ไลฟ์สไตล์

ขอโทษ-ขออภัย-ขอบใจ-ขอบคุณ ... ความเหมือนที่แตกต่าง และวิธีการใช้

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • pp.p
Photo by Marco Bianchetti | unsplash.com

สัปดาห์นี้จะมาว่ากันด้วยเรื่องของคำ 4 คำที่ถูกใช้สลับสับสนไปมา มีความหมายที่ดูคล้าย แต่กลับใช้ในโอกาสที่ต่างกัน อันที่จริงแล้วภาษาไทยมีเสน่ห์ที่ความซับซ้อนและมีการลำดับชั้นของภาษาที่มีความหมาย เมื่อใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับกาละเทศะก็จะเสริมความมีเสน่ห์น่ารัก เจรจากับผู้ใหญ่ก็ได้รับความเมตตา หรือจะคุยกับใครก็ได้รับความเกรงใจ… ทั้ง 4 คำที่กำลังจะกล่าวถึงก็คือคำว่า ขอโทษ-ขออภัย และคำว่า ขอบใจ-ขอบคุณ

Photo by Brett Jordan | unsplash.com
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขอโทษ - ขออภัย

ทั้งสองคำนี้ดูเผินๆ มีความหมายคล้ายกัน และจะถูกนำมาใช้เมื่อผู้พูดได้กระทำความผิดและต้องการแสดงความเสียใจในการกระทำนั้นๆ ทว่าสองคำนี้มีใช้ในโอกาสที่ต่างกัน 

“ขอโทษ” จะถูกใช้เมื่อผู้พูดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ซึ่งความร้ายแรงที่เกิดขึ้นนั้นมีความร้ายแรงพอสมควร และสมควรต้องได้รับการลงโทษ อาทิเช่นถอยรถไม่ระวัง ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามก็สมควรได้รับโทษจากากระทำนั้น และควรใช้คำว่า “ขอโทษ” ในการนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนคำว่า “ขออภัย” จะถูกใช้ในกรณีความผิดที่เบาบางกว่า กล่าวคือไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้อื่นใด เช่นการทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ไม่สะดวก เช่นการต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง หรือการเข้าประชุมสาย ลักษณะความผิดเช่นนี้จึงใช้คำว่า “ขออภัย” 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีอีกส่วนที่ถูกนำมาตัดสินว่าจะใช้คำไหนก็คือเรื่องของความจงใจที่จะให้เกิดความผิดนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นการจัดงานเลี้ยงเสียงดังสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น จริงอยู่ว่าเสียงที่ดังไม่น่าสร้างความเสียหายให้กับร่างกายหรือทรัพย์สิน แต่เป็นการการะทำที่เกิดจากการจงใจ แม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าจะสร้างมลพิษทางเสียงให้กับผู้อื่น ดังนั้นหากถูกตักเตือนในส่วนนี้ก็ควรใช้คำว่า “ขอโทษ”

ขอบใจ - ขอบคุณ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อมีผู้อื่นมอบสิ่งของหรือกระทำอันใดให้เป็นที่พึงพอใจ หรือให้ความช่วยเหลือ เราจะใช้คำเหล่านี้เพื่อแสดงความซาบซึ้งหรือสำนึกในบุญคุณจากผู้นั้น โดยคำว่า “ขอบใจ” จะใช้เมื่อผู้พูดมีอาวุโสมากกว่าผู้ให้ กล่าวคือผู้ใหญ่จะพูด ขอบใจ กับเด็ก เป็นการพูดเพื่อขอบใจในน้ำใจที่มีให้แก่กัน 

ส่วนคำว่า “ขอบคุณ” นั้นปัจจุบันเป็นคำที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด เพราะเป็นคำสุภาพกลางๆ ทั่วไป แต่ในโอกาสเหมาะสมที่แท้จริงแล้ว คำนี้ ผู้พูดจะมีอาวุโสน้อยกว่าผู้ให้ กล่าวคือเด็กจะต้องใช้คำว่า ขอบคุณ กับผู้ใหญ่ และเป็นที่เข้าใจว่าเด็กจะไม่พูดขอบใจผู้ใหญ่เป็นอันขาดเพราะจะกลายเป็นใช้คำผิดกาลเทศะไปทันที

และยังมีอีกคำหนึ่งที่ยกระดับขึ้นไปอีกนั่นก็คือคำว่า “ขอบพระคุณ” จะใช้เมื่อต้องการแสดงความซาบซึ้ง/สำนึกในบุญคุณจากสิ่งที่ผู้มีอาวุโสกว่ามอบให้ โดยผู้อาวุโสนั้นจะเป็นที่เคารพมากๆ ด้วยความมีคุณวุฒิ วัยวุฒิสูงกว่า ภาษาไทยที่ถูกต้องจะไม่ใช้คำว่า ขอบพระคุณ กับคนที่เด็กกว่าเช่นกัน 

ในที่นี้อย่าได้มองว่าภาษาสร้างกำแพงชนชั้นในการใช้ เพราะหากผู้ฟังมีใจที่กว้างพอก็มองที่เจตนาของผู้พูดมากกว่าจะมองที่ชนชั้นฐานะของภาษา และในทางกลับกัน เมื่อผู้พูดสามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องนอกจากจะสะท้อนถึงความนอบน้อมถ่อมตน และยังได้รับความเอ็นดูจากผู้อาวุโสอีกด้วย มาใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องกันเถอะ

ข้อมูลจาก keangun.com , FB:Rakphasathai 

ความเห็น 9
  • แท็กซี่นครศรีฯเคี่ยม
    คำพูดที่ถูกต้องคือ...ขอโทษ..ไม่เป็นไร..ขอบใจ..ขอบคุณ..น่าเป็นคำนี้มากกว่านะครับ
    27 ธ.ค. 2563 เวลา 21.21 น.
  • sawitree
    ถ้าไม่ผิดอย่าหวังว่าจะขอโทด ไม่ว่าใครหน้าไหน
    23 ธ.ค. 2563 เวลา 13.55 น.
  • .
    ขอบใจมากนะ เพราะเราอาวุโสกว่าเธอแน่ๆ
    23 ธ.ค. 2563 เวลา 00.24 น.
  • จากวัน..ที่เหลืออยู่
    เกงมาก กล้ามาก ใช้กับอะไรคับ
    22 ธ.ค. 2563 เวลา 04.43 น.
  • คิดมากไปได้ ถ้าทุกๆคำนั้นออกมาด้วยความจริงใจ มันก็ไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไรเลย.
    20 ธ.ค. 2563 เวลา 06.48 น.
ดูทั้งหมด