ภูมิภาค

ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลากังวล หลังพบ ปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำเลี้ยงกุ้ง กว่า 50 ตัน

สวพ.FM91
อัพเดต 13 ส.ค. เวลา 03.41 น. • เผยแพร่ 13 ส.ค. เวลา 03.04 น.

ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลากังวล หลังพบ ปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำเลี้ยงกุ้ง กว่า 50 ตัน ด้านประธานชมรมฯ เผย ต้นเหตุระบาดหนัก เพราะ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์"

13 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ที่มีบ่อเลี้ยงกุ้ง และ บ่อกุ้งร้าง อยู่ในตำบลท่าบอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำเป็นบริเวณกว้าง ต่างมีความกังวลต่อการระบาดบากของปลาหมอคางดำ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนใหญ่ บ่อพักน้ำ ก่อนที่จะสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงกุ้ง เต็มไปด้วยปลาหมอคางดำ จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดสงขลา พบว่า ผู้เลี้ยงกุ้งจำนวน 245 ราย มีปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำ จำนวน 21 ราย ส่วนบ่อกุ้งร้าง ที่มีอยู่นับพันบ่อในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่ก็มีปลาหมอคางดำเข้าไปเติบโต เนื่องจากเจ้าของไม่ได้เข้าไปสำรวจดูแล

นายภทรพล สังขไพทูรย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เบื้องต้นทางชมรมผู้เลี้ยงกุ้งประเมินว่า มีปลาหมอคางดำ ทั้งในบ่อพักน้ำ และ บ่อกุ้งร้าง ประมาณ 50 ตัน ซึ่งในส่วนนี้ เตรียมที่จะทำการสูบน้ำออก เพื่อกวาดจับปลาหมอคางดำ ส่งขายในจุดรับซื้อ ที่กำลังจะเปิดขึ้นอีก 1 แห่ง ในตำบลคลองแดน อำเภอระโนด โดยจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท

บางแห่ง มีรายงานว่า มีปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำมีน้ำหนักมากกว่า 3 ตัน "ซึ่งเดิมนั้น ไม่มีใครรู้จักปลาหมอคางดำ คิดว่าเป็นปลาหมอเทศ จึงนำมาปล่อยในบ่อพักน้ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์" แต่เมื่อทราบข่าวก็พบว่า ปลาหมอคางดำ ได้แพร่ขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนในรายที่ตั้งใจเพาะเลี้ยงนั้น มองว่าผู้เลี้ยงกุ้ง ไม่ลงทุนเลี้ยงอย่างแน่นอน เนื่องจากมีราคาต่ำ ไม่คุ้มต่อการลงทุน โดยทางชมรมผู้เลี้ยงกุ้งได้ประชาสัมพันธ์เน้นย้ำ ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากฝืนมีโทษปรับถึง 1 ล้านบาท

ดูข่าวต้นฉบับ