ไลฟ์สไตล์

Sretthaplomacy: บทสรุปการทูตกินได้ของ ‘เซลส์แมนเศรษฐา’ กับบทบาทไทยท่ามกลางความผันผวน

The MATTER
อัพเดต 12 ธ.ค. 2567 เวลา 10.45 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2567 เวลา 09.41 น. • Book

358 วัน – นั่นคือระยะเวลาทั้งหมดที่ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์จุริตเป็นที่ประจักษ์ ประตูทำเนียบรัฐบาลจึงต้องปิดลงสำหรับนายกฯ ที่เป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนคนแรกในรอบ 10 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้จะไม่ครบขวบปี แต่การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลชุดดังกล่าวก็เป็นที่จับตา แนวทางหนึ่งที่ถูกเน้นย้ำมาตลอดคือ ‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ ดังที่เศรษฐากล่าวในการมอบนโยบายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ว่า การทูตแบบใหม่จะต้อง “เป็นการทูตที่จับต้องได้ เป็นการต่างประเทศที่กินได้”

เช่นเดียวกับ ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเศรษฐา เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายแบบดังกล่าวว่า “[การทูต] เศรษฐกิจเชิงรุก … มีความหมายว่า จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสงบ และมีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น”

หนังสือ Sretthaplomacy: Thai Foreign Policy in the Age of Srettha and Beyond เขียนโดย ฑภิพร สุพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาการระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Crackers Books พยายามจะสรุปแนวทางนโยบายต่างประเทศภายใต้เศรษฐา และตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด ‘การทูตเศรษฐา’ จึงเน้นหนักในด้านเศรษฐกิจ ที่พยายามตอบโจทย์ภายในประเทศมากกว่านอกประเทศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

‘Sretthaplomacy’ เป็นคำที่ฑภิพรคิดค้นเพื่อใช้อธิบายแนวทางการทูตของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่ง ‘มีสีสัน’ และเป็นการทูตเชิงรุก (proactive) มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและขายสินค้าไทยสู่ตลาดโลก จะเห็นได้จากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ในแง่นี้ ฑภิพรตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐาจัดวางตัวเองเป็น ‘เซลส์แมน’ รวมถึงมีสไตล์การบริหารแบบ ‘ซีอีโอ’ คล้ายคลึงกับในสมัยของ ทักษิณ ชินวัตร

ข้อเสนอหลักของหนังสือเล่มนี้คือ การเมืองภายใน (domestic politics) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทั้งจำกัดและกำหนดแนวทางนโยบายต่างประเทศของไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โจทย์หลัก 3 ประการของรัฐบาลเศรษฐา ที่ฑภิพรยกขึ้นมาคือ (1) การสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคร่วมฯ ปัจจุบัน จัดตั้งรัฐบาล (2) การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ ซึ่งมี ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เป็นภาพแทนที่สำคัญของเรื่องนี้ และ (3) การกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายหลังฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19

ข้อเสนอที่ตามมาของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจึงสำคัญ เพราะจะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับของรัฐบาล ประเด็นนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความชอบธรรมที่เกิดจากสร้างผลงาน (performance legitimacy) ที่เสนอโดย พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในแง่นี้ ฑภิพรชี้ว่า เราจึงยังคงเห็นไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันไม่ต่างจากในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือกระทั่งอาจจะแน่นแฟ้นกันมากกว่าเดิม

สำหรับหนังสือเล่มนี้ การเมืองภายในเป็นปัจจัยหลักเพียงหนึ่งเดียวที่กำหนดทิศทางของการต่างประเทศไทย อย่างไรก็ดี น่าตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีตัวแสดงอีกหลากหลาย ที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ซึ่งมีส่วนส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของไทยด้วย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ หรือฝ่ายความมั่นคงในกรณีของการสานสัมพันธ์กับจีนและซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน หากหนังสือกะทัดรัดเล่มนี้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ก็คงจะพิจารณาบทบาทของผู้เล่นเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน

ท่ามกลางความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง การแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างตะวันออกกับตะวันตก การมาของ generative AI และรถยนต์ EVs ฑภิพรเสนอว่า ช่วงเวลานับจากนี้ คือโอกาสของไทยในการแสดงบทบาททางการทูต ในฐานะ ‘อำนาจขนาดกลาง’ (middle power) รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขันทางเทคโนโลยี หนังสือเล่มนี้เสนอว่า ไทยควรให้ความสนใจ เพราะถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นตลาดทดแทน หากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีต่อจีน ทั้งนี้ ไทยเองก็มีเสถียรภาพทางการเมืองในระดับหนึ่ง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง รองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้

ในเรื่องความมั่นคง ชัดเจนว่าไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (Mainland Southeast Asia) มาโดยตลอด ดังนั้น ฑภิพรชี้ว่า การแก้ปัญหาวิกฤตในเมียนมาเป็นอีกหนึ่งโอกาสของไทยในการแสดงบทบาทในฐานะอำนาจขนาดกลาง ซึ่งต้องใช้การดำเนินการแบบพหุนิยม (multilateralism) กล่าวคือ มีความร่วมมือกับหลายฝ่ายภายใต้กรอบอาเซียน โดยยึดหลักฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus)

ในขณะเดียวกัน ฑภิพรเสนอว่า ไทยควรรักษาสมดุลในการเมืองมหาอำนาจให้ดี การใกล้ชิดจีนมากเกินไปอาจทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น (หากเกิดกรณีที่จีนประกาศสนับสนุนรัสเซีย เป็นต้น) ขณะที่หนังสือเล่มนี้ก็ยอมรับว่า นโยบายของสหรัฐฯ หลายครั้งก็สัญญาไว้มากเกินไป (overpromised) และทำจริงน้อยเกินไป (underdelivered) เขาจึงเสนอ 3 ผู้เล่นที่ไทยสามารถกระจาย (diversify) ความสัมพันธ์ได้ นั่นคือ สหภาพยุโรป (European Union) ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

จากมุมมองของสื่อมวลชน ต้องบอกว่า เราเริ่มเห็นการดำเนินการต่างๆ ของไทยที่สอดคล้องกับข้อเสนอข้างต้นเป็นรูปธรรมบ้างแล้วภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

การทูตเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ สอดคล้องกับข้อเสนอของหนังสือที่ระบุว่า แนวทางนโยบายต่างประเทศแบบ ‘Sretthaplomacy’ จะดำเนินต่อไป แม้ไม่มีเศรษฐาอยู่ในตำแหน่ง ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นได้ใน 2-3 เรื่อง อาทิ การเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก OECD และการแสดงเจตจำนงในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม BRICS ที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นโจทย์สำคัญ

รัฐมนตรีฯ มาริษเองก็ได้เน้นย้ำบทบาทของไทยในการสนับสนุนพหุภาคีนิยมในหลายๆ เวที ทั้งในกรอบสหประชาชาติ (UN) หรือความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน ซึ่งในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยได้ประกาศเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการในเรื่องเมียนมา โดยจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม

ที่สำคัญคือ ในท้ายที่สุดแล้ว คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า การดำเนินนโยบายเช่นนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์หรือมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน

แต่เรื่องเหล่านี้ก็กลับมาตอกย้ำความสำคัญของนโยบายต่างประเทศที่จะมีมากขึ้นทุกวันในปัจจุบัน ดังที่ผู้เขียนหนังสือ Sretthaplomacy ระบุว่า “โอกาสที่สำคัญที่สุดกำลังอยู่ในมือของรัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร ในการฟื้นคืนฐานะของไทยในเวทีโลก และสร้างบทบาทใหม่ในฐานะอำนาจขนาดกลาง”

หนังสือ Sretthaplomacy เล่มนี้ จึงเปรียบเสมือน ‘สแน็ปช็อต’ ที่สรุปรวบยอดการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีภายใต้รัฐบาลเศรษฐา พร้อมชวนคิดไปถึงความเป็นไปได้ของการต่างประเทศไทย ในรัฐบาลแพทองธาร และต่อไปในอนาคต
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Editor: Thanyawat Ippoodom

ดูข่าวต้นฉบับ