ไลฟ์สไตล์

เจาะอดีต ดูยุโรปยุคเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล กองอึโบราณยังช่วยชีวิตคนได้

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 05.25 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 05.21 น.
การโยนบกที่กรุงปรากครั้งที่ 2

แง่มุมที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์มีมากมายหลายหลาก แต่นักประวัติศาสตร์หรือนักเขียนสารคดีส่วนใหญ่มักจะพุ่งเป้าไปที่เรื่องราวสำคัญๆ ซึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ หรือส่งผลต่อวิถีชีวิต อารยธรรม และวัฒนธรรมของชนรุ่นหลัง

ซาราห์ อัลบี (Sarah Albee) นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ จึงลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับแง่มุมเล็กๆ กับเขาบ้างในชื่อ Poop Happened : A History of the World from the Bottom Up เรื่องราวเกี่ยวกับอึ หรือสิ่งปฏิกูลที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนต้องขับถ่ายออกมา เพื่อปะติดปะต่อร่องรอยในหน้าประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเธอค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ เอกสารเก่าแก่ และปรึกษากับนักประวัติศาตร์ผู้เชี่ยวชาญ นำเสนอในแง่มุมที่ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาดูแล้ว การขับถ่ายของเสียนี้เป็นกิจวัตรที่เราต้องทำอยู่ทุกวัน ทว่ากลับไม่ค่อยมีบันทึกใดๆ ที่ชี้ชัดให้เห็นว่าพวกเขาจัดการเรื่องนี้กันอย่างไร ใครๆ ก็อึกันทั้งนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัญหาของนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวชีวิตของคนเดินดิน ไม่ใช่เจ้าขุนมูลนาย ที่อาศัยอยู่ในรั้วในวังก็คือ ส่วนใหญ่สามัญชนเหล่านี้จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือถ้าพอจะมีความรู้อยู่บ้าง ก็คงไม่บ้าพอจะเอาทรัพย์สินที่มีอยู่น้อยนิด ไปแลกกับกระดาษและน้ำหมึก เพื่อมาจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้คนธรรมดาเหล่านี้จะมีสัดส่วนในสังคมมากถึงร้อยละ 96 แต่นักประวัติศาสตร์แทบไม่รู้เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับพวกเขาเลย ต่างจากชนชั้นสูง ที่แม้จะมีอยู่ในสังคมแค่ร้อยละ 4 แต่ก็มีมั่งคั่งและมีความรู้ จึงบันทึกเรื่องราวไว้มากมายทั้งในรูปแบบไดอารี่ งานศิลปะ รูปปั้น ภาพเขียน จดหมาย ฯลฯ

มีเรื่องน่าขบคิดมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับถ่ายที่หนังสือประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกไว้ เราเคยอ่านบันทึกเกี่ยวกับการสู้รบของบรรดาอัศวิน การทำสนธิสัญญาสงบศึก วีรกรรมของผู้ชนะ ทว่าเราไม่เคยรู้เลยว่าบรรดาหนุ่มๆ ที่ต้องสวมชุดเกราะหนักไม่ต่ำกว่า 50 ปอนด์ ควบม้าไปไหนมาไหนเหล่านี้ ขับถ่ายกันอย่างไร หรือบรรดาเคาน์เตสชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ลากกระโปรงบานเท่าสุ่มไก่ของพวกเธอผ่านประตูแคบๆ ของห้องที่จัดไว้เผื่อทำธุระส่วนตัวได้อย่างไร หรือคนอียิปต์มีวิวัฒนาการก้าวหน้าถึงขนาดสร้างปิระมิดอันใหญ่โตมโหฬาร แล้วพวกเขาสร้างห้องส้วมกันหรือไม่ หรือแม้กระทั่ง มีใครเคยสงสัยหรือไม่ว่านักบินอวกาศในศตวรรษที่ 20 ซึ่งสวมชุดอวกาศตลอดเวลา ปลดทุกข์กันอย่างไร และเอาของเสียนั้นไปเก็บไว้ที่ไหน

การศึกษาเรื่องการขับถ่าย หรือระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลในชุมชนโบราณกลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกินคาด เพราะทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องขับถ่ายของเสียออกมาจากร่างกายไม่ต่างกัน ทำให้เรารู้สภาพสังคมของคนในยุคนั้น อาหารการกิน โรคภัยไข้เจ็บ หรือกระทั่งได้รู้ว่าคนต้องย้ายถิ่นฐานเพราะอะไร หรืออาณาจักรนั้นล่มสลายลงเพราะเหตุอันใด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องขี้ๆ ที่ไม่ธรรมดา

ในยุโรปยุคกลาง มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าการจัดการกับสิ่งปฏิกูลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก่อเกิดผลที่ตามมาร้ายแรง โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้คนในยุคนั้นไม่รู้ว่าสาเหตุที่พวกเขาเจ็บป่วยมาจากอะไร เพราะคิดเพียงแต่ว่าเทพเจ้ากำลังลงโทษ โดยลืมไปว่าต่างเดินเท้าเปล่า หรือกินดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน ซึ่งต้นน้ำ หรือคุ้งน้ำก่อนจะมาถึงพวกเขา อาจมีคนทิ้งของเสียลงไปมากมายแล้ว (ลองนึกภาพแม่น้ำคงคาในอินเดีย) เพราะฉะนั้นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จึงมาพร้อมกับน้ำ หรืออาจจะเป็นแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ในดิน หรืออาจมากับแมลงที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งชอบกินสิ่งปฏิกูล อาทิ ฝีดาษ อหิวาตกโรค โปลิโอ ไทฟอยด์ โรคบิด โรคอี.โคไล เป็นต้น

โรคร้ายเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เช่น เหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในลอนดอนราวทศวรรษ 1960 เป็นกาฬโรคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ คร่าชีวิตชาวลอนดอนไปราว 100,000 คน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สาเหตุของโรคนั้นมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหมัดเป็นพาหะนำโรค อาจเป็นเพราะในยุคนั้นจำนวนพลเมืองในลอนดอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนหลายล้านคนแออัดยัดเยียดอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่เพียง 76 ตารางไมล์ ผลก็คือพวกเขาขาดการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ แม้จะมีการนำสิ่งปฏิกูลใส่รถเข็นออกไปทิ้งนอกเมืองเป็นครั้งคราว แต่พวกเขากลับนำไปเททิ้งไว้ใกล้แหล่งน้ำ หรือนำไปเป็นปุ๋ยในฟาร์มรอบเมือง ที่ส่งผลผลิตเข้ามาหล่อเลี้ยงชาวลอนดอน ว่ากันว่าหากเราไปเดินบนถนนลอนดอนในช่วง 200-300 ปี ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่ต้องนำติดตัวไปด้วยก็คือ ไม้หนีบผ้า หรือไม่ก็ผ้าเช็ดหน้า เพื่อกันกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจที่คละคลุ้งไปทั่วเมือง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบันทึกไว้ว่าคนสำคัญมากมายในประวัติศาสตร์ ที่กินอยู่อย่างสุขสบาย และมีการขับถ่ายที่ถูกสุขลักษณะ ต่างก็เคยทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้เช่นกัน อาทิ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ (Alexander Dumas) เป็นอหิวาตกโรค เจงกิส ข่าน (Genghis Khan), ดังเต้ (Dante) โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) อับราฮัม ลิงคอล์น ( Abraham Lincoln) ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt) เป็นมาลาเรีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางเจ้าวิคตอเรีย (Prince Albert) ฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) เป็นไทฟอยด์ ไม่เพียงเท่านั้น ของเสียเหล่านี้ยังทำให้ผู้คนในอดีตติดแอลกอฮอล์ อายุสั้น เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ก่อกบฏ หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรยิ่งใหญ่ในอดีต เช่น เอเธนส์ โรม จักรวรรดิออตโตมัน

แม้ว่าสิ่งปฏิกูลเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในสาเหตุของหายนะ แต่ก็นับว่าเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว เพราะบางครั้งโรคภัยไข้เจ็บจากสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ สามารถคร่าชีวิตคนทั้งเมือง ทหารทั้งกองทัพ หรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหาร มากกว่าคมหอกคมดาบ หรือภัยธรรมชาติ อย่างน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ได้หลายเท่าตัว นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอึ

เรารู้เรื่องราวของคนโบราณที่มีอายุย้อนหลังไปเกินกว่า 6,000 ปีที่แล้ว หรือที่เรียกว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้คนยังไม่รู้หนังสือ อาศัยอยู่ตามถ้ำ รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร ก็เพราะว่ามีการศึกษาอึโบราณ ต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ที่เรียกกันว่าพาเอโอสโตโลจิสท์ หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องอึโบราณ นักวิทยาศาสตร์สาขานี้ต้องศึกษาอึมนุษย์โบราณที่กลายเป็นฟอสซิล เพื่อเรียนรู้ว่าคนเหล่านั้นกินอะไร และเป็นโรคอะไร แล้วเก็บข้อมูลไว้เพื่อให้นักประวัติศาสตร์นำไปต่อยอดอีกที

อึช่วยชีวิต

ในปี ค.ศ. 1618 มีเรื่องชวนขบขันและน่าทึ่งอย่างหนึ่ง ทว่ากลับไม่ได้รับการจดจำและเลือนหายไปตามกาลเวลา ในปีนั้นกลุ่มชาวโบฮีเมียโปรเตสแตนต์หัวรุนแรง ซึ่งไม่พอใจองค์จักรพรรดิและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เดินขบวนตามท้องถนนในกรุงปรากไปยังปราสาทปราก เพื่อจัดการกับพระคาทอลิกซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ พวกเขาบุกเข้าไปถึงห้องที่บาทหลวง 4 รูปและข้ารับใช้อยู่ในนั้น บาทหลวง 2 รูปหนีไปได้ บาทหลวงที่เหลือและข้ารับใช้จึงถูกจับโยนออกมาทางหน้าต่างหอคอยที่สูง 50 ฟุต เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ การโยนบกที่กรุงปรากครั้งที่ 2 (Second Defenestration of Prague) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามสามสิบปี (Thirty Years War) ระหว่างกลุ่มชาวบ้านหัวรุนแรงและจักรวรรดิ ทำให้ผู้คนล้มตายไปมากมาย

หลังสงครามสิ้นสุด นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้เพียงว่า จุดเริ่มต้นของสงครามคือการโยนบกบาทหลวง แต่พวกเขาลืมไปว่า ที่จริงแล้วบาทหลวง 2 รูปและข้ารับใช้ที่ถูกโยนลงมา ไม่ได้เสียชีวิตแต่อย่างใด พวกเขาตกลงมาบนกองอึขนาดมหึมาที่อยู่ใต้หน้าต่างของหอคอยหลังนั้น และลองจินตนาการดูว่า การตกลงมาจากที่สูง 50 ฟุตแล้วรอดชีวิตได้ กองอึที่รองรับร่างพวกเขามันจะสูงสักเพียงใด

ไวน์กับชาวกรีก

ชาวกรีกเชื่อว่าการดื่มน้ำตามแม่น้ำลำคลองที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าเลือกได้พวกเขาจะดื่มน้ำฝนที่เก็บไว้ในแท็งก์น้ำ นอกจากนี้ชาวกรีกนิยมดื่มไวน์เป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่า ถ้ามีไวน์ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย จะทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่พวกเขากลับลืมใช้ไวน์ล้างแผล เพราะการใช้น้ำเปล่าที่สกปรกล้างแผล เป็นการเพิ่มเชื้อโรคเข้าไปในบาดแผลมากยิ่งขึ้น

การขับถ่ายใครว่าไม่สำคัญ

ปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่สุภาพที่คนอายุเกิน 10 ปีจะพูดเรื่องอึ หรือการขับถ่ายในที่ชุมชน ทว่าเมื่อหลายพันปีก่อน เรื่องนี้เป็นกิจกรรมสาธารณะ ทุกคนจะทำธุระส่วนตัวกันในที่เปิดเผย ไม่ได้มีห้องหับมิดชิดเหมือนเช่นราชสำนักยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในกรุงโรม ผู้คนจะนั่งเคียงกันในตอนขับถ่าย คุยไปด้วยพร้อมกับทำธุระส่วนตัว (ถ้านึกภาพให้ใกล้เคียง ก็คือการเข้าไปทำธุระในห้องน้ำของจีน ที่ประตูเปิดโล่ง ให้เห็นหน้าค่าตากันชัดเจน) ผ่านมาอีกหลายร้อยปี ในบ้านเรือนที่หรูหราของผู้มีอันจะกิน จะมีกระโถนวางไว้พร้อมในห้องนั่งเล่นกันเลยทีเดียว

แม้แต่พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม ซึ่งเขียนขึ้นกว่า 2 สหัสวรรษที่ผ่านมา การจัดการกับสิ่งปฏิกูลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ในพระราชบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าส่งผ่านโมเสสให้บอกกล่าวกับชาวฮีบรู บทที่ 23 ข้อที่ 13 กล่าวว่า

และท่านต้องมีไม้เสี้ยมรวมไว้กับเครื่องอาวุธ และเมื่อท่านนั่งลงในที่ข้างนอกนั้น ท่านจงใช้ไม้ขุดหลุมไว้ และหันไปกลบสิ่งปฏิกูลของท่านเสีย

ศักดิ์สิทธิ์ แต่ใช่จะถูกสุขลักษณะ

ในปี ค.ศ. 1947 คนเลี้ยงแกะชาวเบดูอินค้นพบจารึกโบราณในถ้ำที่คูมรันใกล้กับทะเลเดดซี จารึกเหล่านี้ได้รับการเรียกขานว่าลิขิตเดดซี ซึ่งมีอายุระหว่าง 250-68 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่ากลุ่มนักบวชชาวเอสซีน (Essene) เป็นคนเขียนจารึกเหล่านี้ นักโบราณคดียังค้นพบห้องส้วมของบรรดานักบวชใกล้ๆ กับบริเวณที่เก็บจารึกด้วย และสรุปได้ว่าพฤติกรรมการขับถ่ายของพวกเขา กลับกลายเป็นแหล่งอาศัยของพยาธิมากมาย เพราะนักบวชและชนชั้นสูงชาวเอสซีนถูกห้ามไม่ให้ขับถ่ายในวันสะบาโต พวกเขาจะขุดหลุมเพื่อขับถ่ายไว้นอกเมือง หลังจากทำธุระเสร็จก็จะฝังกลบเสีย ทว่าจากการสำรวจบริเวณที่เป็นห้องส้วมเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่ามีพยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิแส้ม้า พยาธิเข็มหมุด เป็นจำนวนมาก ซึ่งอึของนักบวช กลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพยาธิที่โตวันโตคืน และรอคอยโอกาสที่จะกลับไปฝังตัวในลำไส้ของมนุษย์อีกครั้ง

ถ้าหากบรรดานักบวชขับถ่ายบนทรายแล้วปล่อยให้แสงอาทิตย์แผดเผาให้อึแห้ง เช่นเดียวกับชาวเบดูอิน เชื้อโรคและพยาธิก็จะถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว แต่นักบวชกลับกลายเป็นกลุ่มที่มีโรคภัยไข้เจ็บมากที่สุด และมีน้อยกว่าร้อยละ 6 ที่มีชีวิตยาวนานเกิน 40 ปี การจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ แห่งแรกของโลก

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า อารยธรรมของมนุษยชาติเริ่มจากการขีดเขียน ทว่าบางครั้งแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่แท้จริงอาจวัดกันที่ห้องส้วมแห่งแรกของโลกก็ได้ ชาวฮาร์ราปัน (Harrapan) ถือเป็นชนกลุ่มแรกที่มีการจัดการเรื่องสุขอนามัย พวกเขาคิดค้นท่อน้ำและระบบระบายของเสียเมื่อราว 5,000 ปีที่แล้ว

ชาวฮาร์ราปันอาศัยอยู่บริเวณเชิงเขา ในลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศปากีสถาน และครอบครองบริเวณนั้นกว่า 2,000 ปี พวกเขาสร้างเมืองฮาร์รัปปาและโมเฮนโจดาโรที่มีความสวยงาม มีระบบการวางท่อและการระบายน้ำที่ยอดเยี่ยม ตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ในขณะที่ชาวยุโรปยังอาศัยอยู่ตามถ้ำ ชาวฮาร์รัปปาสร้างบ้านเรือน ห้องอาบน้ำ ซึ่งต่อท่อน้ำทิ้งไปยังแหล่งระบายน้ำเสีย พวกเขาสามารถจัดการกับกลิ่นไม่พึงประสงค์ในเมืองได้ก่อนชาวปารีสหลายพันปี

ส่วนชาวมิโนอัน ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะครีต ใกล้กับประเทศกรีซ เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ก็มีระบบการจัดการน้ำและของเสียที่ก้าวหน้าเช่นเดียวกัน พวกเขาสร้างบ้านเรือนที่สวยงาม พระราชวังที่หรูหรา พร้อมกับใส่ระบบประปาเข้าไปด้วย

ช่างประปาชาวมิโนอันครุ่นคิดว่าจะทำให้น้ำไหลออกมาจากก๊อกได้อย่างไร แล้วพวกเขาก็เดินหน้าต่อด้วยการสร้างส้วมชักโครก ซึ่งอาศัยน้ำฝนที่เก็บเอาไว้ในถังเก็บน้ำและไหลลงมาจากหลังคา ทว่าสิ่งอำนวยความสะดวกอันหรูหรานี้มีไว้เพื่อกษัตริย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ตัวอาคารจะผุพังไปตามกาลเวลา ทว่าส้วมชักโครกนี้ยังคงใช้การได้อยู่…

เอกสารอ้างอิง

Albee, Sarah. Poop Happened : A History of the World from the Bottom Up. Walker Book, 2010.

http://www.answers.com

http://www.msnbc.msn.com/id/15689591/

http://www.wordplanet.org/ti/05/31.htm

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2562

ดูข่าวต้นฉบับ