สุขภาพ

สปสช. แก้ปมบัตรทอง รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งคณะทำงานร่วมถกปัญหา

ฐานเศรษฐกิจ
อัพเดต 28 ต.ค. เวลา 03.28 น. • เผยแพร่ 28 ต.ค. เวลา 10.30 น.

28 ตุลาคม 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การประชุมผู้บริหาร สปสช.วันนี้มีวาระการหารือกรณีของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท กรณีรพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องไม่สามารถรับส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. นี้

โดย นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการ สปสช. ลงวันที่ 26 ต.ค. ขอให้แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ภายหลังการปรับแนวทางการบริหารจัดการระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. รวมทั้งมีข้อเสนอเข้ามาเพิ่มเติม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ เบื้องต้นเท่าที่ดูข้อมูลตามที่ รพ.มงกุฎวัฒนะได้หารือมานี้ มองว่า เป็นปัญหาที่สามารถพูดคุยและบริหารจัดการได้ทั้งในส่วนของค่าบริการผู้ป่วยนอกรับส่งต่อ (OP Refer) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) รวมถึงการจ่ายค่าบริการตามรายการบริการ (Fee schedule :FS) ซึ่ง สปสช. มีขั้นตอนในการดำเนินการโดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายที่อาจทำให้ในบางส่วนเกิดความล่าช้าต่อหน่วยบริการได้ รวมถึงประกาศหลักเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบในภายหลังขึ้น

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหานี้โดยเร็วและไม่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบ วันนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในการหาข้อยุติของปัญหาต่าง ๆ ทั้งในส่วนของเบิกจ่ายชดเชย การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอที่ รพ.มงกุฎวัฒนะขอขยายเพดานโควตาที่รับดูแลประชากรเครือข่ายมงกุฎวัฒนะ จากเดิมจำนวน 48,767 คน เป็น 250,000 คนนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ประเด็นนี้ในการดำเนินการ สปสช. จะต้องทำการแก้ไขข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำและการขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ พ.ศ. 2564

เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และแก้ไขประกาศสำนักงานฯ เรื่องเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ รวมถึงการให้โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. สามารถให้บริการลักษณะหน่วยบริการประจำได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการพิจารณาศักยภาพโรงพยาบาลในการรองรับการดูแลประชากรที่เพิ่มขึ้น และการประเมินผลกระทบที่มีต่อระบบในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการจัดระบบบริการในพื้นที่ด้วย
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะเลือกคลินิกเป็นเครือข่าย โดย รพ.มงกุฎวัฒนะจะรับค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวแทนคลินิกและเมื่อประชาชนไปรับบริการทาง รพ.จะจ่ายตามรายการบริการนั้น รูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นลักษณะเดียวกับโมเดลที่ 1 ซึ่ง สปสช. เขต 13 กทม.ได้ดำเนินการมาแล้วที่ให้หน่วยบริการประจำตามจ่ายแต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดภาระการตามจ่ายค่าบริการ

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับแก้ไขในส่วนนี้คงใช้เป็นแนวทางของ รพ.เอกชนใน กทม. ทั้งหมดไม่แต่เฉพาะ รพ.มงกุฎวัฒนะ และอาจนำไปสู่การปฏิรูปบริการในพื้นที่ กทม.ได้

"ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 4 พ.ย.นี้ สำนักงานฯ จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อแจ้งปัญหากรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อให้บอร์ดฯ รับทราบ รวมถึงหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และการเปิดให้ รพ.สามารถหาหน่วยบริการเครือข่ายได้ โดยย้ำว่า สปสช. ยังคงเน้นบนหลักการบริการใกล้บ้าน สนับสนุน รพ.และหน่วยบริการจัดบริการในรูปแบบเครือข่าย เปิดให้ประชาชนเลือกหน่วยบริการเองได้

โดย สปสช. จะจ่ายเหมาจ่ายรายหัวให้หน่วยบริการประจำ โดยที่หน่วยบริการประจำจะตามจ่ายให้กับหน่วยบริการเครือข่าย ซึ่งหลังการปรับระบบใหม่นี้ สปสช.จะมีการติดตามผลโดยดูจากการร้องเรียนของประชาชน

ดูข่าวต้นฉบับ