ไลฟ์สไตล์

ไขความลับ 'ไม้ด่าง สัตว์เผือก' เมื่อสิ่ง 'แปลกปลอม' มีราคามากกว่าใคร

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 21 ก.ค. 2564 เวลา 18.17 น. • AJ.

กระแส 'ไม้ด่าง' ยังไม่ซาไปจากกลุ่มคนรักต้นไม้ง่ายๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ หลายคนคงกำลังมองหาวิธี 'รวยทางลัด' ด้วยการแอบไปชะเง้อสวนหลังบ้านว่า เอ บ้านเรามีต้นที่เขาขายกันหลักแสนสักต้นไหมนะ?

LINE TODAY ชวนทุกคนพักใจจากข่าว 'โควิด-19' และมาไขความลับแสนจะล้ำค่าที่กำลังฮอตฮิตติดกระแสชมรมคนรักต้นไม้ รวมถึงสำรวจไปถึงวงการ 'สัตว์เผือก' อีกสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ทำให้เรารู้ว่า 'ความด่างพร้อย' และ 'แตกต่าง' นั้นล้ำค่าแค่ไหน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รู้จัก 'ไม้ด่าง' สิ่งล้ำค่าที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบ

ตามปกติต้นไม้จะมี 'ใบไม้' สีเขียว เกิดจากสารคลอโรฟิลล์ที่สังเคราะห์แสงกลายเป็นใบเขียวชอุ่ม ต้นไหนที่มีใบด่างแปลว่าต้นนั้นมีเม็ดสีตรงใบเป็นสีอื่น เช่น ขาว ครีม ชมพู แดง เหลือง แต่การที่ต้นไม้จะแตกใบออกมาเป็นสีสันอื่นๆ นั้นเกิดขึ้นยากมาก โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จะนำไปตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นสีอื่นนอกจากเขียวก็แสนยาก ทั้งยังโตช้า แถมนำไปขยายพันธุ์ต่อไม่ค่อยได้ผล

แล้วเกิดมายังไง ทำไมถึงด่างกว่าเพื่อน?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ร่วมส่องสาเหตุที่ทำให้ไม้ด่าง ด่างอย่างที่เป็นอยู่ แล้วจะรู้ว่าทำไม ความด่างช่างมีราคา และแตกต่างจากไม้ใบเขียวอย่างชัดเจน

  • โตโดยขาดแสงสว่าง - แสงอาทิตย์เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตคลอโรฟิลล์ เมื่อขาดแสง ใบไม้จึงไม่เขียวอย่างต้นที่โดนแดดเต็มที่ ใครเคยเผลอวางต้นไม้ในที่อับแสง น่าจะเคยสังเกตว่าใบไม้กลายเป็นสีซีดลงอย่างเห็นได้ชัด
  • โตโดยขาดสารอาหาร - นอกจากคลอโรฟิลล์ การขาดสารอาหารบางอย่างยังทำให้ใบไม้เปลี่ยนสีได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะสารบางตัวมีผลต่อการสร้างเม็ดสี หากขาดแมกนีเซียม ใบจะเหลืองแต่เส้นใยยังเขียว แต่หากขาดกำมะถัน หรือฟอสฟอรัส ใบจะด่างเหลืองทั้งใบ 
  • โตโดยมีความผิดปกติทางพันธุกรรม - ปัจจัยภายนอกอย่างสารเคมีหรือสารกัมมันตภาพรังสีก็มีส่วน ยังมีข้อสังเกตว่าพบไม้ด่างเป็นจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนสันนิษฐานว่ามาจากผลของระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง!

ต้นไม้ที่ 'ด่าง' เองตามธรรมชาติมีหลายสายพันธุ์ อย่าง พลูด่าง ชบาด่าง บาหยาด่าง และเงินไหลมา แต่ไม่เป็นที่นิยมของนักล่าต้นไม้ด่าง โดยที่ฮิตๆ ในวงการก็ได้แก่ ยางอินเดียด่าง มอนสเตอร่าด่าง กวักมรกตด่าง และกล้วยด่าง เพราะโอกาสในการเกิดความด่างนั้นน้อย กลายเป็นต้นไม้หายากและมีค่าในหมู่นักสะสม

เพาะเองได้ไหม?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในวงการต้นไม้ มีคนพยายามจะทำให้เกิดไม้ด่างโดยทางลัด อย่างการเอาถุงดำมาครอบไม่ให้ต้นไม้สังเคราะห์แสง เมื่อนานเข้า ใบจะซีดเหลือง แต่เมื่อต้นไม้กลับมาแข็งแรง ใบก็จะกลับมาเขียวชอุ่มดังเดิม ดังนั้นวิธีนี้อย่าได้หาทำ!

อีกวิธีที่อาจได้ผล แต่ต้องใช้ความอดทนมหาศาลคือการเพาะเมล็ดและเนื้อเยื่อ แต่ต้องใช้เวลา ทำในจำนวนมาก และต้องยอมรับว่าผลลัพธ์อาจไม่คุ้มทุน เพราะเฉลี่ยแล้วจะเกิดไม้ด่างเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

วิธีที่เซียนต้นไม้แนะนำคือปักชำยอดจากต้นแม่ที่มีความด่างอยู่แล้ว แต่อาจใช้เวลาในการเติบโตค่อนข้างนานตามธรรมชาติของไม้ด่าง ซึ่งในบางกรณีที่กว่าต้นไม้จะโต 'เทรนด์กล้วยด่างหลักล้าน' ก็อาจจะเลิกฮิตไปแล้วก็ได้

ไม่ใช่แค่ต้นไม้ด่าง แต่สัตว์เผือก ก็เป็น 'สิ่งล้ำค่า' ไม่ต่างกัน

'สัตว์เผือก' เป็นหนึ่งในสิ่งหายากที่สุดในโลก เกิดจากการผิดปกติทางพันธุกรรม คือร่างกายไม่ผลิตเม็ดสี ส่งผลให้ผิวหนัง ขน ไปจนถึงตา กลายเป็นสีขาวล้วนทั้งตัว โชคร้ายที่สัตว์เผือกมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานในธรรมชาติ เพราะตกเป็นเป้าของผู้ล่า มีปัญหาด้านสายตา ทั้งยังไม่มีความสามารถทางด้านพรางตัวเหมือนเพื่อนร่วมสายพันธุ์

Photo by PoChun Yang on Unsplash

สัตว์เผือกที่เป็นที่นิยมของนักล่า (รวมมนุษย์ด้วย) ได้แก่ 'กวาง' เนื่องจากบางประเทศตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกามีวัฒนธรรมที่เรียกว่า 'ฤดูล่าสัตว์' ให้คนได้ออกล่าสัตว์ในป่าโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่! ไม่อนุญาตให้ล่า กวางเผือก เพราะโอกาสเกิดกวางเผือกนั้นน้อยถึง 1 ใน 100,000 เท่านั้น แม้กวางเผือกจะมี 'ค่าหัว' ในการล่ามากแค่ไหนก็ห้ามแตะต้อง

ไม่ใช่แค่กวาง แต่สัตว์เผือกในโลกนี้ล้วนได้รับความสนใจ อย่างจระเข้เผือก งูเผือก เต่าเผือก หรือลิงอุรังอุตังเผือก ที่นับเป็นสปีชีส์สัตว์เผือกที่หายากที่สุดในโลก ส่วนมากได้รับการดูแลจากองค์กรสัตว์ใกล้ชิด เพราะน้องๆ เหล่านี้ตกเป็นเป้าของนักล่าตามธรรมชาติ และนักล่ามีปืนอย่าง 'มนุษย์' ได้ง่าย

ย้อนมาคิดในมุมของ 'มนุษย์' ก็น่าแปลกที่ในกรณีของ 'คนคิดต่าง' กลับยากที่จะทำความเข้าใจ ทั้งๆ ที่ความต่างในสปีชีส์เดียวกัน น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วที่เราจะยอมรับกันได้อย่างเปิดใจ จริงไหม?

ขอบคุณข้อมูลจาก :

เพจ : กล้วยด่าง ไม้มงคล

บ้านและสวน.com

chicagotribune.com

pptvhd36.com

treehugger.com

ความเห็น 34
  • Suriyan
    ถ้าไม่มีคนโง่ ก็จะไม่มีคนฉลาด.
    22 ก.ค. 2564 เวลา 05.25 น.
  • ShelL
    รีบๆปล่อยกัน ก่อนตลาดวาย
    21 ก.ค. 2564 เวลา 23.24 น.
  • 𝓦𝓢𝓑🌿
    สรุปลงท้ายได้คนละเรื่องเลย เรียนการเขียน มาจากไหนนะ
    22 ก.ค. 2564 เวลา 00.33 น.
  • 《P○H °P》
    ด่างมีมานมนาน ได้ยินมาตลอดเป็นสิบๆๆปี วันนั้น คนก้อให้ค่าว่า พิการไม่สมบูรณ์ วันนี้ คนก้อให้ค่า มูลค่า สูงส่ง หลงใหลง่ายๆ กันจัง. . กับ "กระแส " 🙄🙄🙄
    22 ก.ค. 2564 เวลา 06.32 น.
  • Thananan S.
    ปั่นราคากันเอง จบ
    22 ก.ค. 2564 เวลา 05.33 น.
ดูทั้งหมด