ไลฟ์สไตล์

กด Snooze ชีวิต - เฟื่องลดา

THINK TODAY
เผยแพร่ 11 เม.ย. 2562 เวลา 11.00 น.

ใครชอบตั้งกดเวลา Snooze นาฬิกาปลุกกันบ้างคะ 

ตั้งเวลาตื่นไว้ล่วงหน้าครึ่งชั่วโมง เผื่อตื่นแล้วจะได้ผัดเวลานอนต่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่รู้ไหมว่า…การกด Snooze ไม่ได้มีผลเสียแค่ทำให้ตื่นสายเท่านั้น !

ทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าการทำแบบนี้มีผลเสียต่อร่างกายโดยตรง 

เพราะการล้มตัวลงนอนใหม่อีกครั้งหลังจากตื่นแล้วทำให้สมองเริ่มเข้าสู่โหมดหลับใหม่อีกรอบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อต้องลุกตื่นขึ้นจริงๆอีกครั้งในเวลาไม่นานหลังจากนั้นจึงทำให้รู้สึกว่านอนไม่พอ และอ่อนเพลียยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อฟังก์ชั่น Snooze ของนาฬิกาปลุกยุคนี้กลับสร้างความยุ่งยากมากขึ้น 

เป็นเรื่องน่าคิดว่า แล้วชีวิตที่มี Notification ตั้งเวลา “เตือน” ได้ 24 ชั่วโมงแบบในยุคนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำให้เราใช้เวลาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเปล่า

หรือทำให้เราผัดวันประกันพรุ่ง กด Snooze สิ่งที่ควรทำหลายอย่างในชีวิตมากขึ้นกันแน่  

“สักครู่” ของคนยุคใหม่ 

“สักครู่” ของคนยุคใหม่นั้นอาจกินเวลา “ยาวนาน" กว่าที่เราคิด

นักวิจัยจาก The Johannes Gutenberg University of Mainz ได้บัญญัติศัพท์คำหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า 

“Facebocrastination”  (Facebook + Procrastination)

หรือการผัดวันประกันพรุ่งที่มีสาเหตุมาจากการเล่น Facebook เป็นหลัก อาการ คือ แรกเริ่มตั้งใจว่าจะทำงาน แต่พอทำถึงจุดหนึ่งที่เริ่มรู้สึก เบื่อหน่าย เหนื่อยล้า

ในใจเริ่มรู้สึกอยาก “พักสักครู่” และได้กดเข้าไปใน Facebook ระหว่างพัก

ก็จะเล่นเพลินจนลืมเวลาและจบด้วยการใช้เวลาในโซเชียลมีเดียนานกว่าที่ตั้งใจไว้  

ความจริงแล้ว ไม่ใช่แค่ Facebook เท่านั้นแต่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้ง Twitter และ Instagram

ต่างถูกออกแบบมาให้เราใช้เวลานานๆกับมัน

ทั้งยิงโฆษณาในสิ่งที่เราสนใจ ปรับ Feed ให้เห็นเนื้อหาเพื่อนที่เราสนิทเยอะๆ

ยิ่งมีเพื่อนมาก ยิ่งมี Notification เยอะและเนื้อหาสำหรับเสพมากตามขึ้นไป

ทำให้เวลาที่ใช้นานเพิ่มขึ้นไปด้วย

แล้วถ้านำเวลา “สักครู่” ที่ใช้ไปกับการเล่นโซเชียลมีเดียมารวมกันเยอะๆ จะเกิดอะไรขึ้น ?

ความลับของสมอง คือ การใช้สมาธิ หรือ โฟกัสของคนเรานั้นมีจำกัด 

การคิดว่า หากเสพเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ไขว้เขว (Distraction) เพียงชั่วครู่ไม่เสียเวลาและพลังงานมากนั้นเป็นเรื่องไม่จริง เพราะเมื่อใช้สมาธิแตกไปในเรื่องเล็กๆน้อยๆมากมายแล้ว

เราจะเหลือพลังในการใช้สมาธิกับเรื่องหลักในชีวิตที่ตั้งใจอยากทำลดลง

ส่งผลให้เกิดการผัดวันประกันพรุ่งในที่สุด

กิจวัตรเลื่อนลอย 

พูดได้ว่าหลายครั้งที่เปิดโซเชียลมีเดียขึ้นมา เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าอยากเสพอะไรเป็นพิเศษ  

แค่ลองกดเข้าไปดูเผื่อมีอะไรน่าสนใจ 

ยิ่งทำเป็นประจำ ยิ่งติดเป็นนิสัยที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดูในช่วงเศษเวลาที่ยืนรอคิว รอรถ โดยไม่ได้เจาะจงว่าอยากเสพอะไร 

เข้าสู่โหมด “เลื่อนลอย” ไร้จุดหมาย ดั่งกึ่งหลับกึ่งตื่น

เวลาที่เราอยู่ในโหมดนี้ เราจะมีการควบคุมตัวเองต่ำ (Low self-control)

คล้ายๆกับการกินเยอะไป ช้อปปิ้งเยอะไป หรือ เลื่อนเวลาตื่นนอนไปเรื่อยๆ

รู้ว่าไม่ดี แต่ห้ามใจตัวเองไม่ได้

“ตื่น” ก่อนที่จะ “สาย” เกินไป

ทางแก้ง่ายๆในการออกจากโหมดเลื่อนลอย คือ “ตื่น”

ถ้าโลกโซเชียลเปรียบดั่งโลกในความฝัน

ที่เราควบคุมเรื่องราวไม่ได้ แล้วแต่ Algorithm จะพาเราท่องไป 

อีกทั้งมี Notification มากมาย ยื้อให้เราสนุกสนานกับเพื่อน

ลอยไปลอยมาในโลกออนไลน์ แอบดูเรื่องราวของคนนั้นคนนี้จนไม่อยากตื่น

การ “ตื่นรู้” มีสติเสมอเวลาเล่นมือถือ

จะช่วยให้เราตื่นมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงและสนุกในโลกออนไลน์แต่พอดี

… 

ทุกๆเช้า แม้ตั้งเวลา Snooze ในนาฬิกาปลุกมากมายเท่าไหร่

เมื่อถึงเวลา ณ จุดๆหนึ่งที่รู้ว่า สายแล้วแน่ๆ เราก็ต้องลุก

ชีวิตจริงในแง่มุมอื่นๆ เราอาจเห็น Deadline ของชีวิตไม่ชัดเหมือนการตื่นนอนว่า เมื่อไหร่ที่สายเกินไป 

เราจึงควรตั้ง Notification ในใจตัวเองให้มีขอบเขตเวลาในการท่องโลกออนไลน์ด้วย

ลองเริ่มฝึกง่ายๆจากการไม่กด Snooze ตอนเช้าก่อนก็ได้นะคะ

 

ที่มา:

https://www.cbc.ca/news/technology/facebocrastination-a-problem-for-students-researchers-find-1.3655154

https://www.huffpost.com/entry/snooze-button-sleep_n_4509581?utm_hp_ref=healthy-living

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/dont-delay/201512/social-media-the-network-effect-and-procrastination

About Me

Instagram: http://www.instagram.com/faunglada

Facebook: http://www.facebook.com/faunglada

Youtube:http://www.youtube.com/faunglada

 

 

ความเห็น 4
  • Boi
    เขียนได้ดีครับ
    11 เม.ย. 2562 เวลา 21.59 น.
  • N_Tansuwannarat
    ข้อมูลบอกว่า "คนไทยใช้มือถือเล่นในโลกโซเชียลประมาณ 7 ชม. ต่อวัน" นี่ก็ยังไม่ได้นับรวมเวลากิจกรรมชีวิตอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เวลาเราเล่นอะไรมาก ๆ มันจะติด แล้วเราก็จะออกจากพันธนาการอะไรบางอย่างไม่ได้ อย่างเช่น กินของหวานก็จะกินไปอยู่อย่างงั้น อยากได้มือถือใหม่ก็จะซื้อใหม่ทุกปี เป็นต้น ฉะนั้น ผมมองว่าเราต้อง "หักดิบ" ต้องใช้คำที่คนเลิกบุหรี่มักใช้กัน "เล่นโซเชียลให้มีขอบเขตในเวลาที่ควรจะเล่น เสพการแจ้งเตือนต่าง ๆ ให้มีขอบเขตความเหมาะสม" แล้วเราก็จะบริหารชีวิตและเวลาบนสองโลกได้อย่างพอดีครับ
    12 เม.ย. 2562 เวลา 05.10 น.
  • ยาก​ดู​
    13 เม.ย. 2562 เวลา 14.13 น.
  • ทุกวันนี้หน้าที่การงานเป็นตัวช่วยกระตุ้นได้ดีที่สุด จึงไม่จำเป็นทึ่ต้องใช้ตัวช่วยอย่างอื่นเลย.
    11 เม.ย. 2562 เวลา 16.36 น.
ดูทั้งหมด