สรวงสวรรค์ที่ตึก 7 ชั้น
ถนนเยาวราชเมื่อครั้งทศวรรษ 2470 เป็นหนึ่งในแหล่งบันเทิงของชาวพระนคร ริมสองฝากถนน ขนาบไปด้วยอาคารสูง 6 ชั้น อาคาร 7 และอาคาร 9 ชั้นละลานตา การสร้างตึกสูงในสมัยนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์แค่ในเชิงประโยชน์ใช้สอยเท่านั้น แต่ยังแฝงแนวคิดการประกาศก้องถึงความทันสมัยแบบตะวันตกอันทำให้ผู้คนที่พบเห็นให้ความสนใจในความอลังการของตึก ตลอดจนถึงความอลังการในกิจกรรมบันเทิงแบบคลับหรือสโมสรตามแบบชนชั้นนำ
สำหรับตึก 7 ชั้น หรือเรียกกันว่า “ตึกดำรงพาณิชย์” นั้นถูกสร้างขึ้นราวปี 2469 อาคารหลังนี้เคยเป็นที่ตั้งชื่อ โรงแรมฮั่วเซียง อาคารนี้สร้างโดยใช้ไม้เรียงเป็นตับรองรากฐานแล้วโรยทับด้วยทรายอัดแน่น คานของอาคารใช้เหล็กรางรถไฟที่สั่งซื้อมาจากเยอรมนี และปูนที่สั่งซื้อมาจากอังกฤษเลยทีเดียว
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เล่าว่า ตึกนี้สร้างอยู่บนที่ดินของคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ใหญ่ วิเศษศิริ; 2425-2487) (the101.world/naris-charaschanyawong-interview) สันนิษฐานว่า อาคารแห่งนี้นอกจากประโยชน์ใช้สอยในแง่ธุรกิจค้าขายแล้วยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งความบันเทิงของผู้คนในครั้งนั้น
ดังนั้น ภายในอาคารจึงมีคลับหรือสโมสรสําหรับชาวจีนตามชั้นสูงๆ ที่แสดงถึงความทันสมัย จุดที่ดึงดูดลูกค้ามาเที่ยวภายในตึก คือ คณะระบําโป๊นายหรั่ง เรืองนาม บนชั้น 7 จนกลายเป็นที่มาของคํากล่าวขานว่า “สวรรค์ชั้น 7” (พิศาลศรี, 117-118)
ระบำโป๊ของนายหรั่งบนถนนเยาวราชได้สร้างความใจหายใจคว่ำให้กับผู้ชมที่เป็นหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ในครั้งนั้นอย่างมาก เหตุที่หนุ่มพากันหายใจไม่ทั่วท้องนั้น มีผู้เล่าว่า เป็นเพราะว่านางระบำของนายหรั่งไม่ได้นุ่งผ้าบนเวที พร้อมมีแผ่นเล็กๆ ปิดที่ยอดปทุมถัน 2 ข้าง และแผ่นคล้ายตะปิ้งปิดตรงอวัยวะเพศ และมีใบตองปิดทับตะปิ้งอีกชั้นหนึ่ง (วีระยุทธ ปีสาลี, 2557, 102)
“ระบำ 7 ชั้น” ปะทะ “ระบำ 9 ชั้น”
นารถ โพธิประสาท นักเรียนนอกเล่าไว้เมื่อปี 2473 ว่า ในสมัยนั้น สถานที่เปิดต้อนรับคนกลางคืน มีอยู่ไม่กี่แห่ง แต่สถานบันเทิงที่ขึ้นชื่อลือชาครั้งนั้นมีอยู่ 2 แห่ง คือ ระบำที่ตึก 9 ชั้น และระบำที่ตึก 7 ชั้น แต่ละคณะต่างประโคมรายการโชว์แข่งขันกันอย่างครึกโครมเพื่อเรียกลูกค้าหนุ่มๆ ให้เข้ามาชม (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, 2519, 106)
จากความทรงจำของนารถ ทำให้เราทราบว่า บนถนนเยาวราชในช่วงต้นทศวรรษ 2470 มีระบำโป๊อยู่ 2 คณะที่ตั้งประชันขันแข่งกันคนละตึก คนละฟากถนน อีกทั้งปรากฏหลักฐานว่า ต่างฝ่ายต่างโฆษณาชักชวนลูกค้าผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และรถแห่กันอย่างคึกคักอีกด้วย
ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับ 27 ตุลาคม 2474 ลงโฆษณาคณะระบำ 7 ชั้นไว้ว่า “สถานหย่อนใจตึกดำรงพาณิชย์ชั้น 7” “สถาน-สนุก เชิญ! เชิญ! ท่านทั้งหลายมาหย่อนอารมณ์ ท่านจะลืมทุกข์, เพลินตา, หวิวใจ, เพราะนางระบำรูปงาม ตาหวานๆ แต่งกายแบบต่างๆ เต้นรำท่ายั่วยวน และร้องเพลงไทย, ฝรั่ง, แขกด้วยเสียงอันหวาน และดนตรีอย่างไพเราะ ท่านเสียน้อย แต่ได้รับความสนุกสนาน เพลินตา เพลินใจอย่างยิ่ง” พร้อมลงภาพ น.ส.โกมล ผู้เป็นดาราแห่งคณะ (วีระยุทธ, 89)
สยามราษฎร์ฉบับเดิมยังลงข่าวความเห็นของผู้เคยชมระบำโป๊ไว้ว่า “ระบำชนิดนี้ดีกว่าระบำที่นุ่งผ้า เพราะ 1.ไม่ต้องใช้ผ้า ร่างกายได้รับอากาศ 2.คนดูไม่ง่วง 3.ผู้สูงอายุยืดเวลาตายไปได้ 3 วัน 4.ค่าปรับทวีขึ้นเป็นรายได้ของแผ่นดิน 5.เผยแพร่ให้ชาวปารีสรู้ว่า ระบำเปลือยกายไม่ได้มีแต่ที่ตำบลมองค์ปานัสในปารีสเท่านั้น ที่สามแยกในประเทศสยามก็มีเหมือนกัน นางระบำควรแสดงให้คมคายกว่านี้ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มน้ำ รับประทานกล้วย และคาบสตางค์สลับฉากกับเวลาเต้นรำไปด้วย” (วีระยุทธ์, 102-104)
จากคำโฆษณาในหนังสือพิมพ์ทำให้เราในสมัยนี้ พอที่จะจินตนาการการแสดงระบำแบบนี้ได้พอสมควรเลยทีเดียว
ระบำโป๊นายหรั่ง
เจ้าคณะระบำ 7 ชั้น หรือคณะนายหรั่ง เรืองนาม นั้น เขามีชื่อจริงว่า บุญศรี สอนซุ่มเสียง (2433-2512) เป็นชาวสมุทรปราการ เขาเคยให้สัมภาษณ์กับอาจินต์ ปัญจพรรค์ เมื่อ 2508 ในช่วงปั้นปลายชีวิต โดยขณะนั้น เขาพักที่บ้านในตรอกนายเง่า ตรงข้ามตรอกพญาไม้ เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี ไว้ว่า เขาเริ่มธุรกิจระบำตั้งแต่เขามีอายุ 27 ปี หรือในราวปี 2460 (อาจินต์, 2519, 124) ส่วนวราห์ โรจนวิภาต คนหนุ่มร่วมสมัยเล่าเสริมว่า การแสดงของนายหรั่ง เริ่มเล่นจากงานวัดพระสมุทรเจดีย์ และแสดงตามวัดต่างๆ ด้วย เช่น งานวัดประยุรวงศาวาส งานวัดสระเกศ (culture.bsru.ac.th/wp-content)
สอดคล้องกับในหนังสืองานศพของนายหรั่งบันทึกเอาไว้ว่า ระบำนายหรั่งตั้งขึ้นในช่วงสมัย ร.6 เริ่มจากการตั้งคณะระบำที่เลียนแบบระบำชาติต่างๆ ทั้งจีน แขก ฝรั่งที่เข้ามาแสดงในไทย จนกระทั่งเขามีความคิดที่จะจัดแสดงชุดนุ่งน้อยห่มน้อยขึ้นเอง เขาเห็นว่า อาชีพจัดแสดงระบำเป็นอาชีพสุจริตและไม่มีผู้ใดทำมาก่อน (ยุวรี โชคสวนทรัพย์, 2554, 54)
เอนก นาวิกมูล เล่าไว้ว่า วิธีประชาสัมพันธ์ระบำของนายหรั่ง คือ นายหรั่งพาสาวในคณะเดินแห่ตระเวนออกจากบ้านฝั่งธนฯ ข้ามสะพานพุทธ มายังเวทีที่ฝั่งพระนคร ผู้คนเมื่อเห็นสาวสวยเดินตามนายหรั่งกันเป็นพรวนก็เล่าขานกันปากต่อปากจนผู้คนอยากไปชมการแสดงของเขา ทั้งนี้ ความโด่งดังของระบำนายหรั่งนั้นถึงขนาด ป.อินทรปาลิต นำมาแต่งเป็นตอน “ระบำโป๊” และ “ระบำหยาดฟ้า” ในหัสนิยายเรื่องพลนิกรกิมหงวนเลยทีเดียว
จุรี โอศิริ นักร้องวงสุนทราภรณ์เล่าประสบการณ์ของเธอว่า เธอเคยเห็นนายหรั่งตัวเป็นๆ ว่า นายหรั่งเป็นเจ้าของคณะระบำโป๊เป็นชายร่างสูง ผิวขาวมาก จมูกโด่ง ตาน้ำข้าว ผมสีแดงเพลิงฟูกระเจิง ผิวขาวแก่ขาวอ่อนผสมกันอยู่ เธอสันนิษฐานว่า นายหรั่งคงเป็นคนเผือก (จุรี โอศิริ, 2542, 109)
สำหรับผู้มาชมระบำนายหรั่งนั้น นายหรั่งเคยเล่าไว้ว่า ผู้เข้าชมระบำของเขามิได้มีแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่มีผู้หญิงเข้าชมระบำด้วยเป็นปกติธรรมดา เขาเล่าว่า เวลามีฉากนางระบำแสดงโป๊เปลือยนั้น ผู้ชมสตรีจะหลบๆ ตา ไม่กล้าจ้องมอง (อาจินต์, 2519, 128)
จุรีย้อนความทรงจำว่า เธอเคยไปชมการแสดงระบำนายหรั่งด้วย เมื่อใกล้เวลาแสดงแต่ละรอบ นายหรั่งจะใส่ชุดสวมหมวกอุศเรนถือโทรโข่งป่าวประกาศเรียกคนเข้าชม จากนั้น จะมีตัวแสดง “หน้าตาจุ๋มจิ๋มเปิดพุงขาวจั๊วะ นุ่งน้อยห่มน้อย ออกมาเต้นส่ายไปส่ายมาให้ดูหน้าโรงเป็นแซมเปิล ทีนี้ละประตูโรงแทบพัง ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปดูจนแน่น เสริมทุกรอบ” (จุรี, 109-110)
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ระบำแคนแคนนายหรั่ง : ความบันเทิงของหนุ่มๆ ในช่วงสงคราม (1)
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com