ไลฟ์สไตล์

ค้นต้นตำรับ "แกงเหลือง" แกงส้มปักษ์ใต้ฉบับคนกรุง มาจากไหน พร้อมสูตรเด็ด

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 20 มี.ค. เวลา 08.29 น. • เผยแพร่ 20 มี.ค. เวลา 08.25 น.
แกงส้มปักษ์ใต้ หรือ “แกงเหลือง”

กับข้าวปักษ์ใต้ที่เดี๋ยวนี้แพร่หลายไปทั่วประเทศ น่าจะคือ“แกงเหลือง นะครับ มันทั้งมีรสรุนแรงจัดจ้านเป็นเอกลักษณ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นซุปเปรี้ยวเผ็ดที่มีลักษณะร่วมกับ แกงส้ม ต้มส้ม ที่ภาคอื่นๆ ก็มีกินกันด้วย จึงสามารถกินให้อร่อย เกิดความคุ้นเคยลิ้นได้ไม่ยาก สำหรับคนต่างวัฒนธรรม

ย่าผมเป็นคนจีนสุราษฎร์ธานี เคยอยู่ที่“โรงน้ำแข็งฝ่ายท่า” มาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ครั้นเมื่อพ่อมาแต่งงานลงหลักปักฐานอยู่กับแม่ที่ราชบุรี ย่าก็ถูกขอร้องให้มาช่วยเลี้ยงหลาน ซึ่งก็คือผมในช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ ทีนี้ กับข้าวแบบปักษ์ใต้ๆ ก็เลยได้ทยอยเข้ามาในบ้าน แบ่งสัดส่วนกันไปกับสำรับแบบอัมพวา สมุทรสงคราม ทางสายแม่ผมตั้งแต่นั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เท่าที่ผมรู้ คนปักษ์ใต้เรียก “แกงเหลือง ของเขาว่า“แกงส้ม” เพราะว่ารส“ส้ม” ของมันนั่นเองครับ ดังที่พวกเขาเรียกของเปรี้ยวอย่างอื่นๆ แบบนั้นเช่นกัน ไม่ว่าจะกุ้งส้ม น้ำส้ม ผัดส้ม และการเรียกโดยรสนี้ ก็เหมือนกับที่คนภาคอื่นๆ เรียกกับข้าวของตนตามด้วยคำว่าส้ม เช่น ต้มส้ม หมูส้ม ปลาส้ม แกงส้ม ฯลฯ นั่นเอง

แกงเหลือง จึงน่าจะเป็นชื่อที่มาทีหลัง ตั้งให้ใหม่โดยคนนอกวัฒนธรรมปักษ์ใต้ แต่มีอาหารสำรับของตนเองซึ่งรสชาติคล้ายคลึงอยู่ก่อนแล้ว ครั้นจะเรียกแกงรสเปรี้ยวๆ เผ็ดๆ หอมกะปิแรงๆ น้ำสีเหลืองอ๋อยนี้ว่าแกงส้ม ก็ไม่ได้อีก เพราะมันต่างจากแกงส้มแบบภาคกลางเกินไป เป็นต้นว่า ไม่ใส่รากกระชาย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหอมแดงมากนัก(บางสูตรไม่ใส่เลยก็มี) แถมไม่สนใจพริกแห้งเม็ดใหญ่ แล้วก็แทบไม่โขลกเนื้อปลาต้มสุกลงไปกับพริกแกงเพื่อให้น้ำแกงข้นเหมือนที่แม่ครัวภาคกลางชอบทำกัน

กลิ่นและรสของ“แกงเหลือง” นั้นย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่นะครับ เท่าที่ผมเคยสังเกตมาบ้าง แกงนครศรีธรรมราชรสเผ็ดจัด น้ำค่อนข้างข้น ส่วนแกงพัทลุงแถบอำเภอควนขนุน ถึงแม้พริกแกงจะร้อนแรงและสีสวยจากพริกชีสดสุกปลั่งสีส้มจัด แต่เวลาแกง ดูเหมือนเขาใส่พริกแกงในสัดส่วนที่น้อยกว่า ทำให้แม้น้ำแกงจะเผ็ด แต่ค่อนข้างใส กินราดข้าวเล็บนกหุงร่วนเป็นตัว ตักน้ำแกงชุ่มๆ ท่วมเม็ดข้าว อย่างไรก็ดี ความที่แกงส้มปักษ์ใต้หรือแกงเหลืองนี้เน้นใช้พริกสด จึงทำให้มีรสเผ็ดสดชื่น ออกจะโปร่งๆ ต่างจากแกงพริกแห้งที่นิยมในภาคกลาง ซึ่งรสเผ็ดจะลึกไปอีกแบบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การแพร่หลายของแกงส้มปักษ์ใต้ขึ้นมายังแถบภาคกลาง โดยเฉพาะเขตเมืองหลวงแต่เดิมนั้น นอกจากจะกระจายตัวผ่านครัวชาวบ้านแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกรุงเทพฯ และหัวเมืองปักษ์ใต้ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลางด้วย ดังที่ ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ เคยเขียนไว้ในหนังสือตำรากับข้าวในวัง ของท่านว่า แกงเหลืองนั้นต้นตำรับมาจากใต้ คนที่มาสอนพวกในวังให้แกงเป็น คือคุณย่าเขียนเป็นเมียเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยสูตรน้ำพริกแกงของ ม.ล. เนื่องจะใส่เครื่องหลายอย่าง ตั้งแต่พริกขี้หนูสด พริกขี้หนูแห้ง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม เกลือ ขมิ้นชันสด กะปิดี และเนื้อปลากุเราเค็ม ตำให้ละเอียดเข้ากัน และต้องบีบมะนาวแต่งรสเปรี้ยวแหลมในช่วงท้ายด้วย

ม.ร.ว. เตื้อง สนิทวงศ์ ได้เขียนบันทึกสูตรเครื่องปรุงแกงส้มเท่าที่ท่านสืบค้นได้ในเวลานั้นไว้ในหนังสือตำรับสายเยาวภาของสายปัญญาสมาคม(พ.ศ. ๒๔๗๘) มีสูตรแกงส้มอย่างที่(ของชาวปักษ์ใต้)” ใช้พริกสด(จะเป็นพริกมูลหนูหรือพริกชี้ฟ้าก็ได้) ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม ขมิ้นทองสด โดยบอกในตอนท้ายว่าความเปรี้ยวมักจะใช้ใบมะดันเพสลาด(จวนแก่) ถ้าใช้ใบอ่อนมักขื่นยางและไม่เปรี้ยวด้วย

ส่วนสูตรแกงเหลืองในตำรับอาหารวิทยาลัยในวัง(พ.ศ. ๒๕๓๖) มีเครื่องพริกแกงเกือบเหมือนสูตร ม.ล. เนื่อง แต่ไม่ใส่ปลาเค็ม และเพิ่มพริกไทยเม็ดราวครึ่งช้อนชาต่อหนึ่งครกขนาดย่อม มีการบีบมะนาวแต่งรสเช่นเดียวกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลายคนมักคิดว่า อาหารที่เข้าขมิ้นชันมากจนออกสีเหลือง เป็นอิทธิพลวัฒนธรรมอาหารปักษ์ใต้เท่านั้น ซึ่งก็คงเป็นความคิดของคนภาคอื่น(โดยเฉพาะภาคกลาง) อีกเช่นกัน เพราะที่จริงสำรับกับข้าวที่ใช้ขมิ้นเป็นเครื่องปรุงยังมีอีกมาก อย่างเช่น แกงเผือกมันของคนลัวะแถบเชียงราย หรือแกงตูนของคนเชียงใหม่นั้น ถ้าลงว่าเห็นเพียงแวบๆ ในหม้อ ก็ต้องคิดว่าเป็นแกงเหลืองแน่ๆ เลย

หัวใจของแกงเหลืองคือขมิ้นซึ่งนอกจากให้สีเหลืองสวยกลิ่นหอมดับคาวเนื้อสัตว์ได้ดีแล้วก็มีสรรพคุณช่วยขับลมและรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างดีเยี่ยมตัวผมเองซึ่งหายจากอาการปวดท้องกระเพาะเพราะกินขมิ้นชันแค็ปซูลก็จึงปรุงแกงเหลืองกินเป็นประจำสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้แกงเหลืองสูตรของผมใช้เครื่องแกงปกติทั่วไปหากไม่ซื้อหามาผสมกะปิเพิ่มเข้าไปเองก็ตำเกลือกระเทียมพริกขี้หนูสดขมิ้นชันสดและกะปิปักษ์ใต้เข้าด้วยกันจนละเอียดจะแกงกับกุ้งปลาหรือเนื้อวัวก็ได้

ย่าผมชอบแกงเหลืองเนื้อวัวใส่ยอดชะอมมาก จำได้ว่า พอเห็นชะอมเมื่อไหร่เป็นต้องรำพึงทุกครั้งว่าอย่างนี้มันต้องแกงกับเนื้อนะถึงจะอร่อย

แกงเหลืองนั้นเป็นแกงเปรี้ยว จึงมักเป็นหม้อทดลองของคนที่ชอบทำ ชอบกินอะไรแปลกๆ ได้ดี อย่างเช่นผมลองแกงเหลืองกุ้งหม้อนี้โดยใช้รสเปรี้ยวของ“ส้มโก่ย” เป็นองุ่นป่าพันธุ์หนึ่งซึ่งขึ้นได้ดีในเขตป่าชุ่มชื้น โดยเฉพาะแถบภาคตะวันออก ส้มโก่ยมีรสเปรี้ยวจัด ยางที่เปลือกผลของมันกัดลิ้นนิดๆ ถ้ากินดิบๆ

แต่หากสุกในหม้อแกงแล้วก็ไม่มีปัญหานี้ เราต้องแคะเมล็ดของมันออกก่อนนะครับ รสเปรี้ยวของส้มโก่ยจะเปรี้ยวหอมลึกๆ ไม่ใช่เปรี้ยวโฉ่งฉ่างอย่างมะนาว

วันไหนได้ผลไม้เปรี้ยวๆเช่นมะปริงมะพูดมะดันตะลิงปลิงส้มแขกชะมวงมะมุดฯลฯมาลองแกงเหลืองกินดูสักหม้อสิครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ค้นต้นตำรับ “แกงเหลือง” แกงส้มปักษ์ใต้ฉบับคนกรุง มาจากไหน พร้อมสูตรเด็ด

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ