พบฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล โผล่อวดโฉม อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
วันที่ 4 พ.ค. 2566 นายมงคล แดงกัน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา รายงานว่า ขณะเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) พบฉลามวาฬ จำนวน 1 ตัว ความยาวตัวประมาณ 4 เมตร บริเวณระหว่างเกาะตะรุเตา-เกาะไข่ ซึ่งบริเวณดังกล่าว มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ทางอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้ทำการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป
ฉลามวาฬ จัดอยู่ในกลุ่ม ปลา (Fish) ตัวเต็มวัยมีขนาด 5.5-12 เมตร น้ำหนักสูงสุดประมาณ 20 ตัน จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ฉายาว่า "ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล" เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุด เคลื่อนที่ช้า กินแพลงก์ตอน สาหร่ายและสัตว์เล็กๆแบบกรองกิน เป็นมิตรและไม่ทำร้ายมนุษย์
ลักษณะเด่นของฉลามวาฬ จะมีหัวที่ใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว มีปากที่ตำแหน่งด้านหน้าของหัว ซึ่งต่างจากฉลามโดยทั่วไปที่มีปากอยู่ในตำแหน่งด้านล่าง ใช้เหงือกในการหายใจ มีช่องเหงือก 5 ช่อง มีครีบอก 2 อัน ครีบหาง 2 อัน และ ครีบก้น(หาง) 1 อัน หางของปลาฉลามวาฬอยู่ในแนวตั้งฉาก และโบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา ส่วนท้องของปลาฉลามวาฬมีสีขาว และในส่วนลำตัวด้านบนจะเป็นสีน้ำเงินและมีจุดสีขาวเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งจุดเหล่านี้ใช้ในการระบุตัวของปลาฉลามวาฬได้ โดยแต่ละตัวจะมีจุดที่แตกต่างกันออกไปเป็นอัตลักษณ์ประจำตัว
สถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก โดยการจัดอันดับของ IUCN (2018) คือ Endangered (EN) หรือ ใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , อุทยานแห่งชาติตะรุเตา