้นปีให้มีแนวโน้มปิดตลาดในปีนี้ในกรอบ 1,700-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังในการถือครองทองคำมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กลยุทธ์ลงทุนทองคำระยะสั้น-ระยะยาว

ราคาทองคำดิ่งลงแรงทำระดับต่ำสุดของเดือนมิ.ย. บริเวณ 1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเข้าใกล้ระดับต่ำสุดของเดือนพ.ค. บริเวณ 1,765 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าราคาทองคำจะทิ้งตัวลงแรง แต่ก็มีแรงซื้อเข้ามาพยุงให้ราคาฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ประกอบกับหากสังเกตจากระดับสูงสุดในช่วงเดือนเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. และ มิ.ย. มีการยกระดับสูงสุดขึ้น

(ที่มา : YLG )

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น แนะนำให้นักลงทุนแบ่งทองคำออกขายเมื่อราคาเกิดการดีดตัวขึ้นในระยะสั้น โดยประเมินแนวต้านแรกที่ 1,826ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้จะทำให้แรงขายลดลง ราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,872 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับสูงสุดของเดือนก.พ.) ส่วนการเข้าซื้อ จับตาบริเวณแนวรับแรก 1,767-1,761ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนอยู่ได้จะเกิดการแกว่งตัวออกด้านเพื่อสร้างฐานของราคา หรือราคามีโอกาสฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะใช้เป็นจุดซื้อเพื่อทำกำไรจากการดีดตัวในระยะสั้นเท่านั้นเนื่องจากทิศทางในระยะสั้นยังอยู่แนวโน้มขาลง และหากหลุดแนวดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มราคาทองคำยิ่งมีมุมมองเชิงลบเพิ่มขึ้น และราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อ ทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.พ.)

(ที่มา : YLG )

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว YLG ตั้งกรอบเป้าหมายราคาทองคำระดับแรกในปีนี้ที่ 1,960-1,958ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 29,450บาทต่อบาททองคำมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาทองคำในปีนี้ได้ทดสอบกรอบเป้าหมายแรกของ YLG เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อราคาไม่สามารถทะลุแนวดังกล่าวไปได้ จึงเกิดการปรับตัวลงเพื่อสะสมกำลังอีกครั้ง ทั้งนี้หากราคาทองคำสามารถผ่านกรอบเป้าหมายแรกไปได้ YLG ประเมินว่าจะมีโอกาสให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อโดยมีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 2,075ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 31,200บาทต่อบาททองคำ ซึ่งถือเป็นโซนระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราคาเคยขึ้นไปทดสอบในช่วงเดือนส.ค.ปี 63 โดยกรอบแนวรับแรกของปีนี้ YLG ขยับลงมาอยู่บริเวณ 1,676-1,630ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 25,150-24,450 บาทต่อบาททองคำ หากไม่หลุดราคาจะยังคงรักษาแนวโน้มเชิงบวกไว้ได้ ทำให้ราคายังคงมีโอกาสทดสอบแนวต้าน แต่หากราคาเกิดหลุดแนวรับแรก มุมมองเชิงบวกจะลดลง ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 22,950บาทต่อบาททองคำ (ฐานของราคาทองคำในปี 2012)
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนถือครองสถานะทองคำเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ลดสถานะการถือครองทองคำบางส่วน ด้วยการขายทำกำไรระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงบริเวณแนวต้าน แล้วรอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อเพื่อถัวต้นทุน ขณะเดียวกันนักลงทุนที่มีทองคำในมือไม่มาก รอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อเพื่อถัวต้นทุน บริเวณกรอบแนวรับแรกของปีนี้ ซึ่ง YLG ขยับลงมาอยู่บริเวณ 1,676-1,630ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านนักลงทุนที่ยังไม่มีทองคำในมือ ประเมินว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำยังคงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเช่นเดิม แต่แนะนำให้แบ่งไม้เข้าซื้อ โดยไม่เข้าซื้อที่แนวรับใดแนวรับหนึ่งเต็ม 100% ของพอร์ต และเน้นทำกำไรระยะสั้นเป็นหลัก เนื่องจากภาพรวมระยะสั้นราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวลดลง รวมถึงต้องประเมินความเสี่ยงที่รับได้ก่อนเข้าสถานะ และกำหนดจุดตัดขาดทุนให้ชัดเจน

กระจายความเสี่ยงพอร์ตด้วยทองคำ

นอกจากการเก็งกำไรแล้ว YLG แนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทองคำในพอร์ตแบบผสม เพราะการมีทองคำในพอร์ตการลงทุน สามารถสร้างผลตอบได้ในระดับที่ใกล้เคียงหรือบางครั้งอาจจะมากกว่าพอร์ตลงทุนแบบ 60 ต่อ 40 แต่ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนด้วยการลด Drawdownsและช่วยเพิ่ม ผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง ดังนั้นนักลงทุนจึงควรใช้ประโยชน์ที่หลากหลายของทองคำ โดยแนะนำถือครองทองคำในสัดส่วนอย่างน้อยๆ 5-15% ของพอร์ตลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสของผลตอบแทนและลดความเสี่ยงในยามที่ตลาดเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกด้วย

ปัจจัยบวกและลบที่ต้องติดตาม

คุณฐิภา กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำที่ต้องติดตามมีด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่ 1. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินของเฟด นั่นจะเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์และกดดันราคาทองคำ ขณะเดียวกันหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่ลงหลังจากนี้ อาจส่งผลให้ชะลอแผนการต่างๆ ทั้งการการดำเนินการต่างๆของเฟด ทั้งการปรับลดวงเงิน QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยที่กลับมาสร้างแรงหนุนให้แก่ราคาทองคำ
2.หนี้สาธารณะที่ทะยานขึ้นจากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของสหรัฐ ผลจากภาวะหนี้ในระดับสูงจะทำให้เฟดต้องรักษาระดับของอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อลดภาระต่อรัฐบาลในการจ่ายคืนดอกเบี้ย การขาดดุลงบประมาณจะทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องระดมเงินผ่านการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาล นั่นทำให้อุปทานของพันธบัตรสหรัฐมีสูงขึ้นจนเป็นปัจจัยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ที่สำคัญคือ เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในปริมาณอาจกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในประเทศ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ
3.อุปสงค์ทองคำกายภาพจากจีนและอินเดียที่เริ่มฟื้นตัว จีนและอินเดียถือเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลก โดยบริโภคทองคำรวมกันเกือบ 2,000 ตันต่อปี และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 1/64 หากแรงซื้อจากจีนและอินเดียกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านต่ำของราคาทองคำได้ แต่หากความต้องการทองคำจากจีนและอินเดียสูงกว่าที่คาด ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน
4.กระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกจากกองทุน ETF ทองคำ หากกองทุน SPDR เดินหน้าเพิ่มการถือครองทองคำต่อไปจะสะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนทองคำซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยหนุนราคาทองคำ หรือ สกัดไม่ให้ราคาทองคำร่วงลงแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 7 เดือนก่อนหน้านี้ กลับกันการกลับมาลดการถือครองทองคำก็ต้องระมัดระวังในการถือครองทองคำเช่นเดิม

ดูข่าวต้นฉบับ