ไลฟ์สไตล์

พิพิธภัณฑ์ครุฑ ทีเอ็มบีธนชาต แห่งแรกในไทย แห่งเดียวในโลก

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 19 เม.ย. 2566 เวลา 23.26 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2566 เวลา 23.26 น.

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดย ทีเอ็มบีธนชาต รวบรวมครุฑที่เคยประดิษฐาน ณ ธนาคารสาขาต่าง ๆ กว่า 150 องค์มาจัดแสดงผ่านเทคโนโลยีทันสมัย สะท้อนศิลปะแกะสลักอันงดงามและความยิ่งใหญ่ของพญาครุฑแห่งป่าหิมพานต์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องราวเริ่มต้นจากวันที่ 1 ตุลาคม 2554 เมื่อธนาคารธนชาตได้รวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เปิดดำเนินการมานานกว่า 70 ปี โดยได้รับพระราชทานเครื่องหมายครุฑพ่าห์ประดิษฐานยังสำนักงานใหญ่และสาขาต่าง ๆ เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2484

จากการเล็งเห็นความสำคัญขององค์ครุฑพระราชทานทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และเชิงสัญลักษณ์ ธนาคารธนชาตจึงได้อัญเชิญองค์ครุฑจากธนาคารสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาประดิษฐานไว้ที่ศูนย์ฝึกอบรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถัดมาปี 2564 ทีเอ็มบี ได้รวมกิจการกับธนาคารธนชาต ภายใต้ชื่อ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบีธนชาต (ttb) โดยยังสานต่อพิพิธภัณฑ์ครุฑ ปรับปรุงและบูรณะ ร้อยเรียงเรื่องราวที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์และความเชื่อของสังคมไทย จากองค์ครุฑกว่า 150 องค์ กับ 6 โซนนิทรรศการ นำเสนอผ่านสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย พร้อมเปิดให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เข้าชมครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2565

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กำเนิดพญาสุบรรณ

ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยพญาครุฑองค์ใหญ่สูงกว่า 4 เมตร หน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ที่เคยเป็นตราครุฑประจำธนาคารนครหลวงไทยสำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรี ภายหลังการควบรวมกับธนาคารธนชาตจึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้

เข้ามาโถงต้อนรับพบกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์และความหมายอันทรงคุณค่าของพญาครุฑ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังสัตว์วิเศษในป่าหิมพานต์ โดยมีเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ AR เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดสัตว์ในวรรณคดีก็จะปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์ ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมถ่ายรูปและวิดีโอกับพื้นหลังป่าหิมพานต์อันวิจิตร ไฮไลต์โซนนี้อยู่ที่ห้องกำเนิดพญาสุบรรณ “ครุฑ” ต้นแบบความกตัญญู ปลดปล่อยมารดาสู่อิสรภาพ ฟังเรื่องราวการกำเนิดพญาครุฑจากตำราโบราณ

สู่ป่าหิมพานต์

เรียนรู้เรื่องราวความเชื่อโบราณของศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู เกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ที่อยู่บนมหานทีสีทันดร มีทวีปของมนุษย์อยู่ทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ อุตตรกุรุททวีปทางทิศเหนือ บุรพวิเทหทวีปทางทิศตะวันออก อมรโคยานทวีปทาทิศตะวันตก และชมพูทวีปที่เราอาศัยอยู่ทางทิศใต้

จากนั้นเข้าสู่ป่าหิมพานต์ที่มีสระอโนดาตอยู่ใจกลาง เชื่อกันว่าหากสระแห่งนี้แห้งเหือดลงกลียุคก็จะมาถึง ป่าหิมพานต์เป็นถิ่นที่อยู่ของพญาครุฑและสัตว์วิเศษทั้งนาค หงส์ สิงห์ กินรี ต้นมักกะลีผล ฤๅษี คนธรรพ์ และนักสิทธิ์วิทยาธร

ในวรรณคดีไตรภูมิกถา เล่าว่า ป่าหิมพานต์มีพื้นที่กว่า 3,000 โยชน์ (ประมาณ 48,000 กิโลเมตร) เป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีปแต่มีความพิเศษกว่าดินแดนที่มนุษย์ธรรมดาอาศัยอยู่ เป็นดินแดนที่เชื่อมต่อกับสวรรค์ และยังมีป่าใหญ่อีก 6 แห่ง ซึ่งผู้อยู่อาศัยจะต่างกันออกไปโดยถูกแบ่งด้วยแม่น้ำ 4 สาย คือ แดนช้าง ม้า ราชสีห์ และฤษีกับนักสิทธิ์วิทยาธร เป็นการผสมผสานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามไว้ทั่วทั้งโซนจัดแสดง

ครุฑยุดนาค

นครของพญานาคราช เป็นอีกห้องที่น่าค้นหา โซนจัดแสดงถูกเนรมิตให้เป็นอุโมงค์ยาวกว่า 10 เมตร เสมือนถ้ำใต้น้ำอันลึกลับของนาค ศัตรูตลอดกาลของพญาครุฑ

ในความเชื่อศาสนาพราหมณ์ ฮินดู นาคเป็นพาหนะของพระนารายณ์ขณะบรรทมเหนือเกษียรสมุทร และเป็นน้องต่างมารดาของพญาครุฑ ความโกรธแค้นระหว่างนาคและครุฑ เริ่มที่นางกัทรุ มารดาของพญานาค และนางวินตา มารดาของพญาครุฑ ได้พนันกันถึงสีม้าอุไฉศรพของพระอินทร์ ใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่าย 500 ปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาว นางกัทรุทายว่าม้าสีดำ แท้จริงม้าเป็นสีขาว แต่นางกัทรุให้ลูกนาคของตนแปลงเป็นขนสีดำอยู่ทั่วตัวม้า นางวินตาเสียรู้จึงต้องเป็นทาส

เมื่อพญาครุฑรู้เข้า ทางแก้คือต้องไปชิงน้ำอมฤตจากพระนารายณ์ แม้จะทำสำเร็จ แต่เรื่องนี้ทำให้ทั้งคู่เป็นศัตรูกันมาตลอด ปกติพญานาคจะอยู่ในสระอโนดาต และว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ทางทิศเหนือของป่าหิมพานต์ในฤดูผสมพันธุ์ พญาครุฑที่ยังโกรธแค้นจะคอยโฉบโจมตีก่อนหิ้วไปจิกกินยังป่างิ้ว

พญานาคผูกพันธ์กับคนไทยอย่างลึกซึ้งโดยได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสายน้ำมีหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติและมีความเชื่อว่าการบูชาพญานาคจะนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง

เจ้าเวหา พาหนะพระนารายณ์

โซนนี้ถูกจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีแสง สี เสียง จากจอภาพโค้งขนาดใหญ่และองค์ครุฑจำนวนมากที่อยู่สูงขึ้นไปบนผนังห้อง แทนเรื่องราวความกตัญญูของพญาครุฑตอนไปชิงน้ำอมฤตจากพระนารายณ์เพื่อมอบอิสรภาพให้มารดา แม้จะต้องสละชีวิตของตน อีกทั้งยังไม่ดื่มน้ำอมฤตแม้จะได้ครอบครองความเป็นอมตะ ครุฑจึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความดี ความอดทน

พระนารายณ์จึงประทานความเป็นอมตะแก่พญาครุฑและให้พรสำคัญ คือ การให้อยู่สูงกว่าพระองค์และขอให้เป็นพาหนะในช่วงพระองค์เสด็จ เราจึงเห็นธงตราครุฑ หรือธงมหาราช ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาหรือประดับอยู่ที่พระราชพาหนะต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ที่เปรียบเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์

ครุฑพ่าห์ ธงมหาราช ตราแผ่นดิน

ครุฑจะปรากฏเคียงข้างองค์พระมหากษัตริย์เสมอตามความเชื่อว่ากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นอวตารของพระนารายณ์ โซนนี้นำเสนอเรื่องราวของตราครุฑพ่าห์ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด

ตราครุฑพ่าห์ถูกใช้เป็นตราแผ่นดินตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครุฑเป็นเครื่องหมายประดับบนธง คือ “ธงมหาราช” ซึ่งจะถูกเชิญขึ้น ณ สถานที่ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่

ถัดมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จากเดิมที่ใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินซึ่งมีความเป็นตะวันตกมากเกินไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์อีกครั้งหนึ่งสืบมาจนปัจจุบัน

สู่ครุฑพ่าห์บนสาขาธนาคาร

ปิดท้ายกันที่ไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พบครุฑพระราชทานมากมายที่เคยประดิษฐานอยู่ที่ธนาคารสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงความสวยงามและท่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามเท่านั้น แต่ครุฑองค์ต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงหลังผ่านการตั้งตระหง่านอยู่ที่ธนาคาร ล้วนเกิดจากศิลปะ ความทุ่มเท และความวิจิตรประณีตของช่างศิลปิน ที่บรรจงแกะสลักลวดลายจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ ทั้งรูปร่าง หน้าตา ผ้านุ่ง และเครื่องทรงที่ไม่เหมือนกันในแต่ละองค์

เรียนรู้เรื่องราวไปกับพิพิธภัณฑ์ครุฑ ทีเอ็มบีธนชาต พร้อมผู้นำชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เปิดบริการทุกวันศุกร์และเสาร์ วันละ 3 รอบ ในเวลา 10.00, 13.00 และ 15.00 น. ผ่านการลงทะเบียนล่วงหน้า

ดูข่าวต้นฉบับ