มข.วิจัย ‘หมอลำ’ ยกเครื่องธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล-แข่งขันได้ เล็งต่อยอด ซอฟต์พาวเวอร์
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข.จัดกิจกรรม The Soft Power of Molam 4.0 ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ตามแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มข.ในงานมีกิจกรรม งาน The Soft Power of Molam 4.0 ในครั้งนี้ ได้นำวงหมอลำ “ระเบียบวาทะศิลป์” มาแสดงในงาน ซึ่งเป็นหมอลำมืออาชีพที่จัดแสดงหมอลำในรูปแบบใหม่ เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจหมอลำที่ปรับเปลี่ยนการแสดงสู่ยุคดิจิทัล และใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อคงธุรกิจให้อยู่รอดในปัจจุบัน
“หวังว่าการจัดงาน The Soft Power of Molam 4.0 นอกจากความสนุกสนานที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางด้านวัฒนธรรม และมีส่วนช่วยผลักดันให้หมอลำเป็น soft power ได้ในอนาคตต่อไป” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มข.กล่าวว่า มข.มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มข.ร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัยเรื่องหมอลำกับเศรษฐกิจฯ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือหมอลำ ในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจของหมอลำให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน รวมถึง การวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมหมอลำ และนำมาปรับใช้ในการออกแบบการให้บริการ และการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขัน และต่อยอดจนสามารถเป็น soft power ได้ในอนาคต
ดร.ดนุช กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่องหมอลำกับเศรษฐกิจฯ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปใช้ประโยชน์ โดยผู้วิจัยได้นำต้นแบบการแสดงที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมเดิม และสร้างความต้องการใหม่ ถ่ายทอดให้กับผู้ที่มีส่วนกี่ยวข้องในอุตสากรรมหมอลำ ได้แก่ ผู้บริหารคณะหมอลำ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านออกแบบการแสดง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม และผู้มีอิทธิพลทางสื่อโซเชียลเกี่ยวกับหมอลำ เพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบรูปแบบการแสดงของคณะหมอลำในฤดูกาลปี 2565-2566
“นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้คณะหมอลำประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ชมหมอลำในยุคปัจจุบันให้มากที่สุด เช่น การถ่ายทอดสดการแสดง ควบคู่กับการแสดงหน้าเวที การเปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าทางออนไลน์ เพื่อให้สะดวกต่อการรับชมหน้าเวทีมากขึ้น รวมถึง การนำเทคนิค และนวัตกรรม มาต่อยอดเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ อาทิ การใช้ Studio ถ่ายทำ หรือการทำภาพสามมิติในการแสดงหมอลำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการต่อยอด นอกจากการแสดงหน้าเวทีอย่างเดียว ซึ่งข้อมูลนี้จะนำไปสู่การปรับรูปแบบการให้บริการ และการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต” ดร.ดนุช กล่าว